หอการค้า ชี้ รวมเสียงเพิ่มโหวต ‘พิธา’ ไม่ง่าย เปิด 3 แนวทางบวกต่อเศรษฐกิจไทย

หอการค้า ชี้รวมเสียงเพิ่มโหวต ‘พิธา’ นั่งนายกฯไม่ง่าย คาดเด้งชื่อใหม่ ‘เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง’ ลุ้นชิงรอบ 2

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคมว่า ขณะนี้จุดที่สำคัญมากๆ คือยังไม่มีข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ใครจะถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ เพราะ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (กก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็มีการใช้ข้อสังเกตในรัฐสภาว่าเมื่อมีการโหวตชื่อนายกฯแล้ว ไม่ควรจะโหวตซ้ำ แต่พรรคก้าวไกลก็มีแนวคิดว่าอยากให้นายพิธาได้รับการเสนอชื่อโหวตในรอบที่ 2 แม้ระหว่างนี้มีการประชุมระหว่างพรรค ก.ก.และพรรคเพื่อไทย (พท.) แต่ข้อสรุปยังไม่ชัดเจน ดังนั้น ยังมีโอกาสที่นายพิธาจะถูกเสนอชื่อในรอบ 2 ยังคงมีอยู่

2.ถ้าเป็น 8 พรรคร่วมรัฐบาลเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จะเป็นกรอบที่ตกลงกันไว้จะมีการเสนอชื่อจากบุคคลในพรรค พท. ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ 3.จากกระแสข่าวจะมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็มีความเป็นไปได้ แต่หากโหวตแล้ว 8 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยังเกาะกันแน่น ก็จะไม่มีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร และจะถูกปัดตก และจะทำให้ภาพของ พล.อ.ประวิตรจะเข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในรอบถัดๆ ไปจะดูไม่สง่างาม

ต่อมาหากมีการหักขั้ว 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ร่วมกัน จะกลับกลายมาเป็นว่าจะเสนอชื่อแคนดิเดตจากพรรคใดนั้น คาดว่าจะมีชื่อนายเศรษฐา น.ส.แพทองธาร หรือ พล.อ.ประวิตร หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย (ภท.) รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเร็วเกินไปสำหรับการที่จะตอบว่าใครจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ

Advertisement

“แต่ที่สำคัญเชิงการเมืองขณะนี้ การรวมตัวของกลุ่มแสดงความเห็นไม่พอใจเสียงโหวตเลือกนายกฯในรอบแรก ที่พรรค ก.ก.รณรงค์ให้มีม็อบเกิดขึ้น ม็อบยังไม่เยอะ ไม่มีสถานการณ์ที่จะก่อความรุนแรง และยังมีจำนวนไม่มาก ดังนั้น สถานการณ์การเมืองยังอยู่ช่วงปกติ อยู่ในโหมดการแสดงความเห็นตามระบบประชาธิปไตยและไม่บานปลาย” นายธนวรรธน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามช่วงสัปดาห์หน้าว่าจะมีการจุดกระแสให้เกิดม็อบในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดต่างๆ มาก หรือน้อยอย่างไร ซึ่งก็เป็นความเสี่ยงในระดับต่ำ เพราะหลังผลโหวตในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (13 กรกฎาคม) ภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยควรจะแสดงออกแล้ว ดังนั้น ม็อบยังไม่มีสถานการณ์รุนแรง

ถ้าเป็น พท.ดันตั้ง รบ.ใหม่ไวขึ้น

นายธนวรรธน์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การโหวตเลือกนายกฯรอบถัดไปอาจจะมีการเปลี่ยนชื่อแคนดิเดตนายกฯ โดยเสนอชื่อจากพรรค พท. หากมีการโหวตสำเร็จจะใช้เวลาการจัดตั้งรัฐบาลสั้นขึ้น ขณะเดียวกัน หากเป็นแคนดิเดตจากพรรค พท.แล้วโหวตไม่ผ่าน ดังนั้น การเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจะเป็นไปตามครรลองที่สง่างามตามประชาธิปไตย โดยการจับขั้วใหม่ ทั้งนี้ หากมีการโหวตในครั้งที่ 3 อาจจะได้ตัวนายกรัฐมนตรี โดยที่อยู่ในกรอบเดือนสิงหาคม และเบื้องต้นบรรยากาศทางเศรษฐกิจยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน

Advertisement

“ซึ่งจุดนี้จะเข้าสู่กระบวนการว่าจะมีการย่นระยะเวลาคัดเลือกนายกฯ หรือไม่ หากนายพิธายังถูกเสนอชื่อ ดังนั้น กระบวนการที่จะได้รัฐบาลใหม่อาจต้องใช้เวลา เนื่องจากถ้าจะให้นายพิธาได้รับคะแนนเสียงถึง 376 เสียง มากขึ้นจาก 324 เสียง ภายใน 1 สัปดาห์ โดยจะต้องเพิ่มขึ้นอีก 52 เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากเดิมที่โหวตให้เพียง 13 เสียง ไม่ใช่เรื่องง่าย” นายธนวรรธน์กล่าว

ชี้ 3 แนวทางบวกต่อ ศก.ไทย

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับแนวทางที่ดีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทย มี 3 แนว คือ 1.การแสดงออกอย่างสันติวิธี การแสดงความคิดเห็น หรือมีการประท้วงในพื้นที่ต่างๆ นอกสภา ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ และมีความเหมาะสมตามกฎหมาย 2.การจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพอย่างรวดเร็ว ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล ถือเป็นความเหมาะสม ขณะเดียวกัน กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และไม่สามารถเสนอชื่อนายกฯสำเร็จ หรือหากมีการสลายขั้วรัฐบาล มีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากใหม่จะเป็นความเหมาะสมตามประชาธิปไตย โดยที่ต้องมีคะแนนเสียงเสถียรภาพในรัฐสภา และมีรัฐบาลที่จะมีเสถียรภาพ

“ดังนั้น ต้องติดตามการเสนอชื่อโหวตนายกฯ ในครั้งที่ 2 ว่าจะเป็นนายพิธาหรือนายเศรษฐา แต่คาดว่ายังอยู่ในการทำงานร่วมกันของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า และ 3.การจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนสิงหาคม หรือกันยายนนี้ เพราะจะมีผลต่อการจัดทำงบประมาณปี 2567 มีผลต่อการนำเสนอนโยบายต่อรัฐสภา จะทำให้ภาคธุรกิจไทยและต่างประเทศได้รู้ถึงทิศทาง และแนวทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งทำให้มีความมั่นใจในการลงทุน

ทั้งนี้ ด้านเศรษฐกิจ โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังคงคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2566 อยู่ในกรอบที่ 3.5% โดยที่สำคัญจะมีการเข้ามาของนักท่องเที่ยวถึง 25-30 ล้านคน และเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวโดดเด่นในไตรมาสที่ 4/2566 การส่งออกจะค่อยๆ ดีขึ้น และภาวะการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวจะดีขึ้นในไตรมาสที่ 3/2566

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image