คปอ.แถลง 4 ข้อ จี้ กกต.โปร่งใสตาม ‘คำขวัญเดิม’ ขอ ส.ว.เคารพเสียงมหาชน ปลดโซ่ล่ามประเทศ

คปอ. ขอใช้เวทีแถลง 4 ข้อ จี้ กกต. ส.ว.พรรค เคารพเสียงมหาชน ปลดโซ่ตรวนล่ามประเทศ

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง66 จัดกิจกรรม “ทวงผลเลือกตั้ง ร่วมกดดัน กกต.” #หยุดขวางทางรัฐบาลประชาชน นำโดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ดาวดิน และ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือ เป๋า ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โดยมี น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ และ แซน ทะลุฟ้า ร่วมด้วย (อ่านข่าว ยิ่งชีพ โวย รอนานสุดในปวศ. ยกปี 2480 ไม่มีเครื่องคิดเลข 14 วันรู้ผลเลือกตั้ง ไผ่ จวกประเทศไม่ปกติ)

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว สืบเนื่องจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม 2566 ผ่านพ้นไปเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน แต่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศรับรองผล ส.ส.อย่างเป็นทางการ แม้จะยังไม่เลยกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ 60 วัน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 127 ก็ตาม แต่ส่งผลให้กระบวนการเปิดประชุมสภาและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังเริ่มขึ้นไม่ได้ เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง66 จึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการประวิงเวลาของ กกต.หรือไม่ ด้วยเหตุผลใด เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้เวลารับรองผลการนานกว่าปกติ จึงนัดหมายรวมตัวเพื่อทวงผลเลือกตั้งให้ประเทศเดินหน้า

บรรยากาศเวลา 19.05 น. แชมป์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ ‘คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)’ เรื่อง ครบรอบ 1 เดือนเลือกตั้ง เรียกร้องให้ กกต.รีบรับรองผลและปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม ให้ ส.ว.250 คนเคารพเสียงของประชาชน ให้พรรคการเมืองและสมาชิกรักษาสัญญา ชวนสาธารณชนผลักดันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และลบล้างมรดกบาปของ คสช. โดยมีเนื้อหาดังนี้

Advertisement

‘เป็นเวลากว่า 9 ปีหลังจากเผด็จการทหารที่อ้างตนเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กระทำรัฐประหารลัมล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 และฉกฉวยช่วงชิงอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชนไป

ในที่สุดหลังจากผ่านคำโกหกหลอกลวงของ คสช. หลายครั้ง ผ่านการประท้วงเรียกร้องบนท้องถนนหลายหน ผ่านกระบวนการประชามติที่ไม่มีเสรีภาพและความเป็นธรรม ผ่านการเลือกตั้งในปี 2562 ที่มีปัญหาสารพัดและกลายเป็นเครื่องฟอกตัวให้เผด็จการ ผ่านการยุบพรรคและการประท้วงระลอกใหม่จนมีผู้ถูกจับ ถูกทำร้ายร่างกาย และถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามากมายรวมทั้งมาตรา 112 ประชาชนไทยก็ได้มีโอกาสใช้อำนาจของของตนอีกครั้งผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

อย่างไรก็ตาม แทนที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการคืนความหวังสู่สังคมไทย คืนความเป็นปกติสุขในระบอบประชาธิปไตย และคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ผลกลับเป็นตรงกันข้าม เมื่อเวลาผ่านไปครบ 1 เดือนแล้ว แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้จนเกิดภาวะชะงักงัน แม้ว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ในคราบพลเรือนจะพ่ายแพ้ยับเยิน และพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะสามารถรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้กว่า 300 เสียง แต่กลับยังไม่เพียงพอจะเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน ซึ่ง คสช. เป็นผู้คัดเลือกจะยังมีสิทธิร่วมพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีไปอีก 1 ปี

Advertisement

ซ้ำยังมีความพยายามใช้กฎหมายเล่นงานและสกัดกั้นผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง และแม้จะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้วแต่มรดกบาปของ ดสช. ก็จะยังคงอยู่ต่อไปในนามของประกาศ คำสั่ง และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งบังคับให้คณะรัฐมนตรีทุกชุดต้องปฏิบัติตาม

พฤติการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนทำให้ประชาชนห่อเหี่ยว สิ้นหวัง เพราะเสียงของประชาชนแทบไม่มีความหมายต่อการเลือกผู้นำมาบริหารประเทศ อำนาจอธิปไตยยังคงอยู่ในมือของเผด็จการทหารและทายาท ความเป็นปกติในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงยังไม่กลับคืนมา

คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มพลเมืองผู้ร่วมลงชื่อใน
เว็บไซด์ change.org ภายใต้ชื่อแคมเปญ “คำขอสงวนสิทธิไม่ยอมรับ-นับผลประชามติ ที่ไม่แฟร์ ไม่ฟรี” นั้นยืนยันมาโดยตลอดซ้ำไม่ยอมรับและนับผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตั้งแต่ต้น

รวมทั้งกระบวนการต่อเนื่องภายหลังประชามติด้วย เกือบ 7 ปีที่ผ่านมาเราได้จัดเสวนารณรงค์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญนี้ในประเด็นต่างๆ หลายครั้งเพื่อหวังผลในอนาคตว่าจะมีกระบวนการบอกเลิกให้ประชามติครั้งนี้เป็นโมฆะและมีการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดและมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศก็คือ ปัญหาที่เกิดจากการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นั่นเอง ซึ่งคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) มีข้อเรียกร้องดังนี้

1. ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้ถึงร้อยละ 95 โดยเร็ว เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาและนายกรัฐมนตรีได้ เพราะหากล่าช้าก็เท่ากับ ปล่อยให้เผด็จการ สช. ในคราบพลเรือนมีอำนาจในฐานะรัฐบาลรักษาการต่อไป นอกจากนี้คดีด่าง ๆ ที่ กกต. รับไว้พิจารณาจะต้องได่สวนอย่างสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม ไม่เตะถ่วงหรือหวังผลทางการเมือง

2. ขอเรียกร้องให้ ส.ว. 250 คน ลงคะแนนโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นสำคัญ แม้ว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้น ส.ว. จากการแต่งตั้งไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีก็ตาม

แต่เนื่องจากกติกาที่บิดเบี้ยวตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 คำถามพ่วงในการทำประชามติ พ.ศ. 2559 ซึ่งเขียนไว้กำกวมยากจะเข้าใจ อีกทั้งกระบวนการประชามติที่ไม่มีเสรีภาพและความเป็นธรรมดังที่คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ประกาศไม่ยอมรับและนับผลมาโดยตลอด ทำให้ ส.ว. ที่คัดเลือกมาโดย คสช. ยังมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ใน 1 ปีที่เหลือ

เมื่อประชาชนแสดงออกชัดเจนด้วยการเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเข้ามาเป็นอันดับ 1 และ 2 จนรวมเสียง ส.ส. ได้กว่า 300 เสียงแล้ว ส.ว. ก็ควรเคารพเสียงของประชาชนด้วยการลงคะแนนสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเช่นกัน

3. ขอเรียกร้องพรรคการเมืองทุกพรรคและสมาชิกทุกคนให้ปฏิบัติตามสัญญาและจุดยืนที่ให้ไว้ต่อประชาชนในระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ใดเคยประกาศคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ในคราบพลเรือน ก็ควรลงคะแนนสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรดฝ่ายประชาธิปไตย แม้ว่าตนจะไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลก็ตาม

4. ขอเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังการเลือกตั้งผ่านการเลือกตั้งสภาร่าง
รัฐธรรมนูญ (สสร.) และการทำประชามติอย่างเสรีและเป็นธรรม ขอเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขยายสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน ลบล้างยุทธศาสตร์ซาติ 20 ปี ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้ง ประกาศ คำสั่ง และมรดกบาปอื่น ๆ ของ สช. ที่เป็นโซ่ตรวนล่ามประเทศให้หมดสิ้นไป และขอเรียกร้องให้
มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าหลังจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ให้อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

จึงเรียนมาเพื่อเชิญชวนให้สาธารณชนพิจารณาและร่วมกันผลักดันต่อไป

คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)
16 มิถุนายน 2566

(ปรับปรุงแก้ไขจากฉบับเดิม วันที่ 24 เมษายน 2562)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image