บุกกระทรวง ชัดทันที ‘สมัชชาคนจน’ กาปฏิทินรอถก 6 ปัญหา เฮ! ครม.เคาะ ‘อัพราคาข้าว’

‘สมัชชาคนจน’ เฮ! กาปฏิทิน รอประชุมแก้ปัญหา 6 คณะ ลั่น กลับหน้ามือเป็นหลังมือ หลังบุกเยี่ยมถึงกระทรวง

สืบเนื่องการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน ซึ่งปักหลักบริเวณถนนลูกหลวง ริมคลองผดุงกรุงเกษม เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นเวลายานนานกว่า 1 เดือน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อย โดยที่ผ่านมาตัวแทนสมัชชาคนจน ได้เข้าหารือกับตัวแทนของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มีการเร่งแก้ปัญหา ล่าสุดวานนี้ (6 พ.ย.) สมัชชาคนจน ประมาณ 400 คน เคลื่อนขบวนไปยัง กรมชลประทาน เพื่อทวงถามความคืบหน้าการนำเรื่องเข้า ครม.เพื่อแก้ไขปัญหา ยกเลิกเขื่อนท่าแซะและเขื่อนแก่งเสือเต้น และนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา รวมถึงไปเร่งรัดให้ กระทรวงแรงงาน กำหนดวัดจัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน เพื่อแก้ไขปัญหาสวัสดิการให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน กลุ่มสมัชชาคนจน เดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อปักหลักร่วมลุ้นผลการประชุมร่วม โดยมี นายภูมิธรรม เวชชชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและติดตามการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน หลังจบการประชุม ครม.

Advertisement

บรรยากาศเวลาประมาณ 15.30 น. นายไพฑูรย์ สร้อยสด เลขาธิการสมัชชาคนจน เปิดเผยว่า การประชุมในช่วงบ่ายวันนี้มี 4 วาระด้วยกัน โดยวาระที่สำคัญมี 2 วาระ คือวาระที่ 3 และ 4

“ในการประชุม นายภูมิธรรม รองนายกฯ มาเป็นประธานในที่ประชุม ท่านนั่งอยู่ประมาณ 15 นาที ก็แจ้งกับที่ประชุมว่ามีภารกิจ ไปร่วมทอดกฐินที่วัดบวร จึงมอบให้รองประธาน คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในที่ประชุมแทน โดยวาระที่เป็นเรื่องสำคัญคือ วาระเพื่อการพิจารณา เรื่อง กำหนดวันในการประชุมของคณะกรรมการ 6 คณะที่เหลือ ที่เราแจ้งว่าต้องได้รับความชัดเจนจากที่ประชุม” นายไพฑูรย์กล่าว

Advertisement

จากนั้น นายไพฑูรย์ เปิดเผยผลหลังการร่วมประชุมกับ คณะกรรมการกำกับและติดตามการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ว่า คณะกรรมการทั้ง 6 ชุดที่ร่วมประชุมหารือ มีรัฐมนตรีที่เป็นประธานในแต่ละคณะเข้าร่วมประชุม ได้ข้อสรุปกำหนดวันประชุมดังนี้

คณะที่ 1 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ที่ดูแลเรื่องภาพรวมอื่นๆ ไม่ได้มีกรณีเฉพาะ มีการกำหนดวันประชุมว่า ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ โดยมี นายภูมิธรรม เป็นประธาน

คณะที่ 2 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน กรณี เขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล มีการกำหนดวันประชุมจากเดิม 24 พ.ย. แต่ที่ประชุมโดย ร.อ.ธรรมนัส กำหนดให้ประชุมนัดแรกวันที่ 20 พ.ย. เวลา 09.00 น. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คณะที่ 3 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน กรณีปัญหาแรงงาน

เรียกว่าตั้งแต่ชุมนุมได้รับความร่วมมือน้อยที่สุด แต่มาเมื่อวาน 6 พ.ย. พี่น้องเราได้ไปเยี่ยมถึงกระทรวง กลับหน้ามือเป็นหลังมือ ปลัดกระทรวงกำหนด 24 พ.ย. เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน ถือว่าได้ความชัดเจนอีกคณะ” นายไพฑูรย์กล่าว (ย้อนอ่าน : สมัชชาคนจน ดาวกระจาย! บุกถาม ‘กรมชลฯ’ เรื่องเข้า ครม.ยัง? ตามนัด ‘แรงงาน’ หลังอ้างงานเยอะ )

คณะที่ 4 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน กรณีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย มีการกำหนดว่า จะเร่งให้มีการประชุมภายในวันที่ 24 พ.ย. เช่นกัน

คณะที่ 5 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ถือว่ามาเกินคาด เพราะเดิมที่คุยกันที่กระทรวงเกษตร กระทรวงพลังงานให้เป็นวันที่ 30 พ.ย. แต่วันนี้ในวงประชุมตัวแทน รมว.มาด้วย ร.อ.ธรรมนัสช่วยประสาน ผลสรุปนัดประชุมวันที่ 16 พ.ย.นี้ ถือว่าเกินเป้า ไม่คิดว่าจะได้เร็วกว่าเพื่อน

ภาพจาก บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

คณะที่ 6 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน กรณี การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ป่าไม้และนิคมสหกรณ์ ประชุมพร้อมกับคณะที่ 2 คือ วันที่ 20 พ.ย.นี้ ซึ่ง 2 คณะนี้จะประชุมติต่อกัน

นายไพฑูรย์กล่าวต่อว่า ส่วนวาระต่อไปคือ ‘วาระเร่งด่วน’ 4 เรื่อง คือ

1.โปร่งขุนเพชร เงินช่วยเหลือเบื้องต้นระหว่างการรอหน่วยงานที่ดิน

2.ทะเลและชายฝั่ง จ.สุราษฎร์ธานี เรื่องของการซ่อมบ่อก็ได้มีการประสานงาน ที่ประชุมมอบหมาย ร.อ.ธรรมนัส ดำเนินการประสานอย่างเร่งด่วน จากนั้นได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเข้าไปซ่อมบ่อ ขอให้มีการผ่อนผันกัน

3.โคกหนองเหล็ก จ.สุรินทร์ ร.อ.ธรรมนัส ก็รับปากว่าจะประสานและเร่งให้ และการหยุดฟันต้นยางพาราใน จ.ตรังและพัทลุง เรื่องนี้ ร.อ.ธรรมนัส แจ้งว่าเคยติดตามมาตั้งแต่ รัฐบาลชุดที่แล้ว จะเร่งรัดกระทรวงทรัพย์ฯ ให้

ส่วนเรื่องอื่นๆ อีกเรื่องคือ บันทึกแนวทางผ่อนผันทำกินตามวิถีชีวิต จะมีการเสนอเข้า ครม. ซึ่งเคยเข้า ครม.มาแล้วในปี 2562 จึงไม่ต้องนำเข้าใหม่ แต่ให้ทำหนังสือแจ้งเวียนหน่วยงานที่มีข้อพิพาทให้ดำเนินการผ่อนผัน ตามบันทึกข้อตกลงนั้น

นายไพฑูรย์กล่าวต่อว่า ส่วนวาระอื่นๆ คือ เขื่อนท่าแซะและเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันหนักแน่นว่า เรื่องนี้อยู่ในขอบเขตของกระทรวงเกษตรฯ จะจัดการให้ตามข้อเสนอ อีกเรื่องคือ ‘เรื่องข้าว’ รัฐมนตรีแจ้งในที่ประชุมว่า เรื่องนี้พยายามเถียงสู้แทนพี่น้องชาวนาแล้ว ในคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ สุดท้ายที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ กลับไปทบทวนใหม่

“รัฐมนตรีบอกในที่ประชุมว่า ‘ทางโรงสีเองยังเสียงแข็งอยู่ ไม่ยอมให้มีการปรับราคาการรับซื้อข้าวหอมมะลิให้เท่ากัน’ แต่ทาง ร.อ.ธรรมนัสแจ้งต่อว่า เรื่องข้าว มาตรการช่วยเหลือตอนนี้นั้น เมื่อวานได้ประชุม มาตรการช่วยเหลือที่ได้แถลงออกมา คือการแทรกแซงราคา ให้สหกรณ์ในพื้นที่มีการกำหนดราคาซื้อข้าวหอมมะลิสด อยู่ที่ตันละ 12,000 บาท และมีค่าจัดการอีก 200 บาท / ตัน ค่าเก็บไว้ในสหกรณ์ สำหรับรอการขาย อีก 1,500 บาท / ตัน สหกรณ์เอาไป 1,000 บาท ชาวนาได้ 500 บาท และประการที่ 4 ค่าเก็บเกี่ยว 1,000 บาท /ไร่ แต่ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ชี้แจงมาแบบนี้ จริงเท็จแค่ไหนไม่รู้” นายไพฑูรย์เผย

โดยผู้ชุมนุมปรบมือดังสนั่น หลังจบการรายงานผลการประชุม

ภาพจาก บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image