‘นิธิ’ มองต่าง พท.แจก 1 หมื่น ไม่ใช่ประชานิยม ไม่เกี่ยววินัยการเงิน แต่กระตุ้นศก.ได้น้อย

‘นิธิ’ เขียนบทความ มองต่างแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น ไม่ใช่ประชานิยม ไม่เกี่ยววินัยการเงิน แต่กระตุ้นศก.ได้น้อย

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง คอลัมนิสต์เครือมติชน ได้เขียนบทความชื่อ “10,000 บาท” ลงในมติชนสุดสัปดาห์ เล่มล่าสุด ประจำวันที่ 21-27 เมษายน 2566 ถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล มูลค่า 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ และ ถูกวิพากษ์วิจารณ์

ความเห็นส่วนหนึ่ง ของ นิธิ จากบทความดังกล่าว รับว่า ไม่ค่อยแน่ใจว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันควรถูกกระตุ้นด้วยการเพิ่มกำลังซื้อด้วยจำนวนเงินมหาศาลอย่างฉับพลันรวดเร็วหรือไม่ เพราะไม่ได้ยินข้อเสนอ ซึ่งเป็นทางเลือกอื่นๆจากใครเลย แม้แต่จากนักเศรษฐศาสตร์ (เขาอาจเสนอแล้ว แต่ผมไม่ได้ยินเองก็ได้นะครับ) เพราะฉะนั้น ก็ต้องสมมติไว้ก่อนว่า ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย อาจทำงานได้ตามความมุ่งหวัง

แต่ไม่ว่าจะทำงานได้หรือไม่ได้ การเพิ่มกำลังซื้อในตลาดอย่างน้ำค่อยๆหยดบ้าง อย่างสาดน้ำสงกรานต์บ้าง ก็เป็นวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวที่รัฐบาลไทย รู้จัก

Advertisement

ผมไม่ใช่แฟนพรรคเพื่อไทย และไม่ใช่แฟนคุณทักษิณ จึงไม่ได้คาดหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะทำอะไรที่แตกต่างจากรัฐบาลไทยที่ผ่านๆมา เพียงแต่ทำแรงกว่า ออกลักษณะทุ่มเทจนระบบราชการไทยที่เฉื่อยชาต้องขยับตัวทำตาม และแน่นอนย่อมมีผลกระทบกว้างไกลในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่านโยบายเดียวกันของรัฐบาลไทยอื่นๆ ซึ่งมักนิยมความเหยาะแหยะ เพื่อเปิดช่องให้เกิดการต่อรองจากพันธมิตรได้สะดวก

และ ถ้าการคาดเดาของผมถูก นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจไทย หรือจะไม่กระตุ้นได้กี่มากน้อย

ส่วนหนึ่งของ 10,000 บาท คงถูกใช้ไปซื้ออาหาร ไม่ใช่เพราะประชาชนจนไม่มีอะไรจะกินนะครับ จนอย่างนั้นก็มีจริง แต่เป็นส่วนน้อยครับ แต่คงจะซื้ออาหารโปรตีนมากขึ้น ซึ่งในระยะสั้นอาจทำให้ของเหล่านั้นขึ้นราคา ไม่ถึงกับเงินเฟ้ออย่างที่นักวิชาการบางท่านว่าล่ะครับ เพราะตลาดที่ขยายตัวเพราะกำลังซื้อมีอายุเพียง 6 เดือน เดี๋ยวหมูก็ลดราคามาเท่าเดิม

Advertisement

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จะมีคนเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นเพราะเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทหรือไม่ ผมเดาว่าไม่มีกระมัง แต่อาจมีบางคนที่เพิ่มลูกปลาและลูกไก่ทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล อย่างน้อยก็เพราะมันโตทันกำลังซื้อหนึ่งแว่บของตลาด

