จาตุรนต์ แนะสภา แก้ กม.ก่อนทำประชามติ ด้านไอติม แจงชัด แก้หมวด 1-2 ห้ามขัด ม.255

จาตุรนต์ แนะแก้ กม. ก่อนทำประชามติ ด้านไอติม แจงชัดแก้หมวด 1-2 ห้ามขัด ม.255 ที่สุด สภา มีมติคว่ำร่าง ‘ก้าวไกล’ 262 ต่อ 162

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นผู้เสนอ โดยมี ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านสลับกันลุกขึ้นอภิปรายอย่างกว้างขวาง

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

จากนั้น เวลา 14.50 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. อภิปรายว่า ในการประชุม ส.ส.พรรค พท. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา มีมติให้ส่งเสริมให้พิจารณาญัตติดังกล่าวในสภา เพราะมีความสำคัญและสภาไม่จำเป็นต้องขัดขวาง หรือทำให้ญัตติดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา เพราะการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องการความร่วมมือของทุกฝ่าย หากไม่มีฝ่ายค้านสนับสนุนอาจไม่สำเร็จ

Advertisement

ทั้งนี้ การทำประชามติตามที่เสนอญัตติดังกล่าวเป็นความเข้าใจร่วมกัน เพราะเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากยกร่างใหม่ต้องทำประชามติ ปัญหาต้องพิจารณาคือ การตีความไม่ตรงกัน เรื่องทำประชามติ ในขั้นตอนใด หรือกี่ขั้นตอน หรือกี่ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่เสนอให้ทำประชามตินั้น มีคำถามที่เกิดขึ้นคือ จะมีต่อการแก้รัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเจ้าของเรื่องคือรัฐสภา หากรัฐสภาไม่มีมติ การแสดงความต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การทำประชามติจะมีผลได้อย่างไร ซึ่งกระบวนการทำประชามติตามกฎหมาย คือทำประชามติที่ใช้กติกาแตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ที่ใช้เสียงข้างมากเท่านั้น แต่ปัจจุบันมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติให้ถือเกณฑ์ผ่านคือ การออกเสียงต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ คือ ต้องมีคนมาลงคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ

“การทำประชามติด้วยกติกาดังกล่าว ทำให้รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติได้ยาก ทำให้ผู้ที่มีสิทธิไม่ออกมาใช้สิทธิเพื่อไม่ให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิถึงจำนวนกึ่งหนึ่ง เท่ากับการทำประชามติจะไม่ผ่าน ดังนั้น ผมเห็นว่าหากไม่แก้กฎหมายประชามติก่อนเป็นความเสี่ยงอย่างสูงให้ประชามติไม่ผ่าน เนื่องจากกติกาพิสดารไปกว่ารัฐธรรมนูญ 50 และรัฐธรรมนูญ 60 และมีปัญหาในกระบวนการและความสำเร็จในการจัดทำรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นข้ออ้างของคนที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ เท่ากับปิดโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายจาตุรนต์กล่าว

Advertisement

จากนั้น เวลา 15.00 น. นายพริษฐ์ อภิปรายสรุปว่า ขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่อภิปรายแสดงความคิดเห็น หลังจากที่ได้ฟังคำอภิปรายมา ตนอยู่ในสภาวะที่สบายใจครึ่งหนึ่ง เพราะได้รับคำยืนยันจากตัวแทนพรรคการเมือง ที่จะเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

แต่ทั้งนี้ ตนมี 2 ประเด็นที่ต้องชี้แจงคือ ในส่วนของคำถามในการทำประชามตินั้น เพราะในข้อบังคับกำหนดไว้ว่า หากจำเสนอเป็นญัตติจำเป็นต้องกำหนดคำถาม ตนทำไปตามข้อบังคับไม่สามารถเสนอญัตติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติมาตรา 9 (4) ได้หากไม่เสนอคำถาม และการตีความว่า หากมีการเสนอญัตติให้เดินหน้าทำประชามติผ่านกลไกของ พ.ร.บ.ประชามติมาตรา 9 (4) แล้วหาก ส.ส.และ ส.ว. ให้ความเห็นชอบแล้วส่งไปที่ ครม.จะมีดุลพินิจในการตัดสินใจหรือไม่ว่าจะอนุมัติหรือไม่

หากเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564 มาตรา 9 (4) อย่างละเอียดจะเห็นว่า ไม่ได้เปิดให้ ครม.มีดุลพินิจในการตัดสินใจว่าจะอนุมัติฉันทามติที่ได้รับจากสองสภาหรือไม่ แต่หากเปรียบเทียบกับมาตรา 9 (5) จะเห็นความแตกต่างที่มีนัยยะสำคัญจะเป็นการแจ้งให้ ครม.ดำเนินการไม่มีส่วนไหนขอให้ ครม.อนุมัติ

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลในการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 นั้น ขอชี้แจงว่า สาระสำคัญของญัตตินี้ ไม่ได้เป็นข้อเสนอของพรรค ก.ก.ว่าจะต้องแก้ไขข้อความใดๆ ในหมวด 1 และหมวด 2 แต่เป็นเพียงการบอกว่า หากจะมีการแก้ไขมาตราใดๆ ควรจะให้ ส.ส.ร.ไปถกกันว่าจะแก้ไขเรื่องอะไร แม้เราให้อำนาจให้ ส.ส.ร.แล้ว แต่หลายคนอาจจะยังไม่สบายใจก็ตาม เพราะหากไปพิจารณาแล้วอาจจะมีการแก้ไขข้อความบางส่วนในหมวด 1 และหมวด 2 หากเป็นเช่นนั้น

ต้องเรียนว่า การแก้ไขดังกล่าวไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะแม้จะมีการแก้ดังกล่าวแต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐตามมาตรา 255 ท่านไม่ต้องกังวล รวมถึงข้อความในหมวด 1 และหมวด 2 มีการแก้ไขมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดไว้ว่า หากผ่าน 3 วาระแล้วต้องมีการทำประชามติ

นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า พรรค ก.ก.ไม่กังวลว่าคณะกรรมการศึกษาประชามติของรัฐบาลจะใช้เวลาเท่าไร แต่กังวลว่าจะมีความเห็นต่างหรือเหมือนกับคำถามประชามติที่พรรค ก.ก.เสนออย่างไร ทั้งนี้ กรณีที่พบว่ามีการปรับเปลี่ยนกรรมการ เพราะไม่ให้ ส.ส.เข้าไปเป็นกรรมการศึกษา ดังนั้น หากจะให้ ส.ส.พรรค ก.ก.แสดงความเห็นต่อรัฐบาล จำเป็นต้องใช้เวทีสภา และถือเป็นการใช้เวทีทางแจ้งที่จะดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ ส.ส.อภิปรายครบถ้วน และรวมเวลาพิจารณากว่า 4 ชั่วโมง สภาได้ลงมติผลปรากฏว่า เสียงข้างมาก 262 เสียงไม่เห็นชอบ ต่อ 162 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง ถือว่าญัตติดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image