นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด หนุนตั้งเวทีถกปม 11 ประตู ชง อบจ.ตั้งโครงการ เผยอธิบดีกรมศิลป์จ่อลงพื้นที่

ซ้าย-ภาพจาก เฟซบุ๊ก 'หอโหวดร้อยเอ็ด'

สืบเนื่องกรณีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญ รสจันทร์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เผยแพร่แถลงการณ์ เรียกร้องให้หน่วยงานราชการยุติการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดร้อยเอ็ด กรณี เมืองสิบเอ็ดประตู’ ซึ่งถูกหักล้างไปนานกว่า 10 ปีด้วยข้อมูลของนักภาษาโบราณ กรมศิลปากร แต่กลับยังคงมีการใช้ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน (อ่านข่าว อ.ราชภัฏร้อยเอ็ด จี้หน่วยงานรัฐเลิกยัดเยียด-ผลิตซ้้ำ ‘เมืองสิบเอ็ดประตู’ ใช้ภาษีเผยแพร่ข้อมูลไร้หลักฐานรองรับ)

ต่อมา ดร. สาธิต กฤตลักษณ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ย้อนเล่าถุึงความเชื่อของ 2 ฝ่ายที่มีการโต้แย้งกันว่า ฝ่ายที่มีความเชื่อว่าร้อยเอ็ดน่าจะมี 101 ประตู อ้างว่าศึกษาจากคำจารึก และเอกสารใบลานดั้งเดิมของพระครูโพนเสม็ดหรือยาคูขี้หอม โดยเรียกร้องให้แก้ไขคำขวัญจังหวัดที่ไม่ถูกต้อง

ในขณะที่อีกฝ่ายที่เชื่อว่าร้อยเอ็ด มี 11 ประตู อ้างว่าพิจารณาจากแผนที่เมืองร้อยเอ็ดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ มีแผนที่เส้นทางออกจากใจกลางเมืองร้อยเอ็ด 11 เส้นทางอย่างชัดเจน รวมถึงอ้างเอกสารโบราณที่ว่า ปรากฏการเขียนชื่อเมืองร้อยเอ็ดเป็นตัวเลข 101 ซึ่งอ้างกันว่า ในอักขรวิธีโบราณ ต้องอ่านเป็น สิบเอ็ด ไม่ใช่ ร้อยเอ็ด (อ่านข่าว ปธ.สภาวัฒนธรรมร้อยเอ็ดเบรกวิวาทะ ย้อนที่มาคำขวัญจว. ชี้ บ้านเมืองไม่อาเพศ 101 หรือ 11 ประตูก็ไม่สำคัญ)

กระทั่ง นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่เคยพบเอกสารดังที่กล่าวอ้างต่อๆกันมา หากใครมี ขอให้นำมาแสดงเพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อไป (อ่านข่าว สุจิตต์ ทวง เอกสารทิพย์ ปม ‘ร้อยเอ็ด-สิบเอ็ดประตู’ เถียงกันมา 30 ปี ถ้ามีขอดูหน่อย)

Advertisement

เมื่อวันที่ 1 เมษายน นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ต่อกรณีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่มีผู้ให้ความสนใจต่อประวัติศาสตร์ร้อยเอ็ด ตนจึงได้พูดคุยด้วยวาจากับมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดว่าควรมีการศึกษาค้นคว้า และนำข้อมูลต่างๆจากนักวิชาการ หรือเอกสารหลักฐานมาร่วมพิจารณากันว่าเป็นอย่างไร เพราะหลายคนก็อยากทราบว่าชื่อจังหวัดร้อยเอ็ดมีที่มาอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน สำหรับการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คงต้องร่วมกันทุกฝ่าย รวมถึงกรมศิลปากร คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) ร้อยเอ็ด และผู้ทรงคุณวุฒิของจังหวัด

เมื่อสอบถามว่าได้มีการประสานไปยัง พช. ร้อยเอ็ดแล้วหรือไม่ นายบรรจง กล่าวว่า ‘ยัง เพราะยังไม่มีต้นเรื่อง’ ขณะนี้เป็นเพียงแนวคิดว่าควรมีการศึกษาค้นคว้า และเปิดประเด็น โดยเบื้องต้น ได้ประสานด้วยวาจากับนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งน่าจะมีข้อมูลเชิงลึกด้านโบราณคดี โดยจะเดินทางมาเยี่ยมชมคูเมืองร้อยเอ็ดในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้

“ผมคุยกับท่านว่า ตอนนี้มีประเด็นนี้ อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศบอกว่าคำขวัญ 11 ประตูไม่ถูกต้อง การดำเนินการ กำลังคุยกันอยู่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ถ้าถูกต้องเหมาะสมอย่างไร จังหวัดน่าจะมีความพร้อม ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ท่านก็อยากให้จังหวัดร้อยเอ็ดมีคำขวัญที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะเป็นเมืองเก่า ร้อยเอ็ดเป็นเมืองใหญ่ มีความเจริญมาก่อน มีเมืองบริวาร 101 เมือง มีประตูเข้าเมืองเยอะ  101 ประตู มีการขุดคลองคูเมืองสมัยทวารวดี เมืองร่วมสมัยเหล่านี้เราจัดงานประเพณีลอยกระทง มีการจำลองเมืองอดีตเข้ามาร่วมลอยในเมืองสาเกตนคร ซึ่งมีเมืองร่วมสมัย 11 เมืองจากหัวเมืองฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ฝ่ายตะวันออกฝ่ายตะวันตก นี่คือส่วนหนึ่งของความเป็นมาของงาน” นายบรรจงกล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการร้อยเอ็ดในประเด็นดังกล่าวด้วยหรือไม่ นายบรรจงตอบว่า ยังไม่ได้พูดคุย เพียงแต่ขณะนี้เป็นประเด็นที่อาจารย์มรภ.ร้อยเอ็ดออกแถลงการณ์ตามที่ปรากฏในสื่อ ประเด็นนี้เคยมีการพูดถึงมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จึงคิดว่าน่าจะมีการร่วมกันกับทางจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และรวมถึงกรมศิลปากร อีกทั้งผู้ที่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ท่านรับเป็นนายกสภามรภ.ร้อยเอ็ด น่าจะได้ช่วยกันมากขึ้น

เมื่อสอบถามถึงแผนงานในการติดต่อประสานงานเพื่อดำเนินการต่อไป นายบรรจงกล่าวว่า คงต้องมีการพูดคุยกันในเวทีจังหวัด

“ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นเลย มีเพียงการพูดคุยกันว่าเกิดประเด็นนี้ ผมเป็นนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เรื่องนี้ควรเป็นภาพใหญ่ของจังหวัด ต้องอาศัยทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวร้อยเอ็ดก็อยากให้มันชัดเจน ซึ่งจะเกิดประโยชน์มาก น่าจะให้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดตั้งแผนงาน โครงการ จัดทำงบประมาณขึ้นมาเพื่อเปิดเวทีเสวนาเชิญผู้รู้จากหลากหลายมาตั้งคณะทำงานศึกษาค้นคว้า ผมคิดว่ามันต้องใช้เวลาและข้อมูล คงต้องประชุมกันหลายรอบ ต้องทำเป็นโครงการไม่ใช่แค่คุยกันแล้วจบ มันจะไม่ต่อเนื่อง เรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจและสำคัญมาก” นายบรรจงกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image