อาจารย์ ม.ดัง ไม่อยากเห็น ‘กองทุนเจ๊ง’ รัวนโยบาย เสนอกู้ระบบประกันสังคม ดัน ‘บำนาญติดตัว’

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่ห้องประชุมประภาศน์ อวยชัย อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส สำนักข่าวชายขอบ สำนักข่าว The Reporters และ The Isaan Record จัดเวทีเสวนา “เลือกตั้งคณะกรรมการ ประกันสังคม ปฏิรูปอะไร? อย่างไร?”

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เวลา 11.00 น. ผู้สมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมทั้ง 10 คน เริ่มแสดงวิสัยทัศน์ของทีมทีละราย ท่ามกลางผู้ร่วมงานคับคั่งร่วมฟังล้นห้องประชุม (อ่านข่าว ษัษฐรัมย์ ประกาศ ‘ปฏิรูปชีวิตคนทำงาน’ เปลี่ยนทุกบาทให้คุ้มศักดิ์ศรี เก็ตหัวอกคนธรรมดา)

ในตอนหนึ่ง ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 48 อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังแถบ ‘สามย่าน’ กล่าวว่า ตนเป็นผู้สมัครอิสระที่คุยกับผู้สมัครท่านอื่น ซึ่งเป็นอาจารย์เหมือนกัน พวกเรามีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน อยากผนึกกำลังเอาประสบการณ์ทำงานที่เรามี เสนอตัว เพื่อให้เกิดการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน

ตนอยากเสนอวิสัยทัศน์ ถ้าได้เป็นกรรมการประกันสังคม เราอยากให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.ความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม 2.การคุ้มครองสิทธิ และ 3.การส่งเสริมประกันสังคมที่สะดวก โปร่งใสมากขึ้น

Advertisement

1.ความมั่นคงของกองทุน เป็นการประกันการันตีสิทธิประโยชน์ทั้งระยะสั้นและยาวของผู้ประกันตนทุกรุ่นทุกคน ให้อยู่ยั่งยืนยาวนาน ผู้ประกันตนสามารถพึ่งพาได้อย่างอุ่นใจ

“ไม่ใช่ว่าเป็นกองทุนที่ใครๆ มาพูดว่า เดี๋ยวอีก 10-20 ปีก็เจ๊ง เราไม่อยากเห็นแบบนั้น การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ส่งผลต่อทุกองคาพยพเศรษฐกิจของสังคมไทย ในญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เราเห็นแล้วว่าความมั่นคงของกองทุนในลักษณะเดียวกันนี้ได้รับผลกระทบ และไม่สามารถหนีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเช่นนี้ได้

“กองทุนประกันสังคมในปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิชราภาพแล้ว 7 แสนคน เราอาจจะยังเสียเงินกับเรื่องนี้ไม่มาก อยู่ที่ 24,000 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 30,000 กว่าบาท/คน หรือต่อเดือน 2,700 ถ้าในช่วง 15-20 ปีจากนี้ไป คน 8 ล้านคนนี้ ก้าวข้าสู่ช่วงวัยที่เริ่มรับบำนาญชราภาพจะเกิดอะไรขึ้น หรือสมมุติแค่ 4 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของคนที่อายุ 40-50 ปีขึ้นไปจะเกิดอะไร เท่ากับว่าจะมีคนที่รับบำนาญจาก 700,000 คน เติมเข้าไปในระบบอีก 4 ล้านคน ในช่วง 15-20 ปี

Advertisement

ฉะนั้น จากที่เราจ่ายบำนาญชราภาพ จาก 2,400 ล้านบาท มีความเป็นไปได้สูงที่จะขึ้นไปถึงหลัก 100,000-200,000 ล้าน หรือมากกว่านั้น ส่วนต่าง 16,000 ล้านบาท เป็นภาพลวงตาระยะสั้น ในระยะ 15-20 ปี จะโหดกว่านั้น เรื่องการวางแผนในปัจจุบัน จำเป็นต้องคิดอย่างรอบคอบ” ศ.ดร.วรเวศม์ชี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สาวโรงงานเข้าใจหัวอกลูกหนี้ ลุยชิงเก้าอี้ ‘บอร์ดประกันสังคม’ ดร.ปิยรัชต์ชู 5 ข้อ พลังแรงงานสหกรณ์ ร่ายกวีก่อนดีเบต

ศ.ดร.วรเวศม์เผยว่า แนวทางที่จะสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนมี 3 ข้อ คือ 1.ต้องผลักดันศักยภาพของกองทุนประกันสังคม ให้ทำได้ดีกว่านี้ เพราะจะเป็นวิธีการเพิ่มรายได้เข้ากองทุนที่สำคัญประการหนึ่ง เนื่องจากเงินสมทบที่เข้ามาไม่พอ รายได้จากการลงทุนจะเป็นหัวใจสำคัญ

2.ต้องเร่งรัดเงินสมทบค้างจ่ายจากรัฐบาล ถ้าไม่ได้มาจะมีต้นทุนค่าเสียโอกาส และทำให้เรามองสถานะของกองทุนผิดไปด้วย เพราะภาระผูกพันที่เราต้องรวมเป็นหนี้สินคือ 1.8 ล้านล้าน ดังนั้น จริงแล้วเหลือเพียง 500,000 ล้านเท่านั้น

3.การทำให้มั่นคง ต้องปฏิรูปกองทุน แต่หัวใจสำคัญคือแผนและขั้นตอน เราอาจกังวลว่าหากปรับอายุรับบำนาญจาก 55 เป็น 60 ในรวดเดียว หรือปรับสูตรรับบำนาญชราภาพในรวดเดียว ความจริงมีผลได้ผลเสียในทันที และผู้ประกันตนจะทะเลาะกัน ประเด็นสำคัญคือการทำแผนที่ระบุขั้นตอนในช่วงคาบเกี่ยวเวลา 15-20 ปีนี้ เป็นเรื่องสำคัญนอกจากข้อเสนอว่าจะทำอะไร

ประเด็นที่ 2 ถ้าเราคิดถึงคนเป็นศูนย์กลางการคุ้มครองสิทธิผู้ประกันตน ตนอยากผลักดัน 2 เรื่องคือ 1.ทบทวนการจัดสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ

“ผมคิดว่าสำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่องการออกจากงาน ตกงาน หรือเปลี่ยนจากมาตรา 33 เป็น 39 เท่านั้น ความจริงแล้วรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่และตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ที่อาจไม่ได้ทำงานเป็นลูกจ้างตลอดชีวิต อาจจะเปลี่ยนจากสอนหนังสือไปขายผัดไทย หรือประกอบอาชีพอิสระทำงานนอกระบบ การเปลี่ยนแปลงตรงนี้จะเร็วและมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ของสปีด ดังนั้น สิทธิประโยชน์เรื่องบำเหน็จและบำนาญจะทำอย่างไรให้ติดตัวเขา มาตรา 33 และ 39 จะเชื่อมโยงกันอย่างไร” ศ.ดร.วรเวศม์กล่าว  (อ่านข่าว ดีเบต ‘บอร์ดประกันสังคม’ เข้ม เสนอ เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร-เบี้ยชราภาพ)

ศ.ดร.วรเวศม์กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่สำคัญคือ เราอยากเห็นการ ‘ลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิในการรักษาพยาบาล’ ทำไมเราต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยายาล ซึ่งปัจจุบันสิทธิเป็นแพคเกจรวมกัน รักษาพยาบาลเสียชีวิต ทุพพลภาพ และคลอดบุตร ผู้ประกันตนและรับจ่ายฝ่ายละ 1.5 นายจ้างจ่าย 1.5

“สมมุติว่าถ้ารัฐบาลยอมลดความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบ โดยการจ่ายเงิน แทนที่จะเป็น 1.5 ก็จ่ายอย่างไรก็ได้ให้มีความสอดคล้องกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งความจริงยังเหลือเงินในส่วนที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่าย ถ้าหากตัดส่วนตาย ทุพพลภาพ หรือคลอดบุตรออกไปแล้ว ส่วนนี้จะมาเสริมสิทธิประโยชน์อะไรก็ตามที่เราอยากได้ได้อีก” ศ.ดร.วรเวศม์กล่าว

ศ.ดร.วรเวศม์กล่าวอีกว่า ประการสุดท้าย ประกันสังคมควรที่จะสะดวกและโปร่งใสมากขึ้น ทำอย่างไรให้ทุกคนที่เป็นผู้ประกันตนได้เห็นว่า ในกรรมการประกันสังคมใครพูดอะไรไว้ ที่สำคัญคือ วาระรายงานการประชุมจะต้องเปิดให้ผู้ประกันตนได้เห็น ว่าในแต่ละครั้งมีการตัดสินใจอย่างไร ใครแสดงความคิดเห็นอย่างไร จะทำให้ประกันสังคมโปร่งใสขึ้น

“ขอความกรุณาทุกท่านเลือกหมายเลข 48 79 และ 113 เลือกผู้สมัครอิสระทั้ง 3 คน” ศ.ดร.วรเวศม์กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ธนาคารแรงงาน’ ทำได้ชัวร์! อ.เศรษฐศาสตร์งัดแผน ใช้ประกันสังคม ‘ล้างหนี้-ปล่อยกู้’ กำไรเหนาะๆ

แรงงานเพื่อสังคม อาสา ‘ทวงเงินนายจ้าง’ เปลี่ยนกฎว่างงาน หยุดวงจรกลั่นแกล้ง ลั่น ต้องมีสิทธิเลือก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image