เมื่อเป็นเช่นนี้ 1 หมื่นบาทจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนหรือ ตลาดเท่าเก่า ซ้ำยังหดตัวนิดหน่อย เพราะกำลังซื้อที่เสริมมาจบลงแล้ว ใครจะลงมุนเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตอะไรแก่ตลาดนี้ล่ะครับ

เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคอื่นๆ ที่คนสมัยนี้ต้องใช้กันในทุกครัวเรือ ผมเดาว่า คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเงินดิจิทัล 1 หมื่น คงพยายามใช้เงินให้หมดใน 6 เดือน ท้องกางไม่พอจะรับอาหาร ก็เอาไปซื้ออะไรที่เก็บได้สิครับ เช่น ผงซักฟอก น้ำปลา น้ำมันพืช ข้าวสาร มาม่า กระดาษชำระ ผ้าอนามัย ฯลฯ เงินส่วนนี้ก็จะไหลไปเข้ากระเป๋านายทุนเจ้าของโรงงานผลิตสินค้าเหล่านี้

“ผมไม่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยมีเจตนาอะไรที่กำหนดให้ใช้จ่ายในรัศมี 4 ก.ม. จากที่อยู่อาศัย หากต้องการให้ 1 หมื่นบาท ไหลเวียนอยู่ในกระเป๋าของคนใจชุมชนให้มากที่สุด (ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปอีกแนวหนึ่งที่รัฐบาลไทยไม่เคยทำ นอกจากรัฐบาลพรรค ทรท. ) ผมคิดว่า จะไม่เกิดผลตามต้องการ”

เพราะ “ชนบทของภาคเหนือตามที่ผมคุ้นเคย รัศมี 4 ก.ม. ในทุกหมู่บ้าน ย่อมรวมร้านชำซึ่งนำสินค้าเครื่องอุปโภคมาวางจำหน่ายด้วยเสมอ ผมไม่คุ้นเคยกับชนบทภาคอีสาน แต่เดาว่าไม่น่าจะต่างจากทางเหนือมากนัก ภาคกลางยิ่งแล้วใหญ่ นอกจากมีประชากรหนาแน่นแล้ว เขต “เมือง” ยังกระจายออกไปในชนบทอย่างมาก แม้แต่ภาคใต้ซึ่งนักสังคมวิทยาบอกว่าเป็นเขตเดียวที่ประชาชนตั้งภูมิลำเนาในแบบ homestead คือ แยกกันอยู่ ไม่รวมเป็นชุมชน ผมเข้าใจว่ารัศมี 4 ก.ม. ของบ้านเรือนทุกหลัง ย่อมเชื่อมต่อกับทุนนิยมในเมืองได้อย่างสะวดกผ่านร้านค้าอยู่นั่นเอง

“แล้วโรงงานผงซักฟอกจะผลิตเพิ่มขึ้นหรือไม่ คงผลิตแน่ครับ แต่อาศัยแรงงานโอทีมากกว่าจะจ้างแรงงานเพิ่ม เพราะรู้อยู่แล้วว่าตลาดขยายตัวเพียงแค่ 6 เดือน

“อย่าลืมนะครับว่า ค่าแรงประเทศไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านบนภาคพื้นทวีปทั้งหมด ฉะนั้น นายทุนหัตถอุตสาหกรรมในไทย จึงเน้นทุนมากกว่าแรงงาน พูดง่ายๆ คือลงทุนกับประสิทธิภาพของเครื่องจักรหุ่นยนต์มากกว่าแรงงาน แม้ไทยผลิตสินค้าหัตถอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่ใช้แรงงานเพียง 12% ของแรงงานไทยทั้งหมดเท่านั้น

“ถ้าใช้ 5 แสนล้านบาทด้วยวิธีนี้ จึงไม่มีผลให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น”

