83 ปี ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ นักคิดผู้ทรงอิทธิพล ปัญญาชนแห่งยุคสมัย 

83 ปี ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ นักคิดผู้ทรงอิทธิพล ปัญญาชนแห่งยุคสมัย 

แวดวงวิชาการ สูญเสียครั้งใหญ่ หลังจาก ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยเสียชีวิต ด้วยวัย 83 ปี หลังล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด

โดยมีคนในแวดวงต่างๆ โดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์ ได้ออกมาแสดงความอาลัยต่อการจากไปของอาจารย์นิธิจำนวนมาก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Advertisement

ประวัติส่วนตัว 

ศาสตรา​จารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2483 ที่เชียงใหม่ ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเจ้าตัวมักเรียกตัวเองว่าเป็น เจ๊กปนลาว (จ.ป.ล.) (มาจากการที่เป็นคนจีนที่เกิดในเชียงใหม่ ซึ่งมีวัฒนธรรมร่วมกับลาว) จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา และสำเร็จการศึกษาสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมาเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2519 กลับมารับราชการตามเดิม จนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์โดยวิธีพิเศษ เข้าโครงการลาเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดใน พ.ศ.2543

Advertisement

หลังจากสิ้นภาระการสอนในระบบมหาวิทยาลัยปกติ ปัจจุบันยังคงเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแสดงความคิดสู่สังคมผ่านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งได้บุกเบิกมาก่อนหน้านี้แล้ว และผ่านรูปแบบบทความทางหนังสือพิมพ์ นิตยสารอยู่เป็นประจำ ในการลงประชามติรับร่างธรรมนูญปี พ.ศ.2550 นิธิยังเป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

 

สำหรับการทำงานในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ

นิธิ ได้เข้ามารับหน้าที่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง พ.ศ.2553 ยุติลง ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2553 โดยทำหน้าที่ยกร่างแผนปฏิบัติการที่สามารถนำไปปฏิบัติแก้ไขปัญหาความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน 19 คน ทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ

การศึกษา 

  • จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา
  • สำเร็จการศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ ทั้งปริญญาตรี และโท จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รางวัลที่ได้รับ 

  • รางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ.2545
  • รางวัลนักวิจัยดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ

หนังสือ

อ.นิธิ ได้เขียนหนังสือ และบทความมากมาย อีกทั้งเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์มติชน และนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ โดย อ.นิธิ มีผลงานสำคัญ ดังนี้ 

  • อิสลามสมัยแรก (2511)
  • ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก (2521)
  • การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ (2523)
  • ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา (2523)
  • วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ (2525)
  • หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย (ส021) / นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาคม พัฒิยะ (2525)
  • ปากไก่และใบเรือ : รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรม และประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (2527)
  • ศรีรามเทพนคร : รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น / อาคม พัฒิยะ และนิธิ เอียวศรีวงศ์ (2527)
  • สุนทรภู่ : มหากวีกระฎุมพี (2528)
  • การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (2529)
  • สุนทรภู่ดูโลกและสังคม / นิธิ เอียวศรีวงศ์ และสมบัติ จันทรวงศ์ (2529)
  • เกียวโต ใต้ชะเงื้อมดอยสุเทพ (2532)
  • ท่องเที่ยวบุญบั้งไฟในอีสาน : บุญบั้งไฟต้องรับใช้ชาวยโสธรไม่ใช่ชาวยโสธรรับใช้บุญบั้งไฟ (2536)
  • ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5 (2536)
  • วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย (2536)
  • สภาพเศรษฐกิจสังคมไทยยุคใหม่ : จริยธรรมในการศึกษาสำหรับอนาคต (2536)
  • สองหน้าสังคมไทย : บทวิพากษ์โครงสร้างอารยธรรมไทย (2539)
  • การปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศไทย (2543)
  • การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.15
  • อาณาเขต: การพยายามทำให้เป็นนิยายเรื่องหนึ่ง
  • ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก
  • โมงยามไม่ผันแปร
  • ความไม่ไทยของคนไทย
  • ไฮเทคาถาปาฏิหาริย์
  • วัฒนธรรมคนอย่างทักษิณ
  • (ต่าง) คิดในคอก (ตน) ว่าด้วยวัฒนธรรมและวิธีคิด
  • ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ ว่าด้วยประเพณี ความเปลี่ยนแปลง และเรื่องสรรพสาระ
  • โขน, คาราบาว, น้ำเน่าและหนังไทย
  • ลิงหลอกไพร่
  • เบี้ยไล่ขุน
  • พิพากษ์ศาล

หนังสือแปล

  • ประวัติศาสตร์เยอรมัน (2511) / ฮูแบร์ตุส เลอเวนสไตน์ เขียน; นิธิ เอียวศรีวงศ์, แปล
  • พุทธศาสนา : สาระและพัฒนาการ (2514) (Buddhism, its essence and development, by Edward Conze)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image