‘อดีตอธิบดีกรมศิลป์’ เบรกให้คิดใหม่ ดึงเทคโนโลยีทำ ‘รถไฟไฮสปีด’ ถึงเสียเงิน-เวลา แต่มรดกอยุธยาไม่ตาย

นายบวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ขณะร่วมประชุมผ่านโปรแกรมซูม โดยใช้ภาพโบราณสถานเขาคลังนอก เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นฉากหลัง

‘อดีตอธิบดีกรมศิลป์’ ย้ำ ชั่งน้ำหนักให้ดี แนะเอาแบบนี้ไหม? ใช้เทคโนโลยี ช่วยสร้างรถไฟไฮสปีดแนวราบ ถึงเสียเงิน-เสียเวลา แต่มรดกอยุธยาไม่ตาย

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์อยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ในการจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา)

โดยมี นายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวเปิดงาน และมีนายชวลิต ขาวเขียว อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และนายศิริวัฒน์ จิตตศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ร่วมกันนำเสนอ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เวลา 09.00 น. นายศิริวัฒน์ จิตตศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และนายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวเปิดการประชุม หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงนำเสนอผลการศึกษาโครงการเป็นลำดับถัดมา

Advertisement

ในตอนหนึ่ง นายบวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทางเลือกที่คณะโบราณคดีได้เลือกใช้ในการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งเป็นทางเลือกที่อาจส่งผลกระทบไปถึงโบราณสถานที่อาจถูกถอดถอนจากมรดกโลกในอนาคต คือการเลือกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการยอมรับผลกระทบที่อาจจะตามมา ซึ่งในประเด็นดังกล่าว นายบวรเวทเผยว่า มีวิธีที่จะสามารถอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาโดยเกิดผลกระทบให้น้อยที่สุดได้

“การทำบนพื้นที่ราบ มันจะเป็นทางเลือกที่เราสามารถไปด้วยกันได้ ระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนา” นายบวรเวทกล่าว

นายบวรเวทกล่าวต่อว่า การทำบนพื้นที่ราบเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากไม่ต้องเจาะ หรือขุดทำลาย ทั้งนี้ การทำบนพื้นที่ราบจะสามารถคงไว้ซึ่งการอนุรักษ์และการพัฒนา ทำให้ลดการสูญเสียได้มาก ส่วนในเรื่องของการระบุตำแหน่งที่ทำ ตนเสนอว่าควรที่จะออกไปยังถนนสายเอเชีย ซึ่งเป็นถนถนสายหลัก

Advertisement

ต่อมา นายบวรเวทอธิบายเพิ่มเติมว่า แต่หากใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาจุดที่เสียทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา ในประเด็นนี้ตนเล็งเห็นว่า ถ้าหากสามารถใช้เทคโนโลยีทำให้โบราณสถานคงอยู่ต่อไปได้ ก็เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำเป็นอย่างยิ่ง

“จะลงทุนแค่ไหนก็คุ้มค่า ในการที่เราจะใช้สิ่งที่เราอนุรักษ์และสงวนรักษาเอาไว้ คงไม่ใช่ให้มาเป็นประเด็น มันควรที่จะต้องควบคู่กันทั้งสองด้าน คือประเด็นของค่าใช้จ่าย หรือการเสียเวลากับสิ่งที่เราต้องสงวนรักษาไว้ เพราะฉะนั้นจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะในส่วนต่างๆ ที่เราสูญเสียไปแล้ว เราไม่สามารถเอากลับคืนมาได้”

“อยุธยาฯ ไม่ใช่แค่จังหวัด แต่เป็นนครประวัติศาสตร์” นายบวรเวทกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image