‘บิ๊กไก่’พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ลุยภารกิจเสริมแกร่ง‘ทัพฟ้า’

หมายเหตุ บิ๊กไก่พล...พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ป้ายแดง Call sign “Armstrong” เปิดใจมติชนถึงการทำหน้าที่นำพากองทัพอากาศยุคใหม่

การเข้ารับตำแหน่ง ผบ.ทอ.คนใหม่

 ขอขอบคุณ พล...อลงกรณ์ วัณณรถ อดีต ผบ.ทอ. ที่ให้การสนับสนุนให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ทอ. ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของกองทัพอากาศ (ทอ.) ผมปวารณาตัวว่า ผมไม่ใช่เจ้าของ ทอ. แต่จะบริหาร ทอ.ให้ทุกคนอยู่อย่างมีความสุข มีประสิทธิภาพในการทำงาน ตอบสนองต่อภารกิจของประเทศชาติ และยึดมั่นในผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ผมขอขอบคุณเพื่อนร่วมงาน พี่ๆ น้องๆ ทุกท่าน ที่ให้โอกาสและสนับสนุน ทำให้การทำงานของผมประสบความสำเร็จ ผู้บังคับบัญชาจึงให้เข้ามาพัฒนา ทอ.

เป้าหมายการพัฒนา ทอ.ในห้วง 2 ปีที่รับตำแหน่ง

Advertisement

ทอ.ไม่ได้เป็นกองทัพขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เล็กเกินไป และอยู่ระหว่างการปรับตัวให้มีความเหมาะสมลงตัวที่สุด ทั้งเรื่องกำลังพล อาวุธ และยุทโธปกรณ์ โดยในยามศึกสงคราม ทอ.ต้องมีความพร้อมสูงสุดตามขนาดของกองทัพที่เหมาะสม ขณะที่ในยามปกติต้องสามารถนำยุทโธปกรณ์ไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาหรือภัยพิบัติ เช่น ไฟป่า หมอกควัน หรือน้ำท่วม โดยผมคิดว่าเราพยายามมองถึงภัยคุกคามในอนาคตจริงๆ และให้ความสำคัญกับการเป็นกองทัพที่มีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพ มีกำลังพลคุณภาพ และมีจำนวนที่เหมาะสม คงจะปล่อยให้เป็นแบบเดิมไปไม่ได้ ต้องปรับตัว ที่สำคัญผมจะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ตามแนวทางของนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นกองทัพที่ปกป้องประเทศชาติและดูแลประชาชน

ทอ.มีแผนปรับตัวอย่างไรให้สอดรับนโยบายรัฐบาล

ทอ.มีการปรับลดกำลังพล โดยมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าลดลงแต่ละปีกี่เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เรื่องของประเภทอากาศยาน อุปกรณ์ และยุทโธปกรณ์ที่หมดอายุ ล้าสมัย มีความจำเป็นน้อยลง หรือไม่สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคาม จะพยายามลดลง แล้วจัดหาในสิ่งที่เหมาะสมสอดคล้องกับภัยคุกคามในอนาคต เช่น ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ทอ.จึงมีศูนย์ไซเบอร์ นอกจากนั้น ยังมีกิจการด้านอวกาศ อากาศยานไร้คนขับ และโดรน ที่ต้องปรับตัวให้ทันสมัย ขณะที่ในส่วนของอากาศยานแบบต่างๆ อาจต้องมีการปรับให้เหมาะสม สำหรับอากาศยานเก่า จะต้องนำมาพิจารณาว่าคุ้มค่าต่อการซ่อมบำรุงหรือไม่ เสี่ยงต่อการปฏิบัติภารกิจหรือไม่ และอาจต้องปรับลดจำนวนลง

Advertisement

การจัดซื้อเครื่องบิน F-35 ที่สหรัฐอเมริกา ไม่ขายให้ไทย ทอ.จะแก้ปัญหาอย่างไร

F-35 เป็นความต้องการของ ทอ. จึงได้ของบประมาณไป แต่ด้วยเหตุผลความจำเป็นของสหรัฐ ที่ตอบจดหมายอย่างเป็นทางการกลับมาให้ คือ 1.F-35 มีออเดอร์เยอะมาก หลายประเทศต้องการมาก ต้องต่อคิวและรอนาน รวมทั้งเหตุการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้การส่งออกอาวุธติดขัด ทอ.ต้องรอไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งเราอาจจะรอไม่ได้ 2.การเปลี่ยนผ่านจากเครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 4 ไปสู่ยุคที่ 5 อาจเป็นก้าวกระโดดเกินไป ซึ่งในเรื่องนี้ ปัจจุบัน ทอ.มีเครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 4.5 คือเครื่องบินกริพเพน โดย ทอ.มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องบินยุคที่ 4.5 พอสมควร อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่เครื่องบินยุคที่ 5 ด้วยความสมบูรณ์ คงต้องใช้ระยะเวลา

ทั้งนี้ ทอ.ยืนยันความจำเป็นในการจัดหาอากาศยานทดแทน เพราะมองว่าในปี 2571 ทอ.จะเริ่มปลดประจำการเครื่องบิน F-16 จำนวนหนึ่งที่ฝูงบิน 103 กองบิน 1 (บน.1) .นครราชสีมา และจะทยอยปลดประจำการจนถึงปี 2575 ทำให้ บน.1 จะไม่มีฝูงบินรบ ทั้งนี้ ข้อมูลนี้อาจเกี่ยวข้องกับความมั่นคง แต่ผมมีความจำเป็นต้องนำข้อมูลมาชี้แจง ซึ่งอาจมองได้เป็น 2 มุม ที่แม้ว่าจะต้องปกป้องข้อมูลที่อาจเป็นความลับ แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องแจ้งให้ทราบ ดังนั้น ในปี 2571-2575 จะมีเครื่องบินรบประจำการที่ บน.1 ลดลงจนถึงไม่มีเลย ทำให้การดูแลอธิปไตยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคตะวันออก เป็นจุดบอด หากมีภัยคุกคามหรืออากาศยานรุกล้ำน่านฟ้าเข้ามา เราจะไม่มีเครื่องบินรบไปรับมือได้

ปัจจุบัน ทอ.มีเครื่องบินรบหลักอยู่ 3 ที่ คือ บน.4 .ตาคลี จ.นครสวรรค์ มีเครื่องบิน F-16 ที่สามารถนำเครื่องวิ่งขึ้นได้ภายใน 5 นาที มีพื้นที่ปฏิบัติการดูแลด้านทิศตะวันตกทั้งหมดและทิศเหนือ ส่วนที่ บน.7 .สุราษฎร์ธานี มีเครื่องบินกริพเพน มีพื้นที่ปฏิบัติการทางภาคใต้ รวมทั้งป้องกันผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทอ.จัดกำลังน้อยที่สุด คุ้มค่าที่สุด มีความพร้อมที่สุด ดังนั้น หากไม่มีเครื่องบินรบประจำการที่ บน.1 จะทำให้เกิดจุดบอดที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาเครื่องบินมาทดแทนให้ทันตั้งแต่ปี 2571

มีแผนจัดซื้อเครื่องบินชนิดใดทดแทน F-16 ที่เตรียมปลดระวาง

หลังได้จดหมายจากสหรัฐ ทอ.ได้พิจารณาว่าจะจัดหาเครื่องบินชนิดใดเพื่อทดแทน ได้มีการพูดคุยกันว่าสถานการณ์ของประเทศ ประกอบกับสถานภาพเศรษฐกิจ ทอ.ต้องคำนึงตรงนี้ด้วย สำหรับในปี 2567 ทอ.ยังไม่ได้เสนอจัดซื้อเครื่องบินรบ แต่จะเน้นเรื่องภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง หมอกควัน และไฟป่า ดังนั้น ทอ.จึงคุยกันว่าจะให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือประชาชน โดยจะปรับปรุงเครื่องบิน BT-67 ติดตั้งแท็งก์น้ำเพื่อดับไฟป่าและช่วยภัยแล้ง และจะซ่อมบำรุงเครื่องบินที่มีอยู่ ให้บินได้ด้วยความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ทอ.คงเสนอเรื่องการจัดหาเครื่องบินรบมาทดแทน โดยจะต้อง 1.เป็นเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพ 2.ใช้ขีดความสามารถของ ทอ.ที่มีอยู่ในการซ่อมบำรุง ดูแลได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็น F-16 หรือกริพเพน ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ จะต้องมีคณะทำงานพิจารณาให้เกิดความคุ้มค่าเหมาะสมที่สุด และที่สำคัญ ทอ.ได้รับแนวทางจากรัฐบาล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้นโยบายว่า การที่จะไปจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ต้องให้ประเทศคู่ค้าสนใจผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยด้วย กล่าวคือ เราซื้อเขา เขาต้องมาซื้อสินค้าเรา ซึ่ง ทอ.เห็นด้วยในแนวทางนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะแนวทางนี้ถือว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชน โดยจะพยายามกำหนดอัตราส่วนซึ่งต้องเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ ในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ทอ.ยังให้ความสนใจกับ Offset Program ที่ประเทศผู้ขายต้องจ้างบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยเป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเรา หรือมาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทย ตามที่รัฐบาลและ ทอ.เห็นสมควร ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศอย่างอินเดียและมาเลเซีย ดำเนินการในโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพ โดยอินเดียกำหนดไว้ในกฎหมายว่า ต้องมี Offset อย่างน้อย 30% ของมูลค่ายุทโธปกรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาสำคัญในการเลือกแบบในการจัดหา ยิ่งให้ Offset มาก ยิ่งเป็นประโยชน์กับประเทศชาติในภาพรวม แต่ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 ทอ.จะไม่ซื้อเครื่องบินรบ จะชะลอโครงการไว้ก่อน

นโยบายชะลอโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบในปี 2567 สาเหตุจากรัฐบาลที่ให้งดซื้อยุทโธปกรณ์เพราะต้องการนำงบมากระตุ้นเศรษฐกิจปากท้องใช่หรือไม่?

เป็นความเข้าใจในทิศทางเดียวกันมากกว่า ผมและ ทอ.มองว่า นโยบายคือเรื่องที่ต้องปฏิบัติ เมื่อนโยบายตรงกับความคิดเห็นของกองทัพถือว่าเป็นการเสริมกัน แต่ความจำเป็นเรื่องความมั่นคงทำให้ ทอ.ต้องมีเครื่องบินรบทดแทน โดยสามารถทยอยจัดหาได้ก่อนปี 2575 ซึ่ง ทอ.คงไม่พิจารณาซื้อล็อตใหญ่ในครั้งเดียว 3-5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากอากาศยานมีราคาสูงมาก เพราะมีระบบอาวุธ เรดาร์ และระบบป้องกันตัวเอง ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง ทำให้มาพร้อมกับราคาที่สูงด้วย ดังนั้น ทอ.จะทยอยซื้อครั้งละประมาณ 4 ลำ โดยในอดีต 1 ฝูงบิน มีจำนวน 18 ลำ แต่ด้วยประสิทธิภาพของอากาศยานที่สูงขึ้น ปริมาณจึงต้องลดลงอย่างแน่นอน โดยอาจลดลงเหลือเพียง 12 ลำ ต่อ 1 ฝูงบิน นอกจากนั้น ในการจัดซื้อเครื่องบินรบเราจะต้องวางแผนล่วงหน้าเป็นเวลานาน เพราะต้องเตรียมความพร้อมของนักบิน เจ้าหน้าที่เทคนิค และระบบสนับสนุนต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น โครงการกริพเพน ที่ บน.7 เราใช้เวลานานถึง 10 ปี นับตั้งแต่เริ่มโครงการจนกระทั่งมีความพร้อมรบ ซึ่ง ทอ.จะเสนอแผนจัดซื้อในงบปี 2568 และขอให้เชื่อมั่นว่า ทอ.จะใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน ให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้เกิดความมั่นคง และความปลอดภัยให้กับประเทศชาติ

เตรียมแผนการเข้าชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 67 อย่างไร

ปีนี้ ทอ.ไม่ได้จัดซื้อยุทโธปกรณ์อะไรที่ยิ่งใหญ่หรือใหญ่โต แม้ว่าการซื้อเครื่องบินรบยังคงมีความจำเป็น แต่เมื่อดูจากเหตุการณ์บ้านเมือง และตามนโยบายที่ได้รับจากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทอ.มองว่าภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นน่าจะเป็นภัยจากธรรมชาติ ทั้งนี้ ทอ.มีความพร้อมที่จะไปชี้แจงต่อ กมธ.อย่างมีเหตุผลตามความจำเป็น ผมไม่หนักใจอะไร ทุกครั้งที่ไปชี้แจงคณะอนุกรรมาธิการ หรือ กมธ. ก็เข้าใจในเหตุผลความจำเป็นของกองทัพ อย่างไรก็ตาม ยืนยันด้วยความจริงใจว่า ทอ.มีความพร้อม มีความตั้งใจ มีความจริงใจ และมีความบริสุทธิ์ใจ ที่จะพัฒนากองทัพควบคู่ไปกับความมั่นคงของชาติในทุกๆ ด้าน

ส่วนที่อาจจะมีการท้วงติงในโครงการจัดซื้อเครื่องบิน F-35 แล้วไม่ได้ซื้อนั้น เรื่องนี้มีหลายท่านคิดว่า ทอ.จะเอาเงิน F-35 ไปซื้อกริพเพน 3 ลำ ขอชี้แจงว่า ทอ.ไม่เคยคิดทำเช่นนั้น โดยเงินงบประมาณจำนวน 369 ล้านบาท ที่เตรียมไว้สำหรับ F-35 ในปีแรก ทอ.ได้ส่งคืนกลับไปในระบบงบประมาณ ตามระเบียบของสำนักงบประมาณ เรียบร้อยแล้ว โดย ทอ.ไม่ได้นำเงินส่วนนั้นไปใช้เลย นี่คือคำมั่นสัญญาและเราได้ปฏิบัติตามนั้น

ช่วงเป็นนักบิน F-5 และ F-16 แตกต่างกันอย่างไร

ผมโชคดีที่ได้บินกับเครื่องบินหลายแบบ ผมเคยบินกับเครื่องบิน A-37 ที่ บน.21 .อุบลราชธานี ช่วงแรก อาจจะไม่ค่อยเหมือนคนอื่นเท่าไหร่ เพราะเพื่อนๆ ไปบินกับเครื่องบิน T-33 (T-BIRD) ที่ บน.56 .สงขลา แต่สิ่งที่ได้รับจาก บน.21 ฝูงบิน 211 คือ ความเป็นพี่เป็นน้อง ผมมีครูการบินที่ดุมาก เช่น พล...ศิวเกียรติ ชเยมะ, พล...สุทธิพงษ์ อินทรียงค์ ฯลฯ แต่เมื่อเครื่องลงถึงพื้น ท่านจะกอดคอไปกินข้าว ทำให้เราตั้งใจปฏิบัติภารกิจ และผ่อนคลาย และทำให้เราแยกออกว่างานคืองาน นอกเวลางานคือนอกเวลางาน จากนั้นผมได้มีโอกาสไปบินกับเครื่องบิน F-5 ที่ บน.4 ฝูงบิน 403 .ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซึ่งก็เริ่มเข้มข้นขึ้น เริ่มฝึกบินด้วยแรงจีที่มากขึ้น เคยบินต่อสู้ในอากาศเกินขีดจำกัดแรงจีของเครื่องบิน (7.3 G) เป็นที่มาของ Call sign (นามเรียกขาน) Armstrong แล้วถูกส่งมาบินกับเครื่องบิน F-16 ที่มีขีดจำกัดแรงจีมากถึง 9 G โดยเครื่องบินแต่ละแบบมีภารกิจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของเครื่องบิน ซึ่งเครื่องบิน F-16 มีระบบอาวุธที่แม่นยำ มีสมรรถนะสูง มีความคล่องตัวในการบินต่อสู้ที่ได้เปรียบเครื่องบินแบบอื่นมาก และผมยังได้บินกับเครื่องบินกริพเพนที่สวีเดน ในช่วงที่กำลังมีการจัดหามาประจำการที่ บน.7 .สุราษฎร์ธานี ด้วย

ภายหลังได้บินทั้ง F-16 และกริพเพน จะเป็นส่วนหนึ่งของการชี้วัด ตัดสินใจการจัดซื้อเครื่องบินทดแทนปี 68 หรือไม่

ถือว่าเป็นส่วนหนึ่ง ถ้ามีประสบการณ์ตรงจะรู้ว่าเครื่องบินแบบไหนเป็นอย่างไร มีทิศทางการพัฒนาอย่างไร สอดคล้องและมีความเหมาะสมต่อประเทศไทย และ ทอ.อย่างไร โดยการจัดหาต้องคุ้มค่าที่สุดกับงบประมาณที่ใช้จ่าย การปฏิบัติงานของกำลังพลที่รองรับต้องไม่มีการขยายหน่วย การซ่อมบำรุงต้องสามารถต่อยอดได้ มีสถานที่ มีพื้นที่ปฏิบัติงานรองรับ โรงเก็บสามารถใช้ของเก่าได้บางส่วน ซึ่งจะช่วยให้ ทอ.สามารถประหยัดงบประมาณได้ และสามารถพัฒนาคนขึ้นมาได้อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้มีความพร้อมรองรับเทคโนโลยีในอนาคต

วันนี้ทำหน้าที่เป็น ผบ.ทอ.จะประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นใน ทอ.อย่างไร ภายหลังการโยกย้ายหลายปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งขึ้น

ในส่วนตัวผมคิดว่าไม่มีรอยร้าว อาจเป็นความเข้าใจของสื่อและเขียนข่าวแล้วทำให้รู้สึกว่า ทอ.มีรอยร้าว ผมเองกับพี่ๆ เราอยู่กันมาตั้งแต่เด็ก เคยอยู่ด้วยกัน พร้อมจะเสียสละชีวิตไปด้วยกัน เหตุการณ์แค่นี้ไม่สามารถทำให้เกิดรอยร้าวอะไรได้ ผมเองไม่ได้คิดว่าการมาเป็น ผบ.ทอ. จะมาเป็นเจ้าของ ทอ. แต่พี่ๆ น้องๆ ทุกคนร่วมกันดูแล ทอ. โดยเราจะช่วยกันพัฒนา ทอ.ให้มีความเจริญก้าวหน้า ให้สามารถปฏิบัติภารกิจที่ทุกคนคาดหวังให้สำเร็จ แต่เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น ผมคิดว่าเกิดขึ้นได้ทุกคน เพราะความคาดหวังเรื่องตำแหน่งต่างๆ จริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา แต่อยู่ที่การเขียนข่าวทำให้คาดหวัง ซึ่งเมื่อถึงวันหนึ่งเหตุการณ์นี้จะผ่านไป และในอนาคตต่อจากนี้ไป ความร่วมมือ ความสมัครสมานสามัคคี คำแนะนำ หรือการเข้ามาทำงานร่วมกันด้วยความกลมเกลียว จะเป็นพลังให้กับ ทอ.

ผมใช้คำว่า รู้ รัก สามัคคี เป็น Motto ที่ ทอ.จะนำไปใช้อย่างน้อยอีก 2 ปี ที่ผมอยู่ในตำแหน่ง โดยคำว่า รู้ ทอ.เป็นกองทัพแห่งการเรียนรู้ ทุกคนต้องมีความรู้ต่องานในหน้าที่ ต้องมี Skill ต้อง Upskill ขึ้นมาให้ทันกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือ และต้องก้าวไปข้างหน้าให้ทันกับเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่วนคำว่า รัก คือ ทุกคนต้องมีความรักในหน้าที่การงาน ต้องมีความซื่อสัตย์ ต้องรักในชาติ รักสถาบันพระมหากษัตริย์ รักในการที่เราต้องอยู่ด้วยกัน และสามัคคี คือ การรวมใจเป็นหนึ่งเดียว One For All เพื่อนำพา ทอ.ให้พัฒนา และมีความก้าวหน้าร่วมกัน

การทำหน้าที่ ส..ตามรัฐธรรมนูญ 2560

ผมให้ความสำคัญ เพราะมองว่าการที่ได้รับโอกาสเป็น ส..ถือว่าเป็นการช่วยชาติอีกด้านหนึ่ง แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้รับมอบหมายให้ไปช่วยดูในด้านไหน ดังนั้น ต้องหารือกับ ผบ.เหล่าทัพท่านอื่น แต่เชื่อว่าที่ผ่านมาปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ แต่ละท่านมีภารกิจมาก การที่ไม่ได้ไปร่วมประชุมในบางครั้ง ไม่ใช่ว่ามีเจตนาอย่างอื่น เพียงแต่ความรับผิดชอบและภาระงานในกองทัพของแต่ละท่านค่อนข้างมาก ไม่ใช่ไม่ให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันนั้นจะมีบทบาทอะไรคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ดังนั้น จะพยายามจัดสรรเวลาให้ดีที่สุด

นัฐวัฒน์ ดวงแก้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image