ม็อบนิ่ง ปชช.ไม่นิ่ง! ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน ชี้ เสนอคำถาม ‘ประชามติ’ สุดคึกไม่ต่าง ‘ลงถนน’

ม็อบนิ่ง ปชช.ไม่นิ่ง! ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน ชี้ เสนอคำถามประชามติสุดคึก แนะผู้ใหญ่เลิกคิด ‘เป็นเด็กเป็นเล็กอย่ายุ่งการเมือง’

เมื่อวันที่ 14 มกราคม เวลา 15.00 น. ที่ร้าน ‘ประชาบาร์’ สี่พระยา บางรัก กรุงเทพฯ ‘ประชาบาร์’ ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History จัดเสวนาเปิดตัวนิทรรศการ ‘เด็กเอ๋ย เด็กเลว : ประวัติศาสตร์ขบวนการนักเรียน นักศึกษา ปี 2563’ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายวสิษฐ์พล ตั้งสถาพรพันธ์ ผู้จัดการร้านประชาบาร์ , นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw-ไอลอว์) ในฐานะผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน , น.ส.บุศรินทร์ แปแนะ iLaw / Mob Data Thailand ดำเนินรายการโดย นายเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์  (อ่าน ไอลอว์ จี้รัฐโฟกัส ‘นิรโทษกรรม’ ถาม สังคมจะเดินหน้าอย่างไร ถ้าอดีตยังไม่ถูกชำระ)

จากซ้าย นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน , น.ส.บุศรินทร์ แปแนะ iLaw / Mod Data Thailand และนายวสิษฐ์พล ตั้งสถาพรพันธ์ ผู้จัดการร้านประชาบาร์ ดำเนินรายการโดย นายเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ในตอนหนึ่ง นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน กล่าวว่า ตนทำงานอยู่ ‘ไอลอว์’ มาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี เพิ่งเริ่มตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนใน พ.ศ. 2561 แม้เห็นมิติต่างๆมากมายในประวัติศาสตร์ ทั้งอาหารการกิน ทั้งการเกิดแก่เจ็บตาย แต่มิติที่ขาดหายไปคือ ‘มิติทางการเมือง’ (ย้อนอ่าน การเมืองร่วมสมัย ใน ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’ หลักฐานประวัติศาสตร์ นอกนิยาม ‘โบราณวัตถุ’)

“เรารู้สึกว่าประชาชนคนธรรมดาก็อยู่แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์ของสังคม จึงเริ่มจากการเก็บของต่างๆ จากทั้งม็อบบ้าง เริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ จากมีเสื้อไม่กี่ตัว เริ่มจริงจังมากขึ้นก็มีคนเสื้อแดงนำคอลเล็กชันต่างๆมาให้บ้าง ก็เริ่มมาจากตรงนั้น พิพิธภัณฑ์สามัญชน เก็บรักษาสิ่งของเครื่องใช้ในกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เราอยากจะเป็นคลังวัตถุสิ่งของ หากใครต้องการสิ่งของต่างๆ เพื่อไปใช้ในการวิจัย ศึกษาข้อมูล กิจกรรมต่างๆ เรามีหน้าที่ให้ยืม” นายอานนท์กล่าว

Advertisement

นายอานนท์ กล่าวว่า  ในครั้งนี้ได้รับโจทย์จาก ‘ประชาบาร์’ เกี่ยวกับ ‘ม็อบ 2563’  ซึ่งค่อนข้างยากในแง่ที่โฟกัสไปยังเยาวชน นักเรียน นักศึกษา แม้มีสิ่งของเครื่องใช้ใน พ.ศ.2563 มากมาย

“เมื่อเริ่มมีการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก ภาพเริ่มเบลอ ว่าเป็นการชุมนุมของเยาวชนหรือของประชาชน เส้นมันเริ่มเบลอ เราจึงต้องเริ่มไปคุ้ยหาของสะสมของเราที่มันมี Movement และ Represent การผูกพันกับสถาบันการศึกษา เราก็เลือกมาโดยมีค่อนข้างจำกัด

Advertisement

สิ่งของที่เราเก็บช่วงนั้นที่มีแน่ๆ คือ ป้ายโปสเตอร์ผ้า ก็มาเจอความท้าทายว่า พื้นที่แคบ เวลาที่นักศึกษาทำป้ายผ้าเขาจะเน้นทำใหญ่ เนื่องจากเวลาเดินม็อบ การถ่ายรูปต่างๆจะมองไม่เห็น เราก็ชวนทางทีมประชาบาร์ไปช่วยกันเลือกดูว่ามันมีอะไรน่าจัดแสดงบ้าง และข้อมูลเบี้องต้นแต่ละชั้นนั้นมีเรื่องราว และเรื่องเล่าของตัวมันเอง

วัตถุมีความหลากหลายแบบ อย่างเสื้อที่นักศึกษาขายเพื่อใช้ระดมทุนในการทำม็อบ ทำกิจกรรมต่าง และที่เราเห็นบ่อยๆก็คือ สติ๊กเกอร์ เราจะเห็นความหลากหลายของการวาด การออกแบบสำหรับใช้ในการรณรงค์ รวมถึงมีทั้งศิลปินที่ต้องการเปิดตัวทางการเมืองมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ งานศิลปะทางการเมืองมีความหลากหลายมากขึ้นที่ในพื้นที่การชุมนุม” นายอานนท์ กล่าว

นายอานนท์ กล่าวว่า ส่วนของพิพิธภัณฑ์สามัญชน  ในการเคลื่อนไหวในช่วงนั้น ประชาชนอยู่ในช่วงการตื่นตัวทางการเมือง ทุกคนก็ได้มาร่วมกันลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ ‘ไอลอว์’ บอกว่ากระดาษหมด ก็ได้กระดาษจากประชาชน

“สุดท้ายประชาชนทำสำเร็จ และไปยื่นที่รัฐสภา สุดท้ายในรัฐธรรมนูญร่างนั้นก็ถูกนำไปดีเบตในสภา และสุดท้ายมันตกเพราะว่า ส.ว. ไม่รับหลักการ  แต่ก็เป็นประวัติศาสตร์แล้วว่าประชาชนร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ถูกบรรจุวาระ นั่นคือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่ผมเก็บไว้ คือสคริปต์ที่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ในขณะนั้นเข้าไปอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในสภา

ผมหวังว่าถ้าวันหนึ่ง ภาคประชาชนได้เสนอรัฐธรรมนูญที่สามารถผ่าน และใช้ได้จริงเราจะสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า การเสนอร่างในปี พ.ศ.2563 เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่ามันจะไม่สำเร็จในครั้งนั้น แต่ในอนาคตมันจะสำเร็จ และทุกครั้งที่เรามองความสำเร็จในอนาคต เราจะหันมามองว่ามันเริ่มจากจุดเล็กๆ นี่คือความสำคัญของมัน”  นายอานนท์ กล่าว

นายอานนท์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการลงถนน ยังมีการลงชื่อเพื่อเสนอคำถามจัดทำร่างประชามติใหม่  จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100% ก็เป็นความเคลื่อนไหวหนึ่งที่คึกคักไม่ต่างจากม็อบ เนื่องจากมีคนลงชื่อมากกว่าสองแสนคน ภายใน 1 สัปดาห์ โดยการลงรายชื่อด้วยกระดาษเท่านั้น (ย้อนอ่าน ภาคปชช.หอบ 2 แสนชื่อ ยื่นกกต. ทำประชามติร่างรธน.ฉบับใหม่ ‘ยิ่งชีพ’ หวังตรวจทันก่อนประชุมครม.นัดแรก)

“ผมเชื่อว่าประชาชนยังพร้อมที่จะทำอะไรบางอย่างอยู่ เพียงแค่เราหาโจทย์การแอ็คชั่นแบบไหนที่สามารถเข้ากลับไลฟ์สไตล์เขาได้….

เท่าที่มองไกลๆ การเคลื่อนไหวไม่ได้มีแค่ม็อบ การทำวงเสวนาก็เป็บรูปแบบของการเคลื่อนไหว ก็เป็นแนวคิดใหม่ที่มาถกกัน ผมเชื่อว่าคนที่ตื่นออกมาจากการเคลื่อนไหวในปี พ.ศ.2563 พอตื่นแล้วเขาคงไม่กลับไปหลับ เพียงแต่ว่าสถานการณ์อาจจะไม่จำเป็นที่ต้องไปลงถนน หรืออาจจะยังไม่มีความพร้อม มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันหยุดนิ่ง อาจจะเป็นความเคลื่อนไหวที่มองไม่เห็น” นายอานนท์ กล่าว

จากนั้น นายอานนท์ กล่าวถึง ป้ายข้อความ ‘ถ้าการเมืองดี บ้านกูมีเครื่องล้างจานไปนานแล้ว’ ซึ่งตนเก็บจากม็อบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2563 คนที่เขียนข้อความแบบนี้ ต้องเป็นคนรุ่นใหม่

“สิ่งที่ผมจะสื่อคือว่า คนที่คิดว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ มันน่าจะหมดความหมายไปแล้ว เพราะว่า นโยบายที่เด็ก และเยาวชนมีผลกระทบเขาก็มีสิทธิ์ที่จะออกมาพูด ว่าเขาต้องการอะไรมีมุมองแบบไหน

ผมไม่มีอะไรฝากถึงรัฐ แต่อยากจะฝากถึงคนที่อายุมากกว่าผม หรือน้อยกว่าผม คนที่มีอำนาจบังคับบัญชาอะไรบางอย่างให้เปลี่ยนวิธีคิดที่ว่า เป็นเด็กเป็นเล็กอย่าไปยุ่งการเมือง ซึ่งมันน่าจะหมดความหมายไปแล้ว อยากให้มีการเปิดพื้นที่ให้เขาสะท้อนความไม่พอใจ ให้เขาได้สะท้อนความคิดเห็น ขอให้มองเขาเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่อยู่ในสังคม เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาหลายๆเรื่อง อย่างน้อยเด็กต้องพูดได้” นายอานนท์ กล่าว

ทั้งนี้ นิทรรศการ ‘เด็กเอ๋ย เด็กเลว : ประวัติศาสตร์ขบวนการนักเรียน นักศึกษา ปี 2563’ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม  – 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ที่ร้านประชาบาร์ Pracha Bar เขตบางรัก กรุงเทพฯ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image