น้ำ สุดฝังใจ ‘9 ปี บิลลี่หาย’ ชาวบางกลอยไม่ได้กลับบ้าน คนต้องคดีฆาตกรรม ยังนั่งรับราชการ

‘น้ำ คีตาญชลี’ สุดฝังใจ ‘9 ปี บิลลี่หาย’ 27 ปีชาวบางกลอย ไม่ได้กลับบ้าน – คนต้องคดีฆาตกรรม ยังนั่งรับราชการ

ในวาระครบรอบ 9 ปี ที่ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย “ใจแผ่นดิน” ถูกบังคับให้สูญหายไปจากบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2557 หลังเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิที่ดินทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์

โดยในปี พ.ศ.2562 มีการพบหลักฐานชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ เหล็กเส้น และถังน้ำมัน 200 ลิตร ใกล้สะพานแขวน แลนด์มาร์กสำคัญของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก่อน DSI สืบทราบว่าชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่อยู่ในถังเป็นของ นายพอละจี หรือ บิลลี่ ซึ่งการหายตัวไปของบิลลี่ มีความพัวพันกับกรณีที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ได้เข้าไปรื้อเผาทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัว เมื่อ พ.ศ.2554 ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ ถูกต้อนมาอยู่ที่หมู่บ้านบางกลอยล่าง จนไม่สามารถใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมได้ เช่น การหาอยู่หากินกับป่า การทำไร่หมุนเวียน รวมไปถึงการลงมาหางานทำในเมือง โดยตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายต่างๆ ทั้งนักกิจกรรม นักกฎหมาย ต่างร่วมรณรงค์และจับตาคดีอย่างต่อเนื่อง นั้น

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ จ.เพชรบุรี กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น จัดกิจกรรม “9 ปี บิลลี่หาย พวกเรายังตามหา” โดย น.ส.อัญชลี อิสมันยี หรือ น้ำ คีตาญชลี หนึ่งในผู้ร่วมต่อสู้เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ บรรเลงบทเพลงเพื่อมวลชน ของจิ้นกรรมาชน พร้อมกล่าวว่า ครบ 9 ปี การสูญหายของบิลลี่ แต่เป็นปีที่ 27 ที่ชาวบางกลอยยังไม่ได้กลับบ้าน

Advertisement

“ก่อนที่บิลลี่จะหายไป ไม่เคยรู้จักหน้าตา ไม่เคยคุย ไม่เคยได้ยินเสียง แต่เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่ทำให้น้ำได้ยินเสียงของบิลลี่จริงๆ เป็นไฟล์เสียงที่บิลลี่ร้องเพลงนี้ไว้ก่อนที่จะถูกอุ้มหายไป ถือเป็นอุมดมการณ์ และปณิธานของบิลลี่ทิ้งไว้ให้ให้กับพวกเรา และพี่น้องบางกลอย”

เพลงที่เกิดขึ้น ช่วงที่พี่น้องบางกลอยลุกขึ้นมาต่อสู้ แก้วใส วงสามัญชน เขียนขึ้นมาด้วยความรู้สึกของ มึนอ (ภรรยาบิลลี่)” น.ส.อัญชลีกล่าว ก่อนขับขานเพลง “กลอยใจ”

Advertisement

น.ส.อัญชลีกล่าวอีกว่า คนที่ตอนนี้ถูกฟ้องคดีฆาตกรรม ยังทำงานในระบบราชการได้ ยิ่งสะท้อนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเราพี่น้องบางกลอย และความรุนแรงที่เกิดกับบิลลี่ ยังเป็นเรื่องของความยุติธรรมจริงๆ

“9 ปีแล้วยังฝังใจ ต้องไปศาลบ่อย ต้องใช้ความเข้มแข็ง อดทนในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมมากๆ” น.ส.อัญชลีเผย

ในขณะที่ กลุ่มเคลื่อนไหว และนักกิจกรรมทางการเมือง ต่างโพสต์ภาพ นายพอละจี หรือ บิลลี่ เพื่อย้ำเตือนถึงกรณีดังกล่าว อาทิ กลุ่มศิลปะปลดแอก โพสต์ภาพวาดกราฟิกใบหน้าบิลลี่ พร้อมเรียกร้องให้หยุดการบังคับบุคคลสูญหาย

ด้าน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า หลังจากบิลลี่หายไปเกือบ 9 ปี ปีที่ผ่านมาพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลไต่สวนนัดแรกในวันที่ 24 เมษายน 2566 โดยมี มึนอ ภรรยาของบิลลี่ และ มารดาของบิลลี่ มาให้ปากคำฐานะพยานโจทก์

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภาคี saveบางกลอย กลุ่มดินสอสี จึงร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดงานเสวนาเรื่อง “เส้นทาง ความหวัง ความยุติธรรม 9 ปี บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ยังไม่ได้กลับบ้าน” ในวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายนนี้ เวลา 14.00 – 17.00 น. โดยภายในงานจะมีการแสดงคอนเสิร์ต “จะขอเป็นนกพิราบขาว” เพื่อเป็นการรำลึกถึงบิลลี่ และเส้นทางการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม จากปู่คออี้ บิลลี่ ถึงความหวังของคนบางกลอยที่จะได้กลับบ้านเกิดใจแผ่นดิน เวลา 18.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

สำหรับชื่อคอนเสิร์ตมาจากส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง “เพื่อมวลชน” ประพันธ์โดย จิ้น กรรมาชน ซึ่งเป็นเพลงที่บิลลี่ชอบร้องให้ลูกๆ ฟัง ขณะยังมีชีวิตอยู่ โดยศิลปินที่จะมาร่วมคอนเสิร์ตครั้งนี้ ได้แก่ Stoondio วงดนตรีที่มีแฟนเพลงคนรุ่นใหม่ติดตามการแสดงและผลงานเพลงอบอุ่นมากมาย ซึ่ง Stoondio ได้นำเพลงเพื่อมวลชนมาขับร้องใหม่และจะนำมาแสดงพร้อมเพลงฮิตอื่นๆ ในช่วงบทเพลง “จากใจถึงใจ” ในคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วย

ในส่วนของดนตรีชาติพันธุ์ ชิ สุวิชาน & เจนนี่ มาพร้อมกับ Klee Bho วงดนตรีที่กำลังโด่งดังจากเชียงใหม่ นำเสียงเตหน่า หรือ พิณปกาเกอะญอ บรรเลงบทเพลงแห่งวิถีคนชนเผ่าต้นน้ำจากดอยสูงมาสู่เมือง ด้วยเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่พัฒนาให้ร่วมสมัย บทเพลงที่อิงกับคำทา หรือ สุภาษิตอันลึกซึ้งของคนปกาเกอะญอ เป็นอีกหนึ่งช่วงการแสดง “เตหน่าบรรเลง” ที่จะมอบทั้งความไพเราะ ข้อคิด และมิตรภาพจากคนต้นน้ำถึงคนเมือง

อีกช่วงของคอนเสิร์ตคือช่วงเวลาของสอง “ครอบครัวดนตรี” วงคีตาญชลี และ โฮปแฟมิลี่ สองวงดนตรีที่ประกอบขึ้นจากสมาชิกในครอบครัว สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด คีตาญชลีมาจากจังหวัดเพชรบุรีเช่นเดียวกับบิลลี่ ขณะที่โฮปแฟมิลี่เป็นคนเมืองกรุงเทพมหานครขนานแท้ ทั้งสองวงได้ร่วมเส้นทางการต่อสู้เพื่อบิลลี่ ปู่คออี้ และชาวบ้านบางกลอยผ่านบทเพลงของพวกเขา ซึ่งเต็มไปด้วยความหวังกำลังใจมอบให้ผู้คน

สำหรับการจัดงานดังกล่าว “จะขอเป็นนกพิราบขาว” รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้ชาวบ้านบางกลอยที่ต้องการกลับบ้านเกิดใจแผ่นดินและเรียกร้องวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนตามภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image