ยุกติ เชื่อ ผลเลือกตั้ง 66 ส่ง ‘อ.นิธิ’ เดินทางสู่ภพหน้าอย่างมีหวัง หลังเปรย ‘อาจอยู่ไม่ทันเห็น’

ยุกติ เชื่อ ผลเลือกตั้ง 66 ส่ง ‘อ.นิธิ’ เดินทางสู่ภพหน้าอย่างมีหวัง หลังเปรย ‘อาจอยู่ไม่ทันเห็น’

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ภาคประชาชนจัดงานรำลึก ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา
บรรยากาศทั่วไปมีผู้ทยอยเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดพื้นที่สำหรับเขียนข้อความ “คิดถึงอาจารย์นิธิ” บริเวณหน้าอนุสรณ์สถานฯ

ในช่วงท้าย รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) กล่าวไว้อาลัย ความบางส่วน ดังนี้

“บทบาททางวิชาการของนิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้ว ทั้งในผลงานด้านประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา ผลงานนิธิไม่เพียงสร้างความรู้ให้แก่สังคม หากแต่ยังเป็นการตั้งคำถามกับมายาคติที่คนปัจจุบันมีต่ออดีตและสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นมายาคติเกี่ยวกับความเป็นชาติไทย มายาคติเกี่ยวกับทุนนิยมไทย หรือแม้แต่มายาคติเกี่ยวกับชนชั้นกลาง

Advertisement

นอกเหนือจากการทำงานวิชาการบนหอคอยงาช้าง นิธิยังมีบทบาทสำคัญในการวิพากษ์สังคม ทั้งด้วยบทความขนาดกลางที่เขียนลงวารสารทางวิชาการ และบทความขนาดเล็กที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ หรือกระทั่งให้คำปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ในคอลัมน์ แล้วเราก็ปรึกษากัน ในนามปากกา รังรอง

ผลงานเหล่านี้ครอบคลุมประเด็นและแง่มุมต่างๆ ทั้งความรัก การเมือง กฎหมาย ภาษา อาหาร เครื่องดื่ม แฟชั่น ไปจนกระทั่ง เพลง การแสดง ศาสนา พิธีกรรม และอื่นๆ อีกมากมาย จนเรียกได้ว่า แทบจะไม่มีเรื่องอะไรเลยที่นิธิยังไม่เคยเขียนถึง

ในช่วงท้ายของชีวิต นิธิตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของสถาบัน องค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ ด้วยคำถามประเภท ทหารมีไว้ทำไม ระบบราชการมีไว้ทำไม ชาติมีไว้ทำไม กระทั่งมหาวิทยาลัยมีไว้ทำไม

Advertisement

คำถามเหล่านี้ชวนให้เราตั้งข้อสงสัยต่อสิ่งที่เราคุ้นเคยเสียจนกระทั่งหลงคิดไปว่าเป็นสิ่งจำเป็นขาดแคลนมิได้ หากแต่อันที่จริงแล้วมันกลับซ่อนความบิดเบี้ยว และถ่วงรั้งความเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำหน้าที่ที่สมบูรณ์ตามยุคสมัยที่ควรจะเป็นของพวกมัน หรือบางครั้ง สถาบันเหล่านี้เองกลับกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความเหลื่อมล้ำ ค้ำจุนความอ-ยุติธรรม ไปเสียอีก

นอกเหนือจากการทำงานวิชาการและงานเขียนวิพากษ์สังคมแล้ว นิธิยังเป็นนักวิชาการที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทั้งในเชิงความคิด หรือการร่วมผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ในขบวนการปกป้องสิทธิในการครอบครองและใช้ทรัพยากรของประชาชน

ในประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง นิธิมีส่วนร่วมเป็นผู้นำคนหนึ่งของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ที่นักวิชาการ ศิลปิน และประชาชนร่วมกันรวบรวมรายชื่อประชาชนเกินกว่า 30,000 รายชื่อ เพื่อเสนอขอแก้ ม.112 เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่นักวิชาการจำนวนมากหลีกเลี่ยง แม้แต่จะลงชื่อสนับสนุนก็ยังไม่สะดวกกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ที่ขบวนการคนหนุ่มสาวกลับมามีบทบาทนำในการเรียกร้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง นอกเหนือจากบทวิเคราะห์ทางวิชาการแล้ว นิธิยังเข้าร่วมแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในฐานะมวลชนผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเหล่าเยาวชน เช่น ร่วมในขบวนการยืนหยุดขัง ที่เชียงใหม่ และนิธิยังมีส่วนในการเป็นพยานในคดีสำคัญๆ ที่มีการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิการแสดงออกของประชาชน

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ เมื่อถึงวาระที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ล่วงลับไป ใครต่อใครต่างก็ระลึกถึงเขาในมิติต่างๆ ที่หากไม่ได้เกี่ยวข้องหรือรู้จักโดยตรง ก็จะต้องมีบางส่วนเสี้ยวของผลงานเขาที่ก่ออิทธิพลต่อความคิดของใครที่ได้อ่านงานเขา นั่นเพราะนิธิ อ่าน เขียน อย่างกว้างและลึกซึ้ง ตลอดจนแลกเปลี่ยนและร่วมเรียนรู้กับมิตรทางวิชาการและการเมืองอย่างเท่าเทียมและเคารพกันและกันเสมอมา และที่มากไปกว่านั้น นิธิยังเป็นนักสู้เพื่อประชาชนคนสามัญอยู่เสมอมา

เป็นที่รู้กันว่าอาจารย์นิธิชอบสะสมนาฬิกาอยู่จำนวนหนึ่ง นิธิเคยกล่าวว่า ไม่ว่าเราจะหมุนเข็มนาฬิกากลับกี่ครั้ง เข็มก็เดินหน้าเสมอ” นั่นสอดคล้องกับการที่นิธิเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้สนใจอดีตที่แช่แข็งหรือการหยุดปัจจุบันไว้ให้กลายเป็นอดีต

หรือกล่าวแบบรวบรัด นิธิไม่ได้เป็นนักอนุรักษนิยมตามที่บางคนสงสัยอย่างแน่นอน หากแต่นิธิศึกษาและวิพากษ์อดีตและปัจจุบันอย่างเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนมีส่วนร่วมผลักดันให้อดีตและปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคต เหมือนดังที่เขาเห็นว่า เวลาเดินหน้าเสมอ

ในวาระสุดท้ายของเขา แรกทีเดียว นิธิเปรยว่า เขาอาจจะอยู่ไม่ทันได้เห็นผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.66 แต่เมื่อผลออกมาแล้วและก็เป็นไปเกินกว่าที่เขาคาด ว่าพรรคการเมืองที่เสนอการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนจะชนะการเลือกตั้ง นั่นอาจจะเป็นขวัญกำลังใจที่สังคมไทยจะมอบให้แก่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้เขาได้เดินทางไปสู่ภพหน้าอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง

ในวันนี้ แม้ว่าเราจะสูญเสียนิธิไปแล้ว แต่ผลงานอันเป็นดั่งจักรวาลความรู้ ตลอดจนจิตวิญญาณปัญญาชนของคนสามัญของนิธิ เอียวศรีวงศ์จะยังคงอยู่ ให้คนรุ่นหลังได้ถกเถียงด้วย หรืออาศัยใช้วิพากษ์มายาคติต่างๆ ตลอดจนสานต่อความหวังถึงสังคมที่เสรีและเป็นธรรมในอนาคตอันใกล้กันต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image