ไอลอว์ จี้รัฐโฟกัส ‘นิรโทษกรรม’ ถาม สังคมจะเดินหน้าอย่างไร ถ้าอดีตยังไม่ถูกชำระ

เจ้าหน้าที่ไอลอว์ จี้รัฐโฟกัส ‘นิรโทษกรรม’ ถาม สังคมจะเดินหน้าