ยุกติ ยก อ.นิธิ ‘ดั่งสายรุ้งแห่งยุคสมัย’ หนึ่งในรุ่นใหญ่ไม่กี่คนกล้าดันแก้ ม.112 ส่งรัฐสภา

ยุกติ ยก อ.นิธิ ‘ดั่งสายรุ้งแห่งยุคสมัย’ หนึ่งในรุ่นใหญ่ไม่กี่คนกล้าดันแก้ ม.112 ส่งรัฐสภา

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการ ‘วิชาการ’ เมืองไทย กับการจากไปของ ศาสตรา​จารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักวิชาการผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย หลังล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด ในวัย 83 ปี บุคลากรในแวดวงวิชาการ ตลอดจนหลากวงการ ทั้งนักการเมืองและคนดัง ร่วมไว้อาลัยการจากไป

ดังเช่น  รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความไว้ว่า

“อาลัยอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์

Advertisement

เข้าใจว่าหลายๆ คนคงรับรู้ข่าวคราวการจากไปของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์แล้ว ท่านจากไปเมื่อก่อนเที่ยงวันของวันนี้ (7 สิงหาคม 2566) นี่เอง

ผมรู้จักอาจารย์นิธิครั้งแรกๆ ก็สมัยเรียนปริญญาโท ตอนนั้นอาจารย์ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ผมตามไปฟังด้วยความตื่นเต้น แล้วผมก็ตั้งคำถามในเชิงวิจารณ์ท่านไปคำถามหนึ่ง ผมยังจำได้อยู่จนทุกวันนี้ว่าผมถามว่าอะไร แล้วอาจารย์ตอบว่าอะไร

จากนั้นมาผมก็จัดอาจารย์เข้ากลุ่มปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง ที่ผมวิจารณ์อย่างจริงจังในงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของผม แต่กรรมการวิทยานิพนธ์ของผมคนหนึ่งกล่าวกับผมว่า “คุณจะลำบากหน่อยหากจะจัดอาจารย์นิธิให้อยู่ในกลุ่มนั้น เพราะอาจารย์เป็นปัญญาชนที่สลับซับซ้อนเกินกว่าคนอื่นๆ” ที่ผมวิจารณ์ไว้

Advertisement

ผมค่อยๆ เรียนรู้ความจริงข้อนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ได้มารู้จักใกล้ชิดกับอาจารย์นิธิมากขึ้นก็ในช่วงปลายของชีวิตของอาจารย์แล้ว

งานเขียนอาจารย์นิธิที่ผมว่ามีคนน้อยคนสนใจอ่านคือวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่องสงครามปราบฮ่อของอาจารย์ ผมสนใจเพราะอาจารย์เขียนถึงพื้นที่วิจัย ที่ผมในขณะเริ่มอ่านงานชิ้นนั้นของอาจารย์ก็เป็นช่วงที่กำลังเริ่มทำวิทยานิพนธ์เรื่องคนไทในเวียดนาม จากงานชิ้นนั้น ผมต่อภาพความเข้าใจ “สิบสองจุไท” ในความรับรู้ของชนชั้นนำสยามได้พอสมควร ทำให้เข้าใจได้ว่า ชนชั้นนำสยามในปลายศตวรรษที่ 19 และก่อนหน้านั้น ไม่ได้รู้จักสิบสองจุไทเท่าใดนักเลย

ช่วงที่ได้ร่วมงานกับอาจารย์มากช่วงหนึ่งคือในช่วงการเมืองเหลือง-แดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องให้แก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อาจารย์นิธิเป็นหนึ่งในนักวิชาการไทยอาวุโสเพียงไม่กี่คน (หนึ่งในนั้นที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งคืออาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) ที่กล้าออกหน้าและร่วมผลักดันการรวบรวมรายชื่อประชาชนส่งรัฐสภา ซึ่งก็ถูกประธานสภาสมัยนั้น (พรรคอะไรไปค้นดูกันได้ไม่ยาก) ปัดตกไป ไม่รับให้สภาพิจารณา

โอกาสหนึ่งที่ผมดีใจมากคือโอกาสที่ได้พาอาจารย์นิธิไป “เที่ยว” เวียดนามเหนือ ในเดือนมีนาคม 2559 เมื่อไปถึงฮานอยวันแรก ผมพาอาจารย์ไปกินเฝอร้านนั่งยองๆ ข้างถนน จากนั้นก็ไปจิบเบียร์เฮยหรือเบียร์สดแบบฮานอยริมถนนต่อ ผมถามอาจารย์ว่า อาจารย์มาครั้งนี้อยากได้อะไรมากที่สุด อาจารย์ตอบมาว่า “ผมอยากเห็นบ้านนาน้อยอ้อยหนู กับไปดูสมรภูมิที่เดียนเบียนฟู” แล้วยังบอกต่อว่า “ผมว่าเบียร์สดเวียดนามเป็นเบียร์ที่อร่อยที่สุดใน Southeast Asia แล้วล่ะ”

ผมพาอาจารย์ท่องไปอย่างค่อนข้างสมบุกสมบันในดินแดนชาวไทในเวียดนามที่ผมรู้จัก พาไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านต่างๆ เท่าที่จะพาอาจารย์ไปได้ แถมยังได้ไปในอีกหลายๆ ที่ที่ในอดีตยังไม่เคยได้ไป แต่ในหลายๆ ที่ที่ได้ไป ก็กลับกลายเป็นอดีตที่ไม่อาจไปเยือนแล้วเนื่องจากกลายเป็นพื้นที่ใต้ผืนน้ำเหนือเขื่อนขนาดยักษ์ที่กั้นแม่น้ำดำไปเสียแล้ว

ที่ “นาน้อยอ้อยหนู” ผมใช้ตาและกล้องของผมเอง เดินไปสำรวจหนองน้ำในตำนานด้วยการนำทางของชาวบ้านที่นั่น แล้วจึงถ่ายภาพ “แม่เบ้า” แถนผู้ให้กำเนิดมนุษย์บน “เมืองลุ่ม” (หมายถึงเมืองมนุษย์ ตรงข้ามกับเมืองฟ้าหรือเมืองแถน) กลับมาให้อาจารย์นิธิดู จนกลับมาอาจารย์ได้ขอยืมภาพไปใช้เป็นหน้าปกหนังสือที่อาจารย์เขียนถึงคนไทในเวียดนาม

ส่วนสมรภูมิเดียนเบียนฟู นอกจากตัวเมืองและสมรภูมิรบที่เดียนเบียนฟูเองแล้ว ผมพาอาจารย์ไปดูค่ายทหารและกองบัญชาการรบของ “หวอเงวียนซ้าป” ซึ่งอยู่ในชุมชนชาวไทที่ตั้งในหุบเขาห่างจากเดียนเบียนฟูไปราว 20 กิโลเมตร ก่อนที่กองทัพเวียดมิงห์จะบุกเข้ายึดเดียนเบียนฟู ซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่ที่ฝรั่งเศสยึดครองไว้เป็นที่มั่นสุดท้ายก่อนพ่ายไปในปี 1954

ทริปนั้นผมได้รับความประทับใจและเรียนรู้อะไรมากมายจากคำถามของอาจารย์ ส่วนประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบนักมานุษยวิทยาของผม คงทำให้อาจารย์รู้สึกได้ถึงความบ้าบิ่นของนักมานุษยวิทยา จนทำให้อาจารย์เปรยออกมาระหว่างทางในค่ำคืนหนึ่งหลังจากพวกเราต้องหลบออกมาจากบ้านชาวบ้านที่เลี้ยงดูพวกเราด้วยเหล้าแรงๆ และมีทีท่าว่าจะจบลงได้ยากว่า “ผมโชคดีที่ไม่ได้เลือกเรียนมานุษยวิทยาแบบอาจารย์ยุกติ”

หลังกลับจากเวียดนาม อาจารย์เขียนหนังสือ “ว่างแผ่นดิน” ซึ่งผมอ่านและประทับใจมากจนเขียนรีวิวเอาไว้ ผมเข้าใจว่าอาจารย์นิธิน่าจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับ Zomia ในดินแดนที่ชาวไทอาศัยอยู่ตั้งแต่เวียดนามตอนเหนือ จีนตอนใต้ พม่าตอนเหนือ และอินเดียตอนเหนือต่อเป็นหนังสือเล่มอยู่ เพราะอาจารย์คอยถามผมเกี่ยวกับประเด็นยิบย่อยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็ตอบให้แล้วจำไม่ค่อยได้สักคำถามหนึ่ง

เสียดายที่ท่านมาจากไปเสียก่อน ผมยังหวังว่าจะได้เห็นต้นฉบับหรือร่างหนังสือเล่มนี้ว่าอาจารย์กำลังคิดอะไรอยู่อย่างที่ผมเข้าใจหรือเปล่า

ผมคิดว่า (นี่เป็นสำนวนที่ผมติดมาจากอาจารย์นิธิ) อาจารย์นิธิเป็นดั่งสายรุ้งแห่งยุคสมัย ที่ใครๆ ต่างก็มีโอกาสได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัส ในต่างแง่มุมและประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน จะใกล้หรือไกล ก็ล้วนแต่จะต้องได้สัมผัสบ้างทั้งสิ้น

ไม่ว่าสายรุ้ง “รังรอง” เส้นนี้จะมีเฉดสีที่พลิกผันไปมาอย่างไร ก็สุดแล้วแต่ความเป็นคนของเราในบริบทและประสบการณ์ชีวิตที่พลิกผันจะทำให้เป็นไปได้ หากแต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงอิทธิพลของสายรุ้งที่ปรากฏขึ้นในช่วงแห่งความชุ่มฉ่ำ อย่างมีความหวัง แม้ไม่ฉูดฉาดร้อนแรง แต่รุ่มรวยพลังงานและฉานฉายคมคายเสมอ

ผมเสียใจกับการจากไปของอาจารย์ครับ ขอบคุณที่อาจารย์วางแนวทางหลายๆ อย่างไว้ให้แก่สังคมไทย ขอบคุณที่ได้รู้จักและได้เป็นกัลยาณมิตรแก่กันในบั้นปลายของชีวิตอาจารย์

ยุกติ มุกดาวิจิตร”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image