“แต่ต้องระวังนะครับ ผมพูดถึงนโยบายนี้ตามที่พรรคเพื่อไทยประกาศให้รู้ อาจมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ประกาศอีกก็ได้ ผมไม่ทราบ แล้วทำไมพรรค จึงต้องกระมิดกระเมี้ยนกับนโยบายที่ตนเสนอ แทนที่จะทำให้โปร่งใสมาแต่ต้น ผมก็ไม่ทราบ แต่เอาเฉพาะเงื่อนไขที่ประกาศให้ทราบ ผมเก็งว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจน้อย หรือไม่กระตุ้นเลย แต่ไม่ประชานิยม แน่ครับ” นิธิระบุ

เหตุที่ นิธิ กลับเห็นต่าง ข้อวิจารณ์ว่า เป็นนโยบายประชานิยม เพราะเห็นว่า “ข้อเสนอแจกเงินดิจิทัลมูลค่า 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย มีความเป็นประชานิยมน้อย จนเกือบไม่เป็นเลย เพราะเป้าหมายนั้นเห็นได้ชัดว่าไม่ได้มุ่งจะแจกเงิน เท่ากับมุ่งกระตุ้เศรษฐกิจ เพราะให้เวลาใช้เพียง 6 เดือน และให้ใช้ซื้อสินค้าและบริการในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่อยู่อาศัย

“ดังนั้น 10,000 บาทจึงไม่ใช่เงินออม แต่เป็นเงินที่มุ่งให้เอามาใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดกำลังซื้อในตลาดขึ้นเกือบ 5-6 แสนล้านบาทในระยะเพียงครึ่งปี (ถ้าทุกคนใช้หมด)”

นอกจากไม่ประชานิยมแล้ว นิธิ ยังมองว่า นโยบายนี้ยังไม่เกี่ยวข้องอะไรกับวินัยการเงินอีกด้วย

นิธิ ระบุว่า “วินัยทางการเงินการคลัง” เป็นคำที่ถูกนักวิชาการไทยใช้บ่อยมาเวลาที่คิดอะไรไม่ออกว่าจะวิจารณ์นโยบายอย่างไร พอๆกับคำว่าศีลธรรมที่ผู้พิพากษาซึ่งหาความผิดตามกฎหมายไม่เจอมักนำมาใช้เพื่อลงโทษจำเลยแทนบัญญัติของกฎหมาย

“ผมคิดว่าไทยมีงบประมาณพอจะใช้เงินก้อนใหญ่ได้ ถ้าจำเป็นและมีประโยชน์ อย่าลืมว่าปีๆหนึ่ง เราใช้เงินโดยไม่จำเป็น และไม่มีประโยชน์มากกว่า 5 แสนล้าน ไม่เชื่อก็หันไปดูกองทัพ ระบบราชการ มหาวิทยาลัย งบฯโฆษณาทุกชนิดของรัฐ ฯลฯ ผมไม่เคยได้ยินนักวิชาการพูดถึง “วินัยทางการเงินการคลัง” เลย เมื่อกองทัพจัดซื้อเรือดำน้ำ พยายามหาทางซื้อ F35 ตั้งนายพลเป็นโหล หรืองบประมาณจำนวนมหาศาลของกระทวงกลาโหม”

“วินัยทางการเงินการคลัง” ไม่ควรหมายถึงเพียงตัวเลขที่จำกัดอำนาจทางการเงินของรัฐ แต่ควรหมายถึงวิธีการใช้ที่สมเหตุผลสมผล ตรวจสอบได้ทั้งโดยสภา และพลเมือง สุจริต และประหยัด 5 แสนล้านจะกระทบต่อ “วินัยฯ”​หรือไม่ เราไม่ทราบ จนกว่าจะได้เห็นว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะแก้ไขงบประมาณที่รัฐบาลเก่าทำไว้อย่างไรบ้าง แต่มีสิ่งที่เราควรรู้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็คือยังมีเงื่อนไขอะไรอื่นอีกบ้างในการรับและใช้ดิจิทัล 10,000 บาท

เพื่อจะเก็งได้ว่าน่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้สักเพียงไร” 

ติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ เว็บไซค์มติชนสุดสัปดาห์ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image