วิษณุ เผย ได้รับหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ ‘ทักษิณ’ แล้ว ยืนยัน ยังอยู่รพ.ตำรวจ

‘วิษณุ’ รับ ‘ทักษิณ’ อยู่ รพ. ตำรวจจริง เผย ขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการส่วนตัว ชี้ ทางครอบครัวชินวัตรไม่เคยมาปรึกษา ยอมรับ เรื่องถึงมือแล้ว ยืนยัน ดำเนินการตามขั้นตอน

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการ รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สังคมแคลงใจว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกส่งตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กรมราชทัณฑ์ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ จริงหรือไม่ และมีเสียงวิจารณ์ว่าหลบไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชน ว่า หากตนพอจะมีเครดิตอยู่บ้าง ก็ขอให้คำยืนยันว่าอยู่ที่รพ.ตำรวจจริง ได้ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯจริง หลังจากที่ได้พักอยู่ถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ถูกส่งตัวเข้าไป และเนื่องจากป่วย ความดันขึ้นเกือบ 200 กินยาสลายลิ่มเลือด และมีอาการแพ้อะไรบางอย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Depress” หรือสลดหดหู่ใจ จึงทำให้อาการทรุดหนักลง ส่วนหนักลงขนาดไหนนั้น ตนไม่ทราบ และได้ส่งตัวไปที่รพ. ซึ่งตนได้พูดกับนายแพทย์ใหญ่ผู้อำนวยการของรพ.ตำรวจ ได้ฝากฝังให้เขาช่วยดูแล เพราะพ้นมาจากราชทัณฑ์แล้วส่งตัวมาที่รพ.ตำรวจ ตัวนายทักษิณก็ยังอยู่ที่นั่น ใครไปเยี่ยมเยียนก็ไปเยี่ยมที่รพ. แล้วอีกหน่อยคงจะเปิดให้ไปเยี่ยมได้

เมื่อถามว่า นายทักษิณ อาการหนักมากหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ และไม่เคยเห็น

ถามว่า จะเป็นเหตุที่เป็นข้อมูลเพิ่มไปในการขอพระราชทานอภัยโทษได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็น โดยกรณีของคนที่ขอพระราชทานอภัยโทษนั้น โดยมากจะชี้แจงคุณงามความดี 3 ประการ คือ 1.คุณงามความดีในอดีตที่ได้เคยทำอะไรมาบ้าง ตรงนี้หมายถึงนักโทษทั่วไป 2.คุณงามความดีในปัจจุบัน เช่น ขณะนี้เป็นนักโทษแล้วได้เลื่อนชั้นเป็นชั้นดีเยี่ยม ได้สอนหนังสือในเรือนจำ ได้ทำงาน และในช่วงหลังนี้มีเรื่องเครดิตที่ใครได้เรียนวิชาสมาธิของหลวงพ่อวิริยังค์ ก็ให้คะแนนเป็นเครดิตอีก โดยระบุว่า หากอนาคต ข้าพระพุทธเจ้าได้พ้นโทษแล้ว จะไปทำคุณงามความมีอะไรต่ออะไร เช่น บางคนบอกว่าจะบวช เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องเป็นคุณความดีที่จะต้องยื่นเข้าไป

Advertisement

เมื่อถามว่า ครอบครัวของนายทักษิณได้มาปรึกษาเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่มีครับ ไม่เคยเจอกันเลย”

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับเอกสารการแพทย์จำนวนมากที่เป็นภาษาอังกฤษ จะต้องใช้เวลาแปลนานหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีจำนวนเยอะมาก เพราะไม่ใช่เอกสารการแพทย์เมื่อครั้งที่ขึ้นเครื่องบินมา แต่จะต้องไปดูเอกสารการแพทย์ที่สะสมมาตลอดที่มีอาการป่วย 17 ปี ซึ่งมีจำนวนมาก สารพัดโรค ซึ่งตนได้เห็นแล้วว่ามีอะไรบ้าง เห็นบางโรค แต่ก็อ่านไม่ออก แปลไม่ถูก เพราะเป็นภาษาหมอ

Advertisement

เมื่อถามย้ำว่า เรื่องนายทักษิณขอพระราชทานอภัยโทษนั้นได้ถึงมือนายวิษณุแล้วหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า “ถึงแล้ว” ถามต่อว่าแล้วขั้นตอนจากนี้จะเป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ดำเนินการตามกระบวนการต่อไป ส่วนเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษด้วยตัวนายทักษิณเอง หรือญาติเป็นผู้ขอนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ตอบแล้ว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เป็นการขอส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวกับโอกาสสำคัญ ไม่ต้องดูว่ารับโทษมาแล้วเท่าไหร่ อย่างไร ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณทั้งนั้น

เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะใช้เวลาตามขั้นตอนอีกนานหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขั้นตอนตามระเบียบเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนทางรัฐบาลนั้นไม่นาน แต่ขั้นตอนที่จะส่งพิจารณา ก็ต้องสุดแต่พระมหากรุณาธิคุณ

ถามย้ำว่าจะทันในช่วงที่ นายวิษณุ อยู่ในตำแหน่งรัฐบาลรักษาการนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่ทราบ ตรงนี้ไม่รู้ และไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ไปนานเท่าไหร่” ถามอีกว่าประเมินได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ประเมินไม่ถูกหรอก เพราะตนอยู่เท่าที่รัฐบาลอยู่

“ครม.ชุดใหม่ยังไม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ เขายังตั้งครม.ยังไม่เสร็จ” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่าเมื่อถึงมือของนายวิษณุแล้ว ยังต้องใช้เวลาอีกใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แน่นอน ซึ่งตนไม่สมควรพูด บางครั้งเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เมื่อถามอีกว่าขอในทุกคดีใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ผมไม่ตอบครับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการขอดังกล่าวนายทักษิณได้ระบุหรือไม่ว่าเมื่อพ้นโทษแล้วจะบวช นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนขอไม่ตอบ

เมื่อถามว่า อยากฝากอะไรกับประชาชนให้มีความเชื่อมั่นในกระบวนยุติธรรม นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับตนคิดว่าไม่ใช่ 2 มาตรฐาน จะต้องแยกให้ออกว่าอะไรเป็นขั้นตอนตามสิทธิของเขา อะไรเป็นขั้นตอนที่เป็นความเห็นขอรัฐบาล อะไรที่เป็นพระมหากรุณา อยู่ในพระราชอำนาจ จะต้องแยกให้ออกเป็น 3 เรื่อง ดังนั้น 1.เป็นสิทธิของเขา ถ้าเขาไม่ขอ ก็ไม่มี 2 และ 3 ตามมา

“ถ้าเขาขอก็ต้องมีข้อ 2 ตามมาคือขั้นความเห็นของรัฐบาล และขั้นต่อไปคือพระมหากรุณา เป็นพระราชอำนาจ จะพระราชทานอย่างไร ก็เป็นเรื่องเสร็จเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญ แล้วไม่ต้องให้เหตุผลด้วย” นายวิษณุ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับวิธีการดำเนินการในขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ เมื่อกรมราชทัณฑ์ได้รับเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษจากเรือนจำ/ทัณฑสถานแล้ว จะดำเนินการดังนี้

1.ตรวจสอบเรื่องราวโดยละเอียดเกี่ยวกับฎีกา คำพิพากษา หมายจำคุก หมายลดโทษ เอกสารประกอบเรื่องราวว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ หากไม่ถูกต้องจะจัดส่งกลับไปเรือนจำและทัณฑสถานเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง

2.ในกรณีมีปัญหาที่จะต้องขอทราบข้อเท็จจริง ประวัติการกระทำผิดหรือรายละเอียดบางประการเกี่ยวกับนักโทษ จะต้องประสานงานไปยังเรือนจำ หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถานีตำรวจภูธรท้องที่ หรือศาล เป็นต้น

3.ในรายที่เป็นนักโทษความผิดคดียาเสพติดให้โทษ ต้องขอทราบข้อมูลประวัติการกระทำผิดไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาทุกราย

4.สรุปย่อฎีกาทูลเกล้าฯ และคำพิพากษาในคดีของนักโทษเด็ดขาดรายนั้นๆ

5.ประมวลเรื่องราว ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุผลที่จะถวายความเห็นขึ้นไปตามลำดับชั้นจนถึงกระทรวงยุติธรรม เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาให้ความเห็นแล้ว จะเสนอเรื่องเพื่อ
นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯต่อไป

6.เมื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องราวทูลเกล้าฯถวายฎีกานั้นเป็นประการใด กรมราชทัณฑ์จะแจ้งให้เรือนจำ หรือทัณฑสถานทราบเพื่อแจ้งผู้ถวายฎีกา และบันทึกรับทราบไว้เป็นหลักฐานต่อไป

7.กรณีนักโทษซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิตก็จะต้องดำเนินการโดยนัยเดียวกันกับการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลดังกล่าวมาแล้ว หากมีพระราชกระแสให้ยกฎีกา คือไม่พระราชทานอภัยโทษให้ กรมราชทัณท์จะแจ้งเรือนจำให้บังคับโทษประหารชีวิตกับนักโทษรายนั้นโดยไม่ชักช้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image