อ.ธรรมศาสตร์เปิดผลขุดค้น ‘อโยธยา’ ก่อนตั้งกรุงศรีฯ แนะชั่งน้ำหนักปมรถไฟความเร็งสูง ความเจริญต้องคู่อนุรักษ์

อ.ธรรมศาสตร์เปิดผลขุดค้น ‘อโยธยา’ ก่อนตั้งกรุงศรีฯ แนะชั่งน้ำหนัก ปมรถไฟความเร็งสูง ชี้ความเจริญต้องคู่อนุรักษ์ ห่วงทำลายทุนวัฒนธรรม

สืบเนื่องกรณีโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย โดยในส่วนของสถานีอยุธยามีระยะห่างจากขอบเขตแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1.5 กิโลเมตร (อ่าน หลากความเห็น ‘หนุน-ไม่หนุน’ รถไฟความเร็วสูง กลางมรดกโลก ‘อยุธยา’)

เมื่อวันที่ 15 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เผยแพร่ภาพชั้นดินจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดพนัญเชิง พระนครศรีอยุธยา โดยระบุถึงความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าวในช่วงก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยา หรือที่มักเรียกว่า ‘อโยธยา’ พร้อมแสงดงความเห็นในประเด็นความเจริญที่ต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์

ผศ.พิพัฒน์ ระบุว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร.คริส เบเคอร์ เขียนหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยา โดยมีข้อเสนอสำคัญว่า อโยธยาคือ “เซียน” / “เสียน” (暹) ที่ในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์หยวนบันทึกว่าส่งทูตไปบรรณาการจีนหลายครั้งนับตั้งแต่ พ.ศ.1825-1866 เซียนนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากสยาม จนกระทั่งตั้งอยุธยาแล้วก็ยังคงเรียกอาณาจักรนี้ว่า “เสียนหลอ” (暹罗) หรือก็คือ สยามกับละโว้

Advertisement

ผลจากการขุดค้นของตนที่วัดพนัญเชิงพบชั้นดินและหลักฐานสมัยก่อนอยุธยา หลักฐานที่พบเป็นเศษเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หยวนจากเตาต่างๆ ได้แก่ ผู่เถียน, หลงฉวน, และซือเจ้า อีกทั้งยังพบเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเชลียง สุโขทัย จากการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ (AMS) พบว่ามีความสอดคล้องกับพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่กล่าวว่า พระเจ้าพแนงเชิง (หลวงพ่อโต) สร้างก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี

“จากการอ่านทบทวนรายงานการขุดค้นในเขตอยุธยา-อโยธยา และข้อมูลจากสถาปัตยกรรม พื้นที่เขตอโยธยามีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นเป็นหลัก อาจมีชุมชนเล็กๆ อยู่ในเขตนี้ตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยา แต่การขุดค้นในอดีตอาจไม่ได้มีการกำหนดอายุชั้นดินอย่างชัดเจน และการขุดค้นเน้นไปที่การขุดบริเวณวัด ในอนาคตควรมีการขุดค้นในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสักเพิ่มขึ้น เพราะชุมชนคงตั้งบ้านเรือนริมน้ำ ในขณะที่พื้นที่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ต่อมาจากป่าสัก) มีความหนาแน่นของชุมชน โดยเป็นเมืองท่าโบราณที่สำคัญขึ้นตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 19

อโยธยาเป็นเสียนในเอกสารจีน แต่ไม่ใช่ตลอดช่วงสมัย เพราะเก่ากว่านั้นได้ปรากฏกองทัพสยามมาแล้วที่ภาพสลักบนปราสาทนครวัดเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ดังนั้น สยามก่อนอโยธยามีเมืองอยู่ที่อื่น อาจเป็นสุพรรณบุรี และสุโขทัย เพราะรัฐมีการเคลื่อนย้ายได้ ต้องมองด้วยมุมแบบ multiple polity ไม่ใช่ single polity แบบเดิม

Advertisement

สรุปก็คือ หากต้องการเข้าใจกำเนิดของอยุธยา ก็ต้องศึกษาและเข้าใจพื้นที่ฝั่งอโยธยาให้มากขึ้น การสร้างทางรถไฟเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญของบ้านเมืองก็จริงอยู่ แต่ความเจริญควรควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ อย่าคิดแค่ประโยชน์ระยะสั้น แล้วทำลายทุนทางวัฒนธรรมที่มี ต้องชั่งน้ำหนักให้เหมาะสม ผศ.พิพัฒน์กล่าว (อ่าน เมืองอโยธยา สุ่มเสี่ยงสาบสูญ จากรถไฟความเร็วสูง โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ)

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image