ปลอดประสพ โพสต์ ขอบคุณ ที่ “ทำสาว” ให้บึงบอระเพ็ด

ปลอดประสพ โพสต์ ขอบคุณ ที่ “ทำสาว” ให้บึงบอระเพ็ด

วันที่ 23 กันยายน ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินและสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก  ขอบคุณครับที่ “ทำสาว” ให้บึงบอระเพ็ด มีเนื้อหาต่อไปนี้

สำหรับนักวิชาการสายสิ่งแวดล้อมทางน้ำ(Aquatic Ecologist) รุ่นแรกๆของประเทศไทย เช่นผม วันนี้ตื่นเต้นและดีใจจริงๆครับที่ทราบว่า ท่านราชเลขาฯ สำนักพระราชวัง และปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เมตตาบึงบอระเพ็ดให้มีการสูบน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าบึงบอระเพ็ดจากที่เกือบจะแห้งจนเต็ม 100 ล้านลบม.ในอีก 30 วันข้างหน้า

ผมถือว่า บึงบอระเพ็ดคือครู คือดวงใจ และคลังสมองของผม ไม่มีบึงบอระเพ็ดอาจไม่มีผมในวันนี้ก็ได้ ในสมัยหนุ่มน้อยผมเคยเป็นหัวหน้าหน่วยบูรณะแหล่งน้ำซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่บึงบอระเพ็ด เคยเป็นหัวหน้าหน่วยพัฒนาประมงในแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่สำคัญที่สุดก็คือ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมที่มหาวิทยาลัยManitoba แคนาดา(เมื่อ 48ปีที่แล้ว) คือ การสร้างทฤษฎีและพิสูจน์ขบวนการทำสาว(Rehabilitation) ให้อ่างเก็บน้ำที่มีอายุและเริ่มเสื่อมโทรม

Advertisement

ทฤษฎีของผมก็อาจจะเลียนแบบมาจาก ร.9 ที่ทรงรับสั่งถึงเรื่อง “แกล้งดิน” หรือ การที่นักวิชาการแนะนำให้หยุดรดน้ำก่อนผลไม้ให้ผล หรือที่ชาวบ้านเอามีดไปสับต้นไม้(ให้เจ็บเล่นมั๊ง) เพราะเชื่อว่า ผลไม้จะให้ลูกดก ทฤษฎีของผมก็คือ ผมจะต้องจู่โจมให้ระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำนั้นเกิดรู้สึกตกใจ(shock) ซึ่งเมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ ระบบนิเวศน์ที่ประกอบด้วยดิน น้ำ พืชน้ำ และปลาก็จะต้องเร่งเจริญเติบโตวางไข่ออกลูก เพื่อรักษาพืชพันธุ์ไว้ให้ได้ แล้วก็จะจบลงด้วยความอุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นระบบนิเวศน์ใหม่ในขั้นต้นของวิวัฒนาการ(Early Stage of Succession) คือเปลี่ยนจากคนแก่กลับมาเป็นสาวเหมือนเดิม

กรรมวิธีคือ ผมระบายน้ำออกจากบึงบอระเพ็ดจนเกือบหมดภายใน 1 เดือน(โดนสวดพอสมควร) จากนั้นปล่อยให้แห้งอีก 1 เดือน สุดท้ายระบายน้ำเข้าอย่างช้าๆจนเต็ม ตอนนั้นจำได้ว่า มีการถกเถียงกันออกทีวีเลย วิทยานิพนธ์ของผมถือเป็นโครงการที่ใหญ่และใช้งบประมาณมากเพราะต้องเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน น้ำ พืชน้ำและสัตว์น้ำทุกชนิดอย่างต่อเนื่องทุกเดือนติดต่อกันเป็นเวลาปีครึ่ง

ในที่สุดผลที่ได้นั้นสุดคุ้มค่าสำหรับส่วนรวม บึงบอระเพ็ดกลับมาอุดมสมบูรณ์ยิ่งกว่าเดิมไปอีกหลายเท่า อธิบายง่ายๆคือ พอน้ำเริ่มขึ้น มีหญ้าหลายชนิดโดยเฉพาะหญ้าไทร หรือ Leesia hexandra ก็จะทะลึ่งสูงขึ้นตามน้ำ เจ้าปลาทั้งหลายก็รีบว่ายมาใช้เจ้าหญ้านี้เป็นส่วนประกอบของรังแล้วก็วางไข่ทันที พอน้ำขึ้นสูง แช่น้ำนานๆหญ้าก็เน่าตายเกิดเป็นแพลงต้อนพืชจนน้ำมีสีเขียวอ่อนๆ

Advertisement

จากนั้นแพลงต้อนสัตว์ก็มากินแพลงต้อนพืช น้ำก็เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เจ้าลูกปลาที่เกิดมาใหม่ๆก็กินแพลงต้อนสัตว์เหล่านี้เป็นอาหาร เจริญเติบโตอ้วนพี ต่อไปก็มีปลาใหญ่มากินปลาเล็กพวกนี้ จนชาวประมงได้จับปลาใหญ่ทั้งกินทั้งขายจนร่ำรวยไปตามๆกัน

ที่เล่าวิชาการมาเป็นฉากๆนี้ ผมตั้งใจจะพยากรณ์ว่า สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร.10 ทรงห่วงใย

.21บึงบอระเพ็ดที่เกือบเหือดแห้งและให้มีการสูบน้ำเข้ามาในครั้งนี้ นอกจากบึงบอระเพ็ดจะมีน้ำให้ชาวนา ชาวไร่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว สัตว์น้ำก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างเป็นอัศจรรย์ ซึ่งก็จะเป็นไปตามพระราชประสงค์อันเป็นปฐมเหตุที่ร.7 ได้ทรงพระราชทานบึงบอระเพ็ดให้กับกรมประมงเพื่อให้เป็นคลังของพ่อแม่พันธุ์ปลา สร้างความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำแห่งทุ่งเจ้าพระยาในครั้งโน้น(100 ปีมาแล้ว) ในฐานะอดีตอธิบดีกรมประมงและอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้สึกทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นยิ่งนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ปลัดมท.’ ติดตามป้องกัน ผลกระทบเอลนิโญ บึงบอระเพ็ด ย้ำบูรณาการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image