เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 พฤษภาคม ที่โถงอาคารสำนักงานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ มติชน X เดลินิวส์ จัดเวที “ร่วมวิเคราะห์โพลเลือกตั้ง 66” ภายหลังเปิดโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ 2 ครั้ง ประสบความสำเร็จ มีผู้ร่วมโหวตเกือบ 200,000 คน ผลออกมาสั่นสะเทือนวงการการเมือง นอกจากนี้ยังจัด 6 เวทีประชันวิสัยทัศน์และนโยบายทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ได้รับผลตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม โดยเวทีครั้งนี้ ระดมนักวิชาการมาร่วมฉายภาพภูมิทัศน์ทางการเมืองทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง จนกระทั่งประเด็นที่หลายคนจับตา อย่างการจับขั้วของพรรคการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 10.10 น. มีการเสวนา หัวข้อ “สรุป-วิเคราะห์ ผลการจัดทำ มติชน-เดลินิวส์ โพล” โดย นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์, นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด มหาชน, ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย นายเอกภัทร์ เชิดธรรมธร
นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ กล่าวถึงข้อสังเกตจากการทำโพลทั้ง 2 ครั้งว่า การทำโพลครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทางมติชน และวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ให้ความร่วมมือทำให้ประสบผลสำเร็จเกินคาด
“ตอนแรกที่ผลโพลออกมา เราสงสัยว่าทำไมคะแนนพรรคก้าวไกลได้เยอะมาก เราสงสัยว่าจะมีนิวเจน โหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือก้าวไกลเยอะ แต่อาจารย์อัครพงษ์ จะเป็นคนเฉลยตรงนี้…ต้องขอขอบคุณผู้อ่านเครือมติชนและเดลินิวส์ เชื่อว่าการทำโพลครั้งนี้จะส่งสัญญาณให้นักการเมือง และ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ คนต่อไป อีกทั้งประชาชนทั่วไปจะได้มีแนวทางในการเลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
การเลือกตั้งในครั้งนี้มีความสำคัญกับประเทศชาติเรา จะก้าวหน้าหรืออยู่กับที่ วันที่ 14 เราก็จะรู้ผลกัน กลุ่มผู้อ่านทั้งเดลินิวส์และมติชนอาจจะคนละกลุ่ม แต่ผลโพลผสมผสานออกมาน่าจะใกล้เคียงความจริงประมาณหนึ่ง” นายปารเมศกล่าว
นายปารเมศตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ถ้าดูเทรนด์จากโพล จะพบว่าคนส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนแปลง
“เราดูแล้วจะเห็นว่าพรรคฝ่ายรัฐบาล คะแนนเสียงจะน้อยกว่า แต่อันนี้ก็เป็นเทรนด์ วันที่ 14 ตัดสินใจ อีกข้อที่เน้นคือ ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง หรือโลกดิจิทัล ผมว่าพรรคการเมืองที่ทำเก่งและทำเป็นเขาได้ประโยชน์เยอะ พรรคที่ยังไม่ถนัด หรือยังไม่เก่ง ผมว่าต้องไปเร่งตรงนี้ ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายที่อาจจะได้กลับมาบ้าง” นายปารเมศกล่าว
ด้าน นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายดิจิทัลมีเดีย บมจ.มติชน กล่าวว่า จากจุดแรกที่มติชนกับเดลินิวส์ร่วมมือกัน สิ่งที่เราคาดการณ์คือ ผลลัพธ์จากฐานคนอ่านทั้ง 2 กลุ่มน่าจะต่างกัน เราอยากให้มีการถ่วงน้ำหนักกัน แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์คนทำเหมือนกันคือ ตัวคะแนนและผลลัพธ์ไม่ต่างกัน
“ตัวเลขหลังบ้านรายวัน จะเห็นอันดับสำคัญ ตัวเปอร์เซ็นต์คะแนนหรือระยะห่างของคะแนน มีความสอดคล้องกันหมด เป็นเชิงอรรถที่น่าสนใจ มันเหมือนมีการดับเบิลเช็ก และผลตรงกันจริงๆ ซึ่งแนวโน้มที่ปรากฏในโพลของมติชนและเดลินิวส์ได้รับการยืนยันจากโพล ซึ่งมีวิธีวิทยาแบบอื่นด้วย” นายปราปต์กล่าว
นายปราปต์กล่าวต่อว่า อีกจุดที่ต้องย้ำชัด คือตำแหน่งแห่งที่ (position) ของโพลนี้ เป้าประสงค์ของเราคือ 1.เราเป็นสื่อ และไม่ได้ต้องการจะทำโพลที่เป็นทางการระดับมืออาชีพอย่างสำนักโพล แต่สิ่งที่เรากำลังทำคือการกระตุ้นให้ผู้อ่านและคนดูของทั้งสื่อ 2 สำนักใหญ่มีความสนใจและอยากมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง
2.เป้าประสงค์รองที่จะได้ คือรับทราบเจตจำนงทางการเมืองของคนอ่าน เมื่อเทคโนโลยีในปัจจุบันเปิดช่องให้เราสามารถทำโพลออนไลน์ได้ เท่ากับเราสามารถสื่อสารและรับฟังความเห็นคนอ่านได้
3. การขยับขยายวิธีการผลิตคอนเทนต์เลือกตั้งใหม่ๆ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็นำมาสู่เครื่องมือวิเคราะห์เลือกตั้งอีกแบบ ด้วยการดูจากผลโพล
นายปราปต์กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ดีคือ โพลไม่บอกอะไรเรา หรือตอบเราไม่ชัด แต่มีสิ่งหนึ่งที่อยู่นอกเหนือจากโพล หรือการวิเคราะห์เลือกตั้งทั่วๆ ไป
“ตอนนี้เวลาเราพูดเรื่องเลือกตั้ง เราพูดกันเรื่องจำนวน ตัวเลขในโพล คาดการณ์จำนวน ส.ส.ซึ่งแต่ละพรรคจะได้ แต่หนึ่งในรูปธรรมอีกอย่างที่เราเห็นในกระบวนการเลือกตั้ง คือภาพมวลชนจำนวนมากหน้าเวที ซึ่งไม่มีใครไปนับจำนวน หรือเสียงโห่ เสียงเฮต่างๆ เป็นรูปธรรมอีกแบบหนึ่ง
มันคือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก มีความรัก ความศรัทธา ความเกลียด ความแค้น ความหวัง ความผิดหวังเจือปนอยู่ในนั้น ทุกคนน่าจะเข้าใจตรงกันว่าส่งผลต่อการตัดสินใจ ฉะนั้นการมองเลือกตั้ง 2 แบบ ระหว่างการมองไปที่จำนวน กับมองไปที่อารมณ์ความรู้สึกซึ่งอัดแน่นอยู่ในคนจำนวนมากและนับจำนวนไม่ได้เหล่านั้น อาจจะนำไปสู่ซีนาริโอ 2 แบบ
แบบแรก เวลาเราวัดจำนวน สุดท้ายแล้วเราจะคาดการณ์ซีนาริโอต่อไปในเชิงเวิร์สเคส คือถ้าเข้ามาเจอ 250 ส.ว.จะเป็นอย่างไร ถ้าเจอยุบพรรค เจอซื้องูเห่า หรือเจอรัฐประหารอีกจะเป็นอย่างไร
แต่ถ้าเรามองเป็นพลังความรู้สึกของประชาชน จะเห็นว่าปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ถูกกดปราบ อีกระยะก็จะกลับมาเกิดซ้ำอีก ในลักษณะที่อาจจะแรงกว่าเดิม หรือเชี่ยวกรากกว่าเดิม ผลการเลือกตั้งวั้นที่ 14 พฤษภาคม จะนำไปสู่ซีนาริโอ 2 แบบที่ต่างกันอย่างนี้ อาจจะนำไปสู่การปะทะ หรือคู่ขนานกันทางการเมือง” นายปราปต์กล่าว
ในขณะที่ ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นเรื่องของตัวเลข และผ่านการพูดคุยกับนักวิชาการท่านอื่นถึงวิธีการ ว่าจะนำเสนออย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ที่ผ่านมาเกิดการตั้งคำถามว่า การมีโพลก่อให้เกิดประโยชน์อะไร เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องของการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้า การตอบปัญหาต่างๆ จะสามารถหาคำตอบได้โดยการตั้งโพล
“โพลปกติจะมีการตั้งคำถาม และมีสูตรคำนวณต่างๆ ซึ่งแล้วแต่วิธีการของแต่ละคน ขณะเดียวกันสิ่งที่มติชนกับเดลินิวส์ทำคือการนำกลุ่มตัวอย่างมาก่อน และหลังจากนั้นถึงมาวิเคราะห์เหตุผลของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าวิธีการดังกล่าวสามารถสะท้อนความเชื่อมั่นของผลโพลได้ถึง 95% มีความคลาดเคลื่อนไม่ถึง 0.35%” ผศ.อัครพงษ์ชี้
เมื่อถามว่า จากกระแสที่เกิดขึ้นในโซเชียล สามารถมองผลโพล เป็นคะแนนในโลกความเป็นจริงได้หรือไม่ ?
ผศ.อัครพงษ์กล่าวว่า มติชนและเดลินิวส์ทำโพลขึ้นมาเพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตย ผลโพลคือความนิยม ไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่สามารถให้ข้อคิดแก่นักการเมืองและพรรคการเมืองได้ว่าทำพลาดตรงส่วนไหน และต้องปรับแก้ส่วนใด ดังนั้นการมีโพลเป็นกระกระตุ้นพรรคการเมืองและนักการเมืองได้เป็นอย่างดี
“ถ้าเห็นว่ากระแสมา อย่างกรณีของอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ โจ ไบเดน ก็พิสูจน์แล้วว่าดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมาจริง และทำให้หลายบริษัทปิดตัวไปแล้ว ถ้าท่านไม่เปลี่ยนก็แล้วแต่ ไม่ว่ากัน รอดูวันที่ 14 ว่าจะเป็นอย่างนั้นไหม การเลือกตั้งในครั้งนี้สะท้อนว่าดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมีผลต่อคะแนนความนิยมของนักการเมืองโดยแท้จริง สามารถบอกได้ว่าหากสื่อไหนไม่ตามกระแสก็อาจจะเจ๊ง พรรคการเมืองไหน สถาบันไหนไม่ตามกระแสออนไลน์มีโอกาสไม่รอด” ผศ.อัครพงษ์ระบุ
ผศ.อัครพงษ์กล่าวต่อไปว่า โพลมติชนXเดลินิวส์เป็นการตั้งคำถามกับอำนาจ นอกจากเห็นความนิยมแล้ว ยังสามารถบอกความ รู้สึกของคน
“การเลือกตั้งเป็นเรื่องของความรู้สึกโดยแท้ ท่านจะชอบหรือไม่ชอบ นโยบายนี้ดีหรือไม่ดี การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณถึงนักการเมือง พรรคการเมือง อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องชนหมู่มาก มาพร้อมกับกระแสและความนิยม สิ่งสำคัญที่สุดคือพื้นที่ 400 เขต ขอฝากถึงพรรคการเมืองและนักการเมืองว่าให้กลับไปลงพื้นที่ พร้อมกับคอยสังเกตกระแสของผู้คนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือก เพราะคือตลาดที่ท่านสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้
สิ่งสำคัญในการทำโพลครั้งนี้ คือการกระตุ้นความรู้สึกอยากจะออกมามีส่วนร่วมทางการเมือง ทุกคนรู้สึกว่าเรามีจิตใจเป็นเจ้าของชาติ ชาติหมายถึงเราอยู่ในนั้น ฉะนั้นโพลบอกว่านี่คือบ้านเมืองของเรา เราจะกำหนดอนาคตของเราวันที่ 14 พฤษภาคม” ผศ.อัครพงษ์กล่าว
จากนั้น เวลา 10.45 น. เข้าสู่ช่วงเสวนาหัวข้อ “วิเคราะห์โพลมติชน-เดลินิวส์ และแนวโน้มการเลือกตั้งโค้งสุดท้าย” โดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่ไหวอย่าฝืน ธำรงศักดิ์ ดักคอ ‘รบ.เสียงข้างน้อย’ ยก ปวศ.ชี้ ความโกรธของ ปชช. ‘มิอาจประเมินค่า’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 09.00 INDEX อ่าน อาฟเตอร์ช็อก ยุบพรรค ผ่านกระแส เทรนด์ ออนไลน์
- 09.00 INDEX การปรับเปลี่ยน ทหาร การเมือง แรงสะเทือน จากเลือกตั้ง 2566
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘ผลโพล’ ‘เสียงสะท้อน’ และ ‘ความเป็นจริงทางการเมือง’
- กกต.งัดข้อมูลโต้ ‘ส.ว.สมชาย’ เผยพิจารณาสำนวนเลือกตั้งเสร็จแล้ว 267 เรื่อง คงเหลือ 90