ปมร้อนเก้าอี้ ปธ.สภา จับเข่าเคลียร์หลังบ้านจบ!

หมายเหตุ – นักวิชาการวิเคราะห์ปัญหาการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับพรรคเพื่อไทย (พท.) จะจบอย่างไร ใครได้เปรียบเสียเปรียบ รวมทั้งข้อเสนอทางออก

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องของศึกชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ยังตกลงกันไม่ได้และใกล้ที่จะถึงจุดสิ้นสุดลง ผมเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้วจึงออกมาแถลง แต่มองท่าทีของทางพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อยากจะได้ตำแหน่งนี้ไว้เพื่อเป็นหลักประกัน เพราะทางพรรค ก.ก.มีแผนที่จะทำอะไรอีกหลายอย่างโดยเฉพาะกฎหมายที่มีรอไว้แล้วกว่า 40 ฉบับ ถ้ามีตำแหน่งประธานสภาเป็นของพรรค ก.ก.การออกกฎหมายก็ไม่ใช่เรื่องยากและไม่ต้องไปเจรจากันอีก

Advertisement

แต่ที่สำคัญที่สุดที่พรรค ก.ก.ต้องการที่จะได้ตำแหน่ง คือ ต้องการจะคุมเกมตอนเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะว่าเดี๋ยวมันเกิดพลิกอะไรขึ้นมา เขาก็เป็นห่วงตรงนั้น แต่ถ้าเขาตกลงกันได้แล้วหมายความว่าถ้าไม่ใช่คนของทางพรรค ก.ก.แสดงว่าต้องพูดคุย มีสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะแล้วว่าถ้าเขาไม่เป็นประธาน อย่างเขายอมให้คนกลาง เช่น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) เป็นประธานสภาเขาก็ต้องพูดกันว่าถึงอย่างไรนายวันนอร์ต้องคุมเกมให้แม่นจะให้พลิกไม่ได้ ส่วนประเด็นที่ว่าถึงแม้จะยังตกลงกันไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางพรรค ก.ก.จะยืนยันที่จะให้พรรคของตนเป็นประธานสภาให้ได้อยู่ดีเพราะเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม การออกมาพูดแบบว่าตกลงกับพรรค พท.ได้แล้ว คล้ายกับกรณีของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งคราวก่อน พรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาล คือ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) แต่ในท้ายที่สุด คุณชวนจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ได้คะแนนเป็นที่ 3-4 แต่เขาเห็นเหมาะสม เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่และมีประสบการณ์เยอะ ก็เอามาเป็นประธานสภา ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์ ก็เคยเป็นประธานรัฐสภามาก่อน หากได้เป็นก็เหมาะแน่นอน ดังนั้น ถ้าเขาตกลงกันแบบนี้แล้วแสดงว่า 8 พรรคร่วมรัฐบาลต้องเหนียวแน่นในจุดนี้ เขาต้องเห็นพ้องต้องกันทั้ง 8 พรรค ส่วนเรื่องโหวตนั้น โหวตแน่นอน แต่หมายความว่าของเขาต้องคุมได้ 8 พรรคนี้ต้องโหวตให้คนที่เขาเลือกแน่นอนว่าเป็นใคร

สุดท้ายแล้ว การที่เขาเป็นพรรคร่วมกันทั้ง 8 พรรค การหาทางออกจริงๆ เป็นเรื่องที่คุยกันหลังบ้าน เขาไปคุยกับคนอื่นไม่ได้ต้องคุยกันใน 8 พรรคนี้เท่านั้น เพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นพรรคที่เป็นรัฐบาลตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของเขา จะไปให้พรรคฝ่ายค้านได้เป็นประธานสภาได้อย่างไร ส่วนจะตกลงกันว่าประธานสภาจะเป็นใคร รองประธานสภา 2 คนจะมาจากพรรคไหน ทั้งหมดนี้คงมีการตกลงกันแล้วอย่างชัดเจน

Advertisement

รศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช
อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมมองว่าจบยาก และอาจจะทำให้เกิดสถานการณ์ค้างเติ่งในทางการเมืองในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค ก.ก.และพรรค พท. เพราะว่ามันยอมกันไม่ได้จริงๆ เนื่องจากพรรค พท.ก็หวังให้บุคลากรของเพื่อไทยในการเป็นประธานรัฐสภาคุ้มเกมในสภา แล้วก็เป็นศักดิ์ศรีของพรรคด้วย เพราะถ้าพรรค พท.มาร่วมหัวจมท้ายกับพรรค ก.ก.แล้ว ตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องเป็นของพรรค พท. แต่สำหรับพรรค ก.ก.มันก็มีความจำเป็นในยุทธศาสตร์การเมือง เพราะว่าจะผ่านผลักดันข้อกฎหมายต่างๆ หรือแม้กระทั่งการโหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. ให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ถ้าเผื่อได้ประธานสภาที่เป็นคนของพรรค ก.ก. แล้วโหวตไม่ได้ครั้งแรกอาจจะโหวตได้อีก คนที่เป็นประธานสภาจะมีการควบคุมประเด็น วาระต่างๆ จะเป็นคุณต่อคุณพิธาในการขึ้นชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมถึงการผลักดันข้อกฎหมายต่างๆ ของพรรค ก.ก.ที่มีหลายวาระ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราได้พรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังฟอร์มจัดตั้งรัฐบาล มีลักษณะเป็นสองมหาอำนาจ คือใจหนึ่งก็ต้องร่วมมือกันไปประคบประคองรัฐนาวานี้ให้ได้

แต่อีกทางหนึ่งมันเป็นระบบทวิอำนาจสองขั้ว อำนาจมันใกล้ๆ กันเลยเพราะฉะนั้น ถ้าพรรค ก.ก.ไม่ยอมพรรค พท.จะอยู่กันอย่างไร เพราะมันมีความเสี่ยงที่พรรค พท.จะแยกออกไป ตั้งจัดในการฟอร์ม ครม.ชุดใหม่ดึงพรรคอื่นๆ เข้ามาร่วมแทนพรรค ก.ก.จะถ่วงดุลหรือลดกำลังของพรรค ก.ก.ได้ มันเกิดขึ้นได้ทุก Scenario (สถานการณ์) เหมือนกัน มันอาจจะเป็นตัวชี้วัดเหมือนกันว่ามันจะออกของพรรค พท. หรือพรรค ก.ก.คว้าไปครอง พรรค พท.จะต่อไหม ถ้าพรรค พท.คว้าไปจะทำอย่างไรต่อเพราะมันลำบากในการดันนายพิธาก็ดี หรือกฎหมายแม้กระทั่ง 112 ดันไปลำบาก ผมคิดว่ามันเป็นตัวทำให้เกิดช่องว่างทางการเมืองได้ ชัดเจนเลยทีเดียวว่าสองพรรคนี้ยังไม่ลงรอยกันว่าตกลงตำแหน่งประธานสภาจะให้ใคร หรือจะหาคนกลางมาก็ยากอยู่ เพราะว่าพรรค พท.อยากได้เหมือนกัน ก้าวไกลก็อยากได้ กลายเป็นว่าสองเสือฟัดกันเอง

ส่วนประเด็นที่ว่าจะมีการโหวตสู้ในสภาหรืออย่างไร ผมมองว่าเกิดได้หมดอยู่ที่ว่าการเตรียมโควต้ารัฐมนตรีเป็นอย่างไร ตำแหน่งประธานสภาจะยอมให้ใคร ถ้าเผื่อมันยอมกันไม่ได้ ต้องเคลียร์ตำแหน่งข้างในหลายจุดยังไม่ค่อยลงตัว มีโอกาสที่พรรค พท.จะมีแคนดิเดตของเขาแล้วโหวตกันสู้ในสภา เกมนี้พรรค พท.อาจจะได้เปรียบ เพราะว่า ส.ว.หรือ ส.ส.ของพรรคฝ่ายตรงข้ามก็อาจจะรับได้มากกว่าทางพรรค ก.ก. ดูจากสายสัมพันธ์ เช่น นายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ก็มีคอนเน็กชั่นอยู่มากมายมีบารมี แล้ว ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พวกนี้พัฒนาการมาจากดีเอ็นเอเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันดูกันได้หลากเรื่อง ทั้งการเมืองระบบเก่าหรืออะไรก็ตามแต่ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมแบบฉับพลันมากมายจนเกินไปมันดูกันได้เยอะ เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อว่าโหวตสู้กันในสภา พรรค พท.ก็มีสิทธิอาจจะส่งแคนดิเดตมาเหมือนกันแล้วก็พรรค ก.ก.จะสู้ในลักษณะไหน หรือนอกจากจะให้พรรคที่ได้อันดับหนึ่งอย่างพรรค ก.ก.ได้ตำแหน่งประธานรัฐสภาไป ส่วนตำแหน่างรองประธานรัฐสภาคนที่ 1 และคนที่ 2 เป็นของพรรคอันดับสองอย่างพรรค พท.ไปแทน

ผมเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุด คือ ต้องทอดเวลาไปสักหน่อย แล้วอยู่ที่ทีมเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมาตกลงผลประโยชน์ให้ลงตัว หรือบางที่ไม่ลงตัวแต่ถ้าคิดถึงอุดมการณ์ว่ายังไงก็ต้องให้รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยนำในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในการพัฒนาประเทศ มันก็ต้องมีบางฝ่ายที่จะต้องยอม แล้วไปเก็บตก ไปดึงผลประโยชน์โควต้าที่จะชดเชยกันในภายหลัง สมมุติว่าถ้าเผื่อพรรค ก.ก.ยอมให้ทางพรรค พท.เป็นประธานสภา มันก็ต้องมี Commitment ว่าการโหวตเลือกนายกฯมันต้องทำอย่างให้เป็นคุณกับทางแคนดิเดตจากพรรค ก.ก. แต่อีกโมเดลหนึ่งก็คือก็เอาพรรคอื่นเอาตัวแทนพรรคอื่นพรรคร่วมรัฐบาลอื่นมาเป็นประธานสภาไปเลย มันก็พบกันครึ่งทาง ทำให้แรงกดดันระหว่างสองมหาอำนาจมันลดลงไป แต่ว่าคนกลางที่จะขึ้นมามันก็มีปัญหาอยู่ว่าจะเชื่อใจได้มากน้อยแค่ไหน ในการคุมเกมในสภาที่แม้ว่าที่นั่งในสภาจะน้อยเกินไป

ส่วนประเด็น ถ้าพรรค ก.ก.เอาแล้วพรรค พท.ไม่ยอม สุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร ฝ่ายไหนจะถอยไปมากน้อยแค่ไหน โดยส่วนตัวมองว่าพรรค พท.ไม่น่าจะถอย สมมุติว่าศึกชิงประธานสภาเสร็จแล้วพรรค พท.ต้องยอมพรรค ก.ก.ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติกับบริหารต้องเป็นของพรรค ก.ก.อย่างเดียว พรรค พท.มีทางเลือก 2 ทาง 1.ต้องก้มหน้ารับสภาวะแบบนี้ไปรอโควต้ารัฐมนตรีทางเศรษฐกิจหรือเพิ่มโควต้าชดเชยกับตำแหน่งประธานสภาที่เสียไป 2.หรืออาจจะไปร่วมกับพรรค พปชร. พรรค ภท. เพื่อให้คนของพรรค พท.ได้มาเป็นประธานสภาและนายกรัฐมนตรี

ผศ.ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

มุมมองในประเด็นศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อถึงเวลาที่จะต้องจบ โดยส่วนตัวผมเห็นว่า ตำแหน่งประธานสภาเป็นตำแหน่งที่โหวตกันระหว่าง ส.ส. โดยหลักแล้วจะโหวต 2 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ปัญหาคือตอนนี้ฝ่ายรัฐบาลยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะเลือกใคร ส่วนตัวผมคิดว่ารอความชัดเจนก่อนดีกว่าว่าจะเป็นเพื่อไทย หรือก้าวไกล ทางพรรคร่วมจะตกลงกันว่าอย่างไร

ตอนนี้มองไม่เห็นภาพหรอกว่าที่สุดแล้วจะออกมาในภาพไหน เพราะทางฝั่งว่าที่ฝ่ายค้านเขาต้องเลือกคนของเขาขึ้นมาแข่งด้วยอยู่แล้ว ทีนี้จะต้องดูว่าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับพรรคเพื่อไทย (พท.) จะตกลงกันว่าอย่างไร ผมมองว่าตรงนี้ควรรอความชัดเจนก่อน เพราะท้ายที่สุดแล้วมันเป็นเรื่องของคนในพรรคสองพรรคที่ต้องคุยกัน

ส่วนกรณีหากทางพรรค ก.ก.ยืนยันว่าตนต้องการตำแหน่งประธานสภา และทางพรรค พท.เองก็ยอมไม่ได้นั้น ผมมองว่ามันมีทางออก หรือวิธีการทางการเมืองอยู่แล้วในการต่อรอง ตกลงกัน ซึ่งตรงนี้ก็ยังย้ำอยู่ว่าเป็นเรื่องที่หลังบ้านของทางพรรค พท.กับพรรค ก.ก.ต้องไปคุยกันเอง ประเด็นที่ว่าหากเกิดการไม่ยอมกันทั้งสองฝ่ายจะต้องเกิดการถอยกันคนละก้าวหรือไม่ ผมเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องถอยกันคนละก้าว แต่เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องไปคุยกัน ไม่ว่าจะถอยหรือเดินหน้า เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องไปคุยกันหลังบ้าน

แต่อย่างไรทั้งสองพรรคก็ยังคงต้องจับมือกัน ส่วนโอกาสที่ตำแหน่งประธานสภาจะส้มหล่นไปอยู่ที่พรรคอื่นนั้น น่าจะเป็นไปได้ยาก สุดท้ายแล้วทางพรรค พท.กับพรรค ก.ก.จะหาทางออกร่วมกันได้ และตำแหน่งประธานสภาคงไม่หลุดโผสองพรรคนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image