สมภาร พรมทา : ข้อคิดเล็กน้อยเรื่องความขัดแย้งทางศาสนาในบ้านเราช่วงนี้

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตความขัดแย้งทั้งทางกฎหมายและการเมืองของวงการพระสงฆ์ของไทย ที่กำลังอยู่ในภาวะฝุ่นตลบในขณะนี้ ศ.ดร.สมภาร พรมทา อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งและอนุญาตให้มติชนออนไลน์นำมาเผยแพร่ มีรายละเอียดดังนี้

อยากพูดเรื่องความขัดแย้งทางศาสนาในบ้านเราช่วงนี้สักเล็กน้อยครับ คิดว่าที่พูดออกไปนี้อาจพอมีประโยชน์ หากไม่มีก็ปล่อยให้มันหายไปเหมือนคลื่นความโน้มถ่วงก็แล้วกันนะครับ

เนื่องจากผมรู้จักคณะบุคคลที่อยู่สองฟากของความขัดแย้งเป็นส่วนตัว เวลาจะมองเรื่องนี้ สิ่งที่รบกวนผมมากที่สุดคือการรู้จักกันเป็นส่วนตัว การรู้จักกันเป็นส่วนทำให้เราไม่ค่อยรู้สึกแรง เช่นคราวหนึ่งผมขับรถเข้าจุฬาฯ มีคันหนึ่งจี้ท้ายเปิดไปสูงช่วงผมจะเลี้ยวเข้าประตู เข้ามาแล้วก็ยังเปิดไฟไล่ นึกโมโหว่ามันจะอะไรนักหนา พอเข้าที่จอด คนที่เปิดไฟไล่ก็เดินยิ้มแฉ่งลงมา เป็นเพื่อนรักกัน เขาเปิดไฟไล่เพื่อหยอกล้อ พอรู้ว่าเป็นใคร ที่โมโหเมื่อสักครู่ก็หายไปหมดเลย ผมรู้จักตัวละครสองฟากแบบนี้แหละครับ เลยไม่ค่อยรู้สึกอะไรมาก

แต่นั่นก็เป็นเรื่องส่วนตัวของผม ปัญหาในโลกนี้มาจากเราไม่รู้จักกัน การแก้ปัญหาของโลกจึงต้องแก้บนสมมุติฐานว่าเราไม่รู้จักกัน ผมจะเขียนเรื่องนี้อย่างติต่างว่าผมไม่รู้จักใครเลย เอาอย่างนั้นนะครับ

Advertisement

ขอรวบรัดมาที่ปมปัญหาแรกสุด เรื่องมีว่า มีชาวพุทธจำนวนหนึ่งเห็นว่าสมเด็จวัดปากน้ำที่รักษาการตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเวลานี้ไม่เหมาะสมจะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เหตุผลคือ (๑) มีเรื่องส่วนตัวของท่านบางอย่างที่ยังต้องสะสางให้สาธารณชนเห็นดำเห็นแดงก่อนว่าเป็นอย่างไร (๒) มีเรื่องส่วนรวมคือท่านมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับวัดพระธรรมกาย เรื่องแรกนั้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายบ้านเมืองก็กำลังอยู่ในกระบวนการ คงได้ผลออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนเรื่องส่วนตัวท่านที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายบ้านเมือง อาจไม่ได้ผลสรุปอะไร เรื่องที่ 2 ผมคิดว่าชัดว่าท่านมีความสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกาย เพราะวัดปากน้ำเป็นต้นกำเนิดคำสอนเรื่องธรรมกาย ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายรูปปัจจุบันก็เป็นศิษย์วัดปากน้ำ

ข้อเป็นห่วงว่าหากท่านได้เป็นพระสังฆราช ท่านจะอุ้มชูวัดพระธรรมกาย ผมเข้าใจ แต่ไม่ทราบจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์นี้ได้อย่างไร เพราะต่อให้เอารูปอื่นขึ้นมา ผมก็ไม่คิดว่าท่านจะไม่อุปถัมภ์วัดพระธรรมกาย หากเป็นห่วงเรื่องวัดพระธรรมกาย ผมเสนอว่าให้ตัดเรื่องนี้ออกมาคิดต่างหาก อย่าเอาไปปนกับเรื่องตำแหน่งพระสังฆราชเลยครับ เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหา

สรุปคือ มีเรื่องเดียวที่เป็นสาระคือกรณีที่สมเด็จวัดปากน้ำท่านเกี่ยวข้องกับเรื่องบางเรื่องที่กฎหมายบ้านเมืองกำลังตรวจสอบอยู่ ผลในอนาคตเป็นอย่างไรก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ เมื่อผลนี้ออก ผมคิดว่าเราจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในเรื่องอื่นๆ ครับ ก็รอกันหน่อย ผมก็จะรอดู โดยไม่เชียร์ใครนะครับ
เรื่องวัดพระธรรมกายเป็นเรื่องเก่ากว่าเรื่องสมเด็จพระสังฆราช ที่เรื่องนี้ไม่จบเพราะมาเกี่ยวกับเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชในช่วงนี้ และที่สำคัญปัญหาเรื้อรังเรื่องนี้มาจาก “การเมือง” ในวงการสงฆ์ระดับสูงเอง การเมืองนี้ผมใช้ในความหมายกลางๆ ทางวิชาการนะครับ

Advertisement

ใครที่สนใจประวัติศาสตร์สงฆ์ไทยจะทราบว่าตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคมนั้นไม่ใช่ตำแหน่งที่ได้มาและทำงานอย่างบริสุทธิ์สะอาด การได้มาซึ่งสมเด็จพระสังฆราชที่ผ่านๆ มาเป็นเรื่องการเมืองไม่ต่างจากการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดี อันนี้เราต้องรับและมองเป็นกลางๆ ว่ามนุษย์เราเป็นอย่างนี้เอง การฆ่าตัวตายของอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมรูปหนึ่งเมื่อไม่นานนี้ก็บอกเราได้ไม่ใช่หรือครับว่าต้องมีอะไรเป็นการเมืองในวงการสงฆ์ระดับสูงแน่เลย ผมเล่าเรื่องนี้เพื่อให้เข้าใจว่า การเมืองในวงการสงฆ์ทำให้ปัญหาวัดพระธรรมกายไม่ได้รับการสะสาง และผมเชื่อว่า เนื่องจากการเมืองของสงฆ์นี้จะมีต่อไปอีกตราบนานเท่านาน ปัญหาวัดพระธรรมกายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของมหาเถรสมาคมก็คงไม่ได้รับการสะสางเช่นเดิม

ที่พูดนี้ไม่อยากให้เสียกำลังใจนะครับ แต่ต้องการบอกว่าข้อเท็จจริงของโลกมันเป็นอย่างนั้น กรณีวัดพระธรรมกายก็เหมือนเรื่องสมเด็จวัดปากน้ำข้างต้นคือ สิ่งที่จะปรากฏผลได้มีเพียงเรื่องที่อยู่ในอำนาจของกฎหมายบ้านเมืองที่จะตรวจสอบเท่านั้น เวลานี้เขาก็กำลังตรวจสอบอยู่ เราคงต้องรอกันต่อไป ผลต้องออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ผลนั้นแหละครับจะชี้ทางว่าเรื่องนี้จะเดินไปที่ไหนอย่างไรต่อไป

ในระหว่างที่รอสองเรื่องนี้อยู่ ผมคิดว่าเราชาวพุทธก็ยังสามารถใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขได้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของพระพุทธเจ้านะครับ ไม่ใช่ของพระสังฆราชหรือของเจ้าอาวาสวัดใดวัดหนึ่ง ส่วนตัวผมก็ยังทำงานทางวิชาการกับวัดพระธรรมกายอยู่เหมือนเดิม นี่ก็กำลังอ่านบทความทางวิชาการที่ท่านพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ท่านส่งมาให้อ่านอยู่จำนวนหนึ่ง ท่านเป็นบรรณาธิการวารสาร ท่านขอให้ผมช่วยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอ่านกลั่นกรอง ผมกับท่านสนิทสนมรักใคร่นับถือกัน แต่ผมก็แยกได้ว่าหากวัดพระธรรมกายมีปัญหาที่เข้าข่ายกฎหมายรัฐต้องตรวจสอบ เราก็ต้องรับ บ้านเมืองเดินด้วยกฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย สันติสุขขั้นต่ำเกิดได้ด้วยกฎหมายครับ

การชุมนุมที่พุทธมณฑลวันสองวันที่ผ่านมาผมก็เข้าใจ เห็นใจ ท่านพระเมธีธรรมาจารย์ที่นำการชุมนุมกับผมก็รู้จักสนิทสนมกัน พระสายหลักของบ้านเรา (ยกเว้นวัดพระธรรมกาย สันติอโศก และท่านพุทธะอิสระ) นั้นเป็นคนชนบท รักคุณทักษิณ และเป็นเสื้อแดง (ชาวธรรมกายที่ผมรู้จักส่วนใหญ่ก็รักคุณทักษิณและสีแดง แม้จะเป็นคนชั้นกลางในเมือง) พูดกันตรงๆ อย่างนั้นเลยนะครับ แต่ที่พูดนี้ผมพูดอย่างเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการคิดแก้ปัญหา เมื่อท่านเป็นแดง อะไรที่เหลืองท่านก็ไม่ชอบ การเคลื่อนไหวของท่านพุทธะอิสระก็ดี ของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ก็ดี ในสายตาของพระสีแดงท่านมองว่าเป็นเรื่องของพวกสีเหลือง เลยกลายเป็นว่าปัญหาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชก็ดีปัญหาท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็ดี ถูกมองเป็นปัญหาเรื่องสีไป ก็ไม่เป็นไรครับ จะมองอย่างนั้นก็ได้ และจริงๆ ผมคิดว่าสองฝ่ายที่เห็นต่างกันเรื่องนี้ก็เอาเรื่องสีมาปนจริงๆ คนที่อยู่ข้างสีเหลืองก็จะคอยจับจ้องหาจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่จะโจมตีได้เหมือนที่เคยทำกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง เช่นถูกจ้างมาไหม ก่อความรุนแรงไหม ปลอมบวชหรือเปล่า ผมคงไม่เข้าไปในรายละเอียด แต่จุดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้บางส่วนผมรู้ว่าเท็จ การโกนผมแบบนั้น การมีหนวดแบบนั้น ที่ปรากฏในภาพถ่ายของพระบางรูปคนที่เคยบวชอย่างผมรู้ดีครับ คนเสื้อเหลืองที่เป็นชาวเมืองอาจไม่คุ้นเคย เมื่อไม่คุ้นเคยก็จินตนาการไปตามแรงชักนำลึกๆ ในใจว่าม็อบพระคราวนี้ก็คงเหมือนม็อบเสื้อแดงที่ผ่านมาคืออนารยะและรุนแรง

ผมคิดว่าความรู้สึกของคนสองสีนี้คงอยู่อย่างนั้น และตัวผมก็เคารพ ไม่ว่ากัน มนุษย์เป็นอย่างนี้เอง ผมมีข้อเสนอในทางปฏิบัติเพื่อให้เราทุกข้างทุกฝ่ายประหยัดเวลาและแรงงานให้เอาไปใช้กับการพัฒนาชีวิตพัฒนาชาติ มากกว่าการมาฮึ่มๆ ใส่กันคือ ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าออกมาตามท้องถนนเลยครับ ก่อนโน้นสันติอโศกกำลังระดมคนออกมา ผมไปพูดที่โทรทัศน์สันติอโศกก็แนะท่านว่าอย่าออกมาเลยครับ (เขาจะออกพรุ่งนี้ ผมก็ไปพูดวันนี้ ชาวอโศกท่านรักผม ผมจึงกล้าพูด) มีอะไรที่อยู่ในอำนาจของกฎหมายบ้านเมืองก็ดำเนินการกันไป อะไรที่อยู่นอกก็ต้องทำใจว่าสงฆ์ท่านก็จะว่ากันไป หากเป็นเรื่องสงฆ์ล้วนๆ อันนี้ง่ายครับ คนเขาก็ประท้วงมหาเถรสมาคมอย่างเดียว รัฐบาลก็ไม่ต้องยุ่ง หรือหากคนเขาตีความว่ามหาเถรสมาคมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คราวนี้กระบวนการก็เข้าสู่กฎหมาย ก็ง่ายอีก

ทำอะไรง่ายๆ กันดีกว่านะครับ ได้ผลยั่งยืนกว่าด้วย และอย่าลืมว่า ความรักพระพุทธศาสนาในระดับสูงนั้นสำหรับผมควรแสดงออกในทางการศึกษาพุทธธรรมแล้วเอามาใช้กับตน กับครอบครัว กับมิตรสหาย มีเมตตาต่อกัน และมีอารมณ์ขันบ้างนะครับ เช่น คุยกันเล่นๆ ว่า “ทหารมีไว้ทำไม” เพื่อนอาจบอกว่า “มีไว้ให้พระล็อกคอ” เพื่อนอาจถามต่อว่า “พระมีไว้ทำไม” เราก็จะตอบว่า “มีไว้ล็อกคอทหารไง”

ห็นไหมครับ อารมณ์ขันมีประโยชน์จะตาย ผมเห็นหลวงพี่ในท่าล็อกคอทหารผมจึงเฉยๆ พระบ้านนอกท่านทำอะไรมากกว่านี้ ชาวบ้านแถวโน้นเขาไม่ถือ ท่านเพิ่งมาจากชนบท ก็เลยเกิดสิ่งที่ฝรั่งเรียก cultural shock คือปรับตัวไม่ทัน อย่าถือเป็นเรื่องสำคัญเลยครับ ดูโครงสร้างเรื่องหลักๆ ดีกว่าจะได้สบายใจและอาจเห็นทางออก

 

49

 

หลังจากนั้น นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ได้ส่งความเห็นแลกเปลี่ยนในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า

ปัญหาอยู่ที่ “กำลังเข้าสู่กระบวนการกฎหมายและให้รอดูผล” นี่แหละ คำถามคือเป็นกระบวนการตามกฎหมายภายใต้อำนาจแบบไหน?
เห็นด้วยนะครับเรื่องตรวจสอบเอาผิดนักการเมือง ตรวจสอบเอาผิดพระ แต่ “ใช้วิธีการแบบไหน?” เป็นกระบวนการภายใต้อำนาจที่บอกว่า่ “ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย” แต่พวกตัวเองทำผิดกฎหมายไม่ต้องรับผิด กระทั่งจับนักศึกษาที่มาตรวจสอบตัวเองขึ้นศาลทหารงั้นหรือ?

แล้วกรณีที่พระ,ฆราวาสฝ่าย กปปส.ชุมนุมล้มเลือกตั้งเพื่อส่งไม้ต่อให้รัฐประหารและสนับสนุนรัฐบาล แล้วก็ใช้กลไกอำนาจรัฐบาลเช่นนี้ประกาศวาระ “ปฏิรูปศาสนา” โดยชูธงขจัดอลัชชีที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยเฉพาะแจ้งความเอาผิดฝ่ายตรงข้ามทั้งเรื่องธรรมวินัยและกฎหมาย

จะให้อีกฝ่ายยอมรับได้อย่างไรครับว่านี่คือกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นไตามหลักนิติรัฐ?

พระพิมลธรรมคือตัวอย่างที่ถูกพระที่เป็นพันธมิตรกับเผด็จการสฤษดิ์จัดการเอาผิดทั้งทางธรรมวินัยและกฎหมาย จนต้องถูกจับสึกและติดคุกฟรี 5 ปี นี่ไงผลของการเข้าสู่กระบวนการกฎหมายภายใต้เกมการเมืองของพระกับเผด็จการ

มีหลักประกันอะไรให้เราเชื่อได้ว่ากระบวนการกฎหมายยุคนี้สามารถให้ความยุติธรรมได้มากกว่ายุคเผด็จการสฤษดิ์?

ข้อ “เน้นย้ำ” ว่าผมไม่ได้ปกป้องฝ่ายไหนทั้งนั้น แต่ผมยืนยันในหลักการว่า ไม่ว่านักการเมือง, พระ หรือใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิด หรือกระทั่งเขาทำผิดจริงๆ ก็ต้องใช้วิธีการที่ถูกต้องชอบธรรม หรือใช้กฎหมายตามหลักนิติรัฐในระบบประชาธิปไตยดำเนินการกับเขา ไม่ใช่ยอมรับการที่ฝ่ายหนึ่งสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลจากรัฐประหาร แล้วพยายามใช้กลไกกฎหมายภายใต้อำนาจรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตไล่กวาดล้างฝ่ายตรงข้าม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image