‘ชัยธวัช’ ปัด ‘ก้าวไกล’ จ้องล้มสถาบัน วอนทุกฝ่ายตั้งสติ-มองการณ์ไกล อย่าดึงมาพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง หวัง สถาบันอยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมกับมีผู้รับรองชื่อถูกต้อง ก่อนเปิดอภิปรายนั้น
ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชลน่าน ลุกเสนอ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ที่ประชุมรับรองแล้ว-ไร้พรรคชงชื่อแข่ง
- ชาดาลั่น ขอเป็นโจรที่รักสถาบัน รับไม่ได้พิธาแตะ 112 ท้าถอยเรื่องนี้ ภท.พร้อมโหวตให้
- พิธา เชือดกลับชาดา ให้เลิกนโยบายหาเสียง ยันเป็นผู้นำต้องพูดแล้วทำ เหมือนสโลแกน ภท.
- เปิดประวัติ ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ส.ส.อุทัยธานี ก่อนสร้างวลีเด็ดในสภา
จากนั้น เวลา 11.15 น. นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล(ก.ก.) ขอใช้สิทธิพาดพิง โดยอภิปรายว่า คงไม่ต้องอภิปรายถึงเรื่องคุณสมบัติของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะตนถือว่า คนทั้งประเทศ รวมถึงสมาชิกรัฐสภา เราต่างได้ใช้วิจารณญาณของตนเอง และลงมติหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน ผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว และเมื่อผลปรากฏ ว่า พรรคก้าวไกลได้เสนอชื่อนายพิธา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และสามารถรวบรวมเสียงข้างมาก 312 เสียงจากพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค ซึ่งนายพิธาควรได้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามครรลองปกติของระบอบประชาธิปไตย เรื่องควรจะเรียบง่ายตรงไปตรงมา
“แต่บรรยากาศที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ทำให้เกิดคำถามต่อประชาชนว่า หากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่เป็นไปตามผลเลือกตั้ง เราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม ตกลงอำนาจอธิปไตยของประเทศนี้ เป็นของคนไทยตามที่บัญญัติไว้ หรือเป็นของใครกันแน่”
นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า คำถามในใจประชาชน ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา เราผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง รัฐประหารการพยายามที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หลังรัฐประหาร แม้กระทั้งความพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ผ่านการยุบพรรคการเมือง รวมไปถึงมีการชุมนุมทางการเมือง จนมีผู้ถูกดำเนินคดี บาดเจ็บ และเสียชีวิต จำนวนมาก จากความขัดแย้ง ที่ไม่ทราบว่า จะยุติเมื่อไหร่ จนบัดนี้สังคมไทยไม่สามารถหาคำตอบที่พวกเรายอมรับร่วมกันได้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ สังคมไทยก็จะหยุดนิ่ง จมดิ่งอยู่กับวังวนเดิม
ตนในฐานะสมาชิกรัฐสภา เห็นว่า การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และการลงมติในวันนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะหาคำตอบ ครั้งใหม่ให้แก่สังคม สมาชิกหลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลในบางเรื่อง หลายคนอาจกังวลใจในความเป็นเปลี่ยนแปลง ที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่รู้จัก และมีความกังวลว่า พวกเราจะพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ เราพยายามทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นสถาบันหลักของชาติ โดยเจตนาที่เราเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 เป็นแนวคิดที่อยู่บนฐานความคิดว่าสถาบันหลักของชาติ จะดำรงได้ด้วยความยินยอมของประชาชน ไม่มีสถาบันใดที่จะดำรงอยู่ได้ด้วยความกดปราบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะเตือน ให้สมาชิกผู้แทนราษฎร ตั้งสติและมองการณ์ไกลในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง
นายชัยธวัชกล่าวว่า เราไม่เชื่อว่า สิ่งใดจะดำรงอยู่ในด้วยสถิตเหมือนเดิมทุกประการจะมั่นคง โดยมีการกล่าวว่า การเลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นการล้มล้างสถาบัน ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างที่ตนพยายามอธิบาย ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ในระบอบดังกล่าว เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุข ต้องอยู่เหนือการเมือง ซึ่งอันตรายมากที่ต่างฝ่ายต่างดึงเรื่องนี้เข้ามาพัวพัน ในความขัดแย้งทางการเมือง เราพยายามเสนอว่าต้องช่วยกันนำสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความขัดแย้งทางการเมือง
นายชัยธวัชกล่าวอีกว่า ตนอยากเชิญชวนสมาชิกรัฐสภา ลงมติให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เหตุผลไม่ใช่เพราะรักนายพิธา หรือเห็นชอบกับพรรคก้าวไกล แต่เป็นการลงมติเพื่อคืนความปกติให้แก่รัฐสภาของไทย และตนขออวยพรให้ประชาชนซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตย คุ้มครองสมาชิกรัฐสภา ที่จะตัดสินใจอย่างกล้าหาญ ตามเจตจำนงที่ประชาชนได้แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง