เศรษฐา อวยพร ‘พิธา’ โชคดี หลังไขก๊อกหัวหน้าพรรค ก.ก. ย้ำใช้เวทีรัฐสภาแก้ รธน.


เศรษฐา อวยพร ‘พิธา’ โชคดี หลังไขก๊อกหัวหน้าพรรค ก.ก. ย้ำใช้เวทีรัฐสภา เดินหน้าแก้ รธน.

เมื่อวันที่ 17 กันยายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เพื่อเปิดทางให้พรรค ก.ก.ได้เลือกบุคลากรในพรรคดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน เพื่อดำเนินกิจการในสภาต่อ ในฐานะที่เคยจะร่วมรัฐบาล และแข่งขันทางการเมืองกันมาว่า ก็ขอให้นายพิธาโชคดีในเรื่องต่างๆ ที่นายพิธาจะไปทำ อันนี้น่าจะไปถามหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) จะดีกว่า วันนี้มาในบทบาทฝ่ายบริหารแล้ว ขอให้นายพิธาเดินทางในชีวิตการเมืองที่ถูกต้อง และเป็นที่ชื่นชมของทุกคน

นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์กรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่าไม่เคยพูดว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะยุบสภา จนมีการนำไปเปรียบเทียบตอนที่แยกกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ระบุว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชน ตอนนี้รัฐบาลมีความชัดเจนอย่างไร ว่า “ชัดเจน แถลงไปแล้วว่าจะนำคณะทำงานเข้ามาเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ เพื่อนำเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งเป็นเวทีที่จะใช้เป็นเวทีถกเถียงกันในประเด็นความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ประกาศไปแล้วในการประชุม ครม.นัดแรกชัดเจน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ชลน่านถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ได้กล่าวว่าไม่เคยพูดว่าหากแก้รัฐธรรมนูญเสร็จจะยุบสภา แต่โลกออนไลน์มีการขุดคำสัมภาษณ์ก่อนหน้าที่ นพ.ชลน่านจะประกาศแยกตัวจากพรรคก้าวไกล ได้กล่าวว่าหากทำรัฐธรรมนูญเสร็จจะคืนอำนาจให้ประชาชน เป็นช่วงวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยขณะนั้น พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์ ‘เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ’

Advertisement

โดย นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเป็นผู้อ่านแถลงเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ และให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน โดยการกล่าวว่า จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ของประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง ส.ส.ร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมานั้นกลับมอบให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ยึดตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ พร้อมระบุด้วยว่าจะใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image