ข้องใจทำไมต้องย้าย! ‘หลวงพ่อคอหัก’ เก่าสุดในอยุธยา อยู่มา 1,000 ปี ต้องหนีรถไฟความเร็วสูง?

ชาวอยุธยาข้องใจ! ทำไมต้องย้าย ‘หลวงพ่อคอหัก’ พุทธศิลป์เก่าแก่สมัยทวารวดี นับ 1,000 ปี หลีกทางรถไฟความเร็วสูง – ผู้เชี่ยวชาญ เผย กำลังแก้ปรับแบบ มีโอกาสทั้งย้าย-ไม่ย้าย

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์อยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ในการจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา)

โดยมี นายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวเปิดงาน และมีนายชวลิต ขาวเขียว อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และนายศิริวัฒน์ จิตตศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ร่วมกันนำเสนอ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เวลา 09.00 น. นายศิริวัฒน์ จิตตศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และนายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวเปิดการประชุม หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงนำเสนอผลการศึกษาโครงการเป็นลำดับถัดมา

ADVERTISMENT

ต่อมา เวลา 11.00 น. เข้าสู่ช่วงรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วม ทั้งในที่ประชุมและช่องทางออนไลน์ โดยต่างมีผู้ประสงค์ออกความเห็นเป็นจำนวนมาก

ADVERTISMENT

ในตอนหนึ่ง นายบุญเชิด ศิริยศ นายบุญเชิด ศิริยศ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 อยุธยา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จะขอเจาะประเด็นไปในส่วนพื้นที่เล็กๆ อย่างวิหารหลวงพ่อคอหัก หรือ วิหารหลวงพ่อสุริยมุนี ซึ่งในการศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ได้กำหนดมาตรการให้ย้าย ไฮไลต์สำคัญตรงนั้น คือเป็นโบราณสถานที่เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยอโยธยา

“ทางกรมศิลปากรมายืนยันแล้วว่า เป็นพุทธศิลป์สมัยทวารวดีอายุ 1,000 กว่าปี ถือเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วถามคนโบราณเขาก็บอกว่าการบูรณะวิหาร เรายึดการวางที่ตั้ง ตำแหน่งของพระพุทธรูปเดิม จะมีพระเรียงรายรอบองค์ประธาน ก็คือหลวงพ่อสุริยมุนี แสดงว่าให้ความสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงอโยธยามาจนถึงรัตนโกสินทร์” นายบุญเชิดกล่าว

นายบุญเชิดอธิบายต่อว่า พื้นที่ตรงนั้นเป็นแลนด์มาร์กให้ชาวบ้านได้มาอาศัย ทำมาหากิน เป็นส่วนของวัฒนธรรมอย่างการเป็นพื้นที่จัดงานประเพณีสำคัญ เช่น การจัดงานสรงน้ำพระ สามารถทำพื้นที่ตรงนั้นให้เกิดมูลค่าผสมผสานกับสิ่งที่เป็นอนาคตได้

“ผมไม่ได้ปฏิเสธที่จะย้ายหรือไม่ย้าย แต่อยากฟังเหตุผลที่รับได้กับสิ่งที่เป็นโบราณสถาน และอยากถามถึงวิธีการจัดการพื้นที่ตรงนั้น จะทำอย่างไรให้เกิดมูลค่าต่อชุมชน พื้นที่ เพราะโบราณสถานบางอย่าง หรือแค่อิฐก้อนเดียวก็สามารถทำให้เกิดมูลค่า ทำให้ชาวบ้านทำมาหากินได้ กลายเป็นแลนด์มาร์กของสถานี เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้” นายบุญเชิดชี้

ด้าน นายศิริวัฒน์ จิตตศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ตอบประเด็นดังกล่าวว่า ได้ทบทวนการศึกษาเก่าจากรายงานสิ่งแวดล้อม รายงานฉบับนั้นระบุว่า หลวงพ่อคอหักต้องย้าย แต่ในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงแบบเพื่อให้สอดคล้องกับคอมเมนต์

“ในเบื้องต้นเราพยายามจะไม่ย้าย มันก็มีการปรับปรุงแบบอยู่พอสมควร ซึ่งคิดว่าในแบบชุดสุดท้าย หากการก่อสร้างตัวสถานียังคงอยู่ที่นี่ หลวงพ่อคอหักก็คงต้องย้าย” นายศิริวัฒน์กล่าว

อ่านข่าว :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image