พวงทอง มองเลือกตั้ง 66 ทำคนไทยตื่นเต้น เหตุพรรคโฟกัสโครงสร้างการเมือง เสนอชัดรื้ออำนาจจารีต

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ ‘ดุลยภาพแห่งอำนาจ เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง’ เนื่องในวาระ 123 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (อ่านข่าว พรึบ มธ.รำลึก 123 ปีชาตกาล ‘ปรีดี พนมยงค์’ นักวิชาการดังลุยร่วมเสวนาจับตาเลือกตั้ง)

วิทยากรได้แก่ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมการเมือง และ นานยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ดำเนินรายการโดย ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

โดยในตอนหนึ่ง รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ระบอบเก่ากับใหม่กำลังท้าทายกัน เราจะสามารถสร้างสมดุลการเมืองทางอำนาจได้หรือไม่ จะเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประชาชนมีแต่มือเปล่า แทบที่ไม่สามารถยึดกุมอำนาจที่อยู่ในสถาบันทางการเมืองใดไว้ได้เลย แม้กระทั่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการแสดงออกซึ่งพลังของประชาชน แต่เรามีพลังจริงหรือไม่

“เสียงเลือกตั้งของประชาชนที่ไปช่วยกันลงคะแนน เสร็จแล้วเขาก็ใส่เลขอะไรไม่รู้ และเสียงของเราจะไปที่ไหนหรือไปลงที่ถังขยะ จะมีบัตรเขย่งแบบครั้งที่แล้วไหม เขตเลือกตั้งทั้งประเทศมีกี่แห่ง ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ทำเหมือนกับว่าการเลือกตั้งเป็นอาชญากรรมที่จะต้องจับตาดู” รศ.ดร.พวงทอง กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า เสียงของประชาชนมันไม่ได้ถูกให้ความเคารพจริง ๆ และนี้ยังเป็นช่องทางเดียวที่ประชาชนจะสามารถแสดงออกซึ่งพลังของตนเองได้ แต่ก็ยังถูกดูหมิ่นเหยียดหยามไม่ให้ค่า ซึ่งฝ่ายผู้ที่มีอำนาจก็ได้รับบทเรียนจากการที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้นจึงมีความพยายามทำให้อำนาจของพวกเขาครอบคลุมระบอบต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น

“เขามีอำนาจมากกว่ากับการใช้กำลังทหารในการยึดอำนาจ จะเห็นได้ว่าเขาเห็นอำนาจขององค์กรอิสระที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 40 เขาก็ทำให้องค์กรเหล่านี้กลายเป็นกลไกอำนาจของเขาเอง เพื่อที่จะทำการลงโทษกลุ่มการเมืองซึ่งอยู่ตรงข้าม พอมีคดีขึ้นมาประชาชนแทบจะเดาได้เลยว่าผลมันจะออกมาอย่างไร

เขามีอำนาจในการที่จะสถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งให้อำนาจในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมันมีอำนาจยาวนานกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุด นี่คืออำนาจในการควบคุมและลงโทษกลุ่มการเมืองที่พวกเขาไม่ต้องการ” รศ.ดร.พวงทอง กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า อำนาจที่จะสถาปนาให้กับกองทัพนั้น สิ่งนี้เอง คือ อำนาจที่ทำให้กองทัพมีสถานะเป็น ‘รัฐอิสระ’ ที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลพลเรือน ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งในครั้งนี้ไม่แต่ พ.ร.บ. กลาโหม แต่เราแทบจะทำอะไรกับกองทัพไม่ได้เลย ซึ่งไม่ต้องพูดถึงประเด็นของการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หากยังไม่เข้าไปแก้ไขอำนาจของกองทัพที่ควบคุมกระทรวงกลาโหมอยู่

“เรื่องสภากลาโหม มันพูดถึงกิจการที่เกี่ยวข้องกับการทหารทั้งหมดในประเทศนี้ ซึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ 28 คน แต่ทั้งหมดนี้มีอยู่ประมาณ 4-5 คนเท่านั้นที่มาจากฟากพลเรือน ที่เหลือเป็นคนของกองทัพทั้งสิ้น ซึ่งหลังจากรัฐประหารปี 2549 พวกเขาก็พยายามสถาปนาตัวเองเพื่อที่จะรับมือกับฝ่ายประชาธิปไตยมาตลอด” รศ.ดร.พวงทอง กล่าว

รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือ การที่พรรคการเมืองเสนอว่าจะรื้อถอนอำนาจของฝ่ายอำนาจแบบจารีต และอำนาจของกองทัพอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นสิ่งที่จะมาท้าทายอำนาจของระบอบเก่า

“ดิฉันกำลังพูดถึงนโยบายของก้าวไกลที่เสนอออกมา คือ เสนอว่าเขาจะปฏิรูปกองทัพ ไม่ใช่แค่เรื่องเกณฑ์ทหาร การรื้อถอน กอ.รมน. ซึ่งเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ความมั่นคงของภายในด้วย ซึ่งการให้กองทัพแทรกแซงเข้าไปควบคุมประชาชน ปลุกระดมชนฝ่ายขวา ขึ้นมาให้พร้อมปะทะกับฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถซื้อใจได้ทั้งหมด แต่เพียงแค่ 10% เพียงเท่านี้ก็ก็น่ากลัวมากแล้ว” รศ.ดร.พวงทอง กล่าว

รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมาก็เห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถที่จะแยกการเมืองออกจากเรื่องของเศรษฐกิจได้ และประชาชนจะไม่มีทางที่จะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ ถ้าการเมืองไม่มั่นคง ดังนั้นเป็นความน่าตื่นเต้นของประชาชนในครั้งนี้ที่มีพรรคการเมืองพูดถึงเรื่องโครงสร้างอำนาจทางการเมืองมากขึ้น

“ดิฉันคิดว่าเราก็เริ่มเห็นเค้าลางของการที่เขาจะใช้อำนาจที่มีอยู่ในการที่จะจัดการกับกลุ่มการเมือง ที่ตั้งธงไว้ชัดเจนว่าจะมารื้อถอนอำนาจ เพื่อที่จะสร้างสมดุลอำนาจของประชาชนให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.พวงทอง กล่าว

จากนั้น รศ.ดร.พวงทอง ยังกล่าวถึงประเด็น คำว่า ‘เสียงส่วนน้อย’ หรือ ‘คนส่วนน้อย’ ในสังคมไทยว่าถูกใช้แบบผิดเพี้ยนมาตลอด โดยใช้ให้ตัวเองดูน่าสงสาร ทั้งที่แท้จริงแล้วคำว่า ‘เสียงส่วนน้อย’ คือที่มีอำนาจในการต่อรองในสังคมน้อย เช่นกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มผู้พิการ ซึ่งถูกละเลยโดยรัฐ ไม่มีนโยบายที่จะทำให้ชีวิตเขามีความเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ได้แต่ไม่ใช่คนกลุ่มน้อย ที่เป็นชนชั้นกลางกรุงเทพที่ไม่ยอมรับเสียงของคนส่วนใหญ่ ทำเหมือนกับว่าตังเองถูกรังแกโดยคนส่วนใหญ่

“ปัญหาคือ คนส่วนน้อยในประเทศนี้ไปดึงเอาทหาร ไปดึงเอารัฐประหารมากลั่นแกล้ง มาละเมิดสิทธิ์คนส่วนใหญ่ และที่ผ่านมาในสังคมนี้ คนส่วนใหญ่ คือ ฝ่ายที่จะต้องประนีประนอมให้กับคนส่วนน้อยที่มีอำนาจอยู่ตลอดมา

เราประนีประนอม เราอดทนกันมาก กับการที่เราถูกละเมิดสิทธิ์โดยคนส่วนน้อย ที่มีกำลังทหาร มีอาวุธ มีอำนาจที่อยู่ในโครงสร้างทั้งหลาย ฉะนั้นเลิกเรียกตัวเองว่าเป็นชนกลุ่มน้อย สิ่งที่คุณต้องทำก็คือยอมรับ การตัดสิน การเลือกของคนส่วนใหญ่และเคารพกติกา”  รศ.ดร.พวงทอง กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไชยันต์ ตั้งจิตอธิษฐาน ขอวิญญาณคณะราษฎรช่วยฝ่ายปชต.ชนะเลือกตั้ง ยันรัฐประหาร ‘ยากขึ้นทุกวัน’

มายด์ ลั่น คิดยุบพรรคอย่าลืมชั่งใจ ชี้อารมณ์ประชาชนแรงกล้า เผยเจนใหม่ไม่เน้นตัวบุคคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image