เมืองร้อยเอ็ด ต้องชำระประวัติศาสตร์ เป็นอุบายกลบเกลื่อนปกปิดข้อผิดพลาด

หยุดผลิตซ้ำความเท็จ “เมืองร้อยเอ็ด ไม่ใช่เมือง 11 ประตู” เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำทันที เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่หน่วยงานทางการจังหวัดร้อยเอ็ดสมัครใจร่วมกันทำขึ้นเองเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยไม่มีใครบังคับให้ทำความเท็จนั้น

“สิบเอ็ดประตูเมืองงาม” ในคำขวัญจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นสิ่ง “เพิ่งสร้าง” หรือถูกสร้างใหม่ แล้วเผยแพร่สู่สาธารณะโดยหน่วยงานทางการทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นของจังหวัดร้อยเอ็ด เกือบ 30 ปีมาแล้ว จากนั้นควบคุมให้ครูใช้หล่อหลอมกล่อมเกลานักเรียนในจังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยข้อความเป็นเท็จว่าร้อยเอ็ดเป็นเมืองมี “สิบเอ็ดประตู” จนทุกวันนี้ยังไม่เลิกผลิตซ้ำความเท็จด้วยการให้นักเรียนท่องจำ

ผู้บริหารหน่วยงานทางการจังหวัดร้อยเอ็ดต้องยอมรับความจริงตามหลักฐานวิชาการ แล้วแก้ไขความผิดพลาดอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา การอ้างว่าต้องชำระประวัติศาสตร์ร้อยเอ็ดเสียก่อนนั้นเป็นอุบายกลบเกลื่อนปกปิดซ่อนเร้นความผิดพลาดที่ตนและเครือข่ายเป็นผู้ก่อขึ้น เพราะในความจริงเคยชำระประวัติศาสตร์ร้อยเอ็ดเป็นสิบปีมาแล้ว ซึ่งรู้กันทั่วไปในร้อยเอ็ด ดังนี้

  1. เมืองร้อยเอ็ด ไม่ใช่เมือง “11” ประตู และประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ดได้มี

การชำระสะสางโดยทางการจังหวัดร้อยเอ็ดร่วมกับกรมศิลปากรและเป็นที่รับรู้ทั่วกันในหมู่หน่วยงานทางการจังหวัดร้อยเอ็ดไปนานแล้ว (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร้อยเอ็ด กรมศิลปากร กระทรงวัฒนธรรม เคยจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวเรื่องประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด) มีเอกสารยืนยันเป็นเล่มตั้งแต่ พ.ศ. 2554-2555

Advertisement
  1. เมืองร้อยเอ็ด กรณีชื่อเมืองและการชำระประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งหนังสือ พิมพ์ท้องถิ่นร้อยเอ็ดบันทึกไว้เมื่อ 11 ปีที่แล้วจะสรุปทบทวน ดังนี้

           พ.ศ.2538-2542 เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ได้มีนโยบายที่จะ “ฟูมฟักตำนานเมือง” เพื่อพื้นฟูประวัติศาสตร์วัฒนธรรมให้เป็นความภาคภูมิใจแก่ท้องถิ่น จึงได้มีการเผยแพร่ข้อมูลประวัติเมืองร้อยเอ็ด คือ เมืองสิบเอ็ดประตูอย่างต่อเนื่องหลายปี และถ่ายทอดเรื่องราวของสิบเอ็ดหัวเมือง สิบเอ็ดประตู ด้วยการจัดขบวนแห่ในงานสมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป

           พ.ศ.2547 ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งการบริหารจังหวัดอย่างบูรณาการ (CEO) นายนพพร จันทรถง ผวจ.ร้อยเอ็ดสมัยนั้น มีนโยบายที่จะให้ สิ่งดีๆที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด ได้อยู่ในคำขวัญจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการปรับปรุงคำขวัญจังหวัด โดยให้ สนง.วัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเจ้าภาพ และผลก็คือ “สิบเอ็ดประตูเมืองงาม” ก็ได้ปรากฏอยู่ในวรรคแรกของคำขวัญจังหวัด ด้วยความดื้นด้านและงี่เง่าของกรรมการพิจารณาคำขวัญจังหวัดฯ บางท่านที่ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของเมืองร้อยเอ็ด

           พ.ศ.2552 จังหวัดร้อยเอ็ดได้มีการจัดสัมมนาประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านมาบรรยาย ซึ่งทุกคนในห้องประชุมในงานวันนั้นก็รับทราบดีว่าร้อยเอ็ด มิใช่ 11 และได้มีการเดินหน้าสะสางความถูกต้องของเรื่องนี้

Advertisement

           จนถึงต้นปี 54 ก็ได้มีการตั้งกรรมการชำระประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด และมีความเห็นร่วมกันให้แก้ไขคำขวัญจังหวัดร้อยเอ็ด

       แต่ ท่าน ผวจ.สมศักดิ์ ขำทวีพรหม ได้ให้ความเห็นในที่ประชุมว่า ยังไม่ต้องแก้ไขคำขวัญจังหวัด บางครั้งความผิดพลาดมันคือความเท่ห์ มันคือเสน่ห์ โดยละเลย มองข้ามปัญหาทางการศึกษาของเยาวชน

       [คัดจากหนังสือ พิราบข่าว สื่อสร้างสรรค์เพื่อคนร้อยเอ็ด (นายสุวัฒน์ ลีขจร เจ้าของและบรรณาธิการ) ปีที่ 9 เดือนมีนาคม 2555 หน้า 6]

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด หนุนตั้งเวทีถกปม 11 ประตู ชง อบจ.ตั้งโครงการ เผยอธิบดีกรมศิลป์จ่อลงพื้นที่

หยุด! ผลิตซ้ำความเท็จ เมืองร้อยเอ็ด ไม่ใช่เมือง “11” ประตู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image