‘ดุลยภาค’ แนะวิธีลดความดื้อ ‘ทหารพม่า’ ใช้ศิลปะการทูตกดดัน แก้เกมโรคระแวงต่างชาติ-รังแกปชช.

‘ดุลยภาค’ แนะวิธีลดความดื้อ ‘ทหารพม่า’ ใช้ศิลปะการทูตกดดัน แก้เกมโรคหวาดระแวงต่างชาติ – รังแกปชช.

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 สิงหาคม ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องในวาระ 78 ปี วันสันติภาพไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรม PRIDI Talks #22 เสวนา “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา”

บรรยากาศภายในงาน มีการเสวนาในหัวข้อ “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” โดยมีนักการเมือง นักวิชาการร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ได้แก่ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม, รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย และนางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ และกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ตนขอปูพื้นความรู้โครงสร้างการเมืองการปกครองของพม่า ข้อสังเกตของตนคือ พม่าเต็มไปด้วยสีสันความหลากหลายของชาติพันธุ์หลายกลุ่ม แต่ก็เต็มไปด้วยรอยร้าวและเหลี่ยมคม เหมือนการแตกกระจายของกระจกสี เพราะแต่ละกลุ่มมีความขัดแย้งกัน ชนกลุ่มน้อย-ใหญ่ รัฐบาลพม่ากับฝายต่อต้าน สถานการณ์ค่อนข้างสลับซับซ้อนและแตกต่างจากไทยมาก เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ยากจะแก้ถอน แต่น่าสนใจยิ่งเมื่อย่อนไปราว 12 ปีที่แล้ว มีความก้าวหน้าในกระบวนการสันติภาพ เมื่อพม่าปฏิรูปการเมืองขนานใหญ่ ในสมัยประธานาธิดีเต็ง เส่ง และตามมาด้วยรัฐบาล NLD ที่นำโดยอองซาน ซู
จี 10 ปีโดยประมาณ

Advertisement

“ผมเห็นว่ารัฐพม่ามีกระบวนการสร้างสันติภาพและทำให้กระบวนการนั้นมีความเป็นสถาบันมากขึ้น รัฐบาลพม่าตั้งทีมงานสันติภาพ ตั้งคณะเจรจาขึ้นมา มีตัวแทนจากภายนอก องค์การระหว่างประเทศเข้ามาให้ทุนช่วยเหลือในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสันติภาพ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์เองจากที่แตกกระจายออกไป ก็มีการรวมกลุ่มกันเป็นแนวร่วมเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทหารพม่า

จุดหักเหในประวัติศาสตร์คือตุลาคม 2015 ซึ่งช่วงนั้นมีการเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ ที่น่าสนใจยิ่งคือมีกองกำลังชาติพันธุ์ 8 กลุ่มเข้าร่วมลงนามสันติภาพ และตอนหลังก็มี 2-3 กลุ่มตามมาอีกที ทางฝ่ายรัฐบาลน่าสนใจ เพราะในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ 2015 เขาเอารัฐบาลพม่ากับกองทัพพม่า และรัฐสภา มารวมเป็นฝ่ายเดียว เรียกว่าฝ่ายรัฐบาล อีกฝั่งคือกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ดังนั้นตัวแสดงมี 2 กลุ่ม” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

เมื่อถามว่ารัฐบาลไทยควรทำอะไรอย่างเร่งด่วน เพื่อเมียนมาและอาเซียน ?

Advertisement

รศ.ดร.ดุลยภาค ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่า เกิดจากระบบคิดและความชินชาในการทำสงครามสังหารประชาชนของทหารพม่า

“แล้วทหารพม่าเป็นตัวแสดงที่ดื้อมาก การที่จะทำให้คณะนายพลดูเชื่อง น่ารักขึ้น มันต้องอาศัยศิลปะทางการทูตอย่างมากทีเดียว ผมมองว่าทหารพม่าเป็นโรคหวาดระแวงต่างชาติ เขากลัวการแทรกแซงกิจการภายใน กลัวแม้กระทั่งมหาอำนาจยกทัพทางชายหาดตามแนวชายฝั่งทะเล แล้วบุกรุกเข้ามา เห็นได้ชัดตอนที่นายพลตาน ฉ่วย ขึ้นบริหารประเทศ แล้วจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐอเมริกา บอกพม่าในทำนองว่า เป็นรัฐนอกคอก เป็นด่านหน้าแห่งทรราช

เขาแก้เกมโดยการไปตั้งศูนย์บัญชาการลับที่เนปิดอว์ มีการขุดอุโมงค์ใต้ดิน มีการเชิญช่างเทคนิคเกาหลีเหนือมาช่วยวางโครงข่ายป้องกันทางอากาศ มีการตั้งกองพันนิวเคลียร์ขึ้นมา แล้วส่งนายทหารไปที่รัสเซีย เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นพอควร

หลังรัฐประหาร กลายเป็นว่าทหารพม่าดูหลังจะชนฝามากขึ้น เนื่องจากใครๆ ก็ไม่เอาทหารพม่า มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่าเมื่อใดก็ตามที่ประเทศวุ่นวาย จะต้องใช้ยุทธ์ศาสตร์สงครามประชาชนเข้ามา แม้ว่าจะมีการบุกรุกจากต่างประเทศ ด่านสุดท้ายเขาจะเอาประชาชนเป็นแนวร่วม แต่คำถามปัจจุบันคือ จะไปเอาประชาชนมาร่วมรบได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนองก็ไม่เอาเผด็จการ ประกาศทำสงครามปฏิวัติเพื่อสร้างสาธารณรัฐประชาธิปไตย สิ่งนี้ทำให้ทหารพม่ารู้สึกหลังชนฝามากขึ้นเรื่อยๆ และมีแรงกดดันว่าจะถูกแทรกแซง ล้มระบบทหารขึ้นเรื่อยๆ ทางแก้ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่น่ากลัวทีเดียว

“ทางแก้นั้นคือ ให้กองทัพพม่าเป็นรัฐแสนยานุภาพ สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซีย ดองกับเกาหลีเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ของพม่า ทำให้เขาเล่นเกมนี้ได้ และประสบความสำเร็จแบบสม่ำเสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีแรงกดดันจากตะวันตก จากอาเซียน เขาก็จะสไลด์เข้าหารัสเซีย จีน หรือแม้กระทั่งอินเดีย ผมคิดว่าทหารพม่ามีออฟชั่น มีทางเลือก ถ้าอาเซียนข่มขู่รุนแรงหรือขับพม่าออกจากการเป็นสมาชิกอาเซียน ผมทำนายได้เลยว่าเขาก็เข้าหารัสเซีย เกาหลีเหนือ แนวร่วมอื่นๆ และไม่ง้ออาเซียนมากขึ้นด้วยซ้ำ”

แล้วอย่างนี้ เราจะแก้เกมอย่างไรกับผู้นำทหารที่เป็นโรคหวาดระแวงต่างชาติ ผมว่าการแก้เกมคือ กดดันได้ แต่กดดันแบบทีละขั้นตอน ผ่อนสั้นผ่อนยาว เช่น ตอนนี้พม่ามีลักษณะเหมือนรัฐล้มเหลว ธรรมชาติอย่างหนึ่งคือตัวรัฐบาลไม่สามารถส่งมอบบริการสาธาณะให้กับประชาชนได้ เพราะรัฐเอาทำสงครามและเป็นศัตรูกับประชาชน” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวอีกว่า บทบาทของอาเซียนกับไทย ในฐานะมนุษยธรรม ถ้าประชาชนพม่าได้รับความเดือดร้อนและรัฐบาลไม่มีสมรรถนะที่พอเพียงในการทำงานสาธารณะ ทำไมไม่ระดมทรัพยากร หรืองบประมาณมา Empower ให้กับเครือข่ายรัฐบาล NUG (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ) หรือรัฐบาลของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ เช่น KNPP KNU ซึ่งเขาก็มีโครงสร้างจำลองคล้ายๆ กับรัฐบาลขนาดย่อม

“ทำไมเราไม่ขู่ทหารพม่าในลักษณะแบบนี้ รังแกประชาชนใช่ไหม เราจะไปช่วยเหลือผ่านรัฐบาล NUG เพื่อดูแลประชาชน ทำเศรษฐกิจชายแดน ทีนี้ถ้ารัฐบาลพม่าไม่อยากให้เราไปช่วยเหลือตรงนี้ ก็ต้องลดความรุนแรงในการข่มขู่ประชาชน และทหารพม่าต้องดื้อน้อยลง มาเอนเกจกับทางอาเซียน หรือสหประชาชาติ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แบบนี้ผมว่าพอทำได้ หรือสถานการณ์ในไทยเอง เราเป็นรัฐด่านหน้า ตั้งแต่ยุคสงครามกัมพูชาแล้ว” รศ.ดร.ดุลยภาคชี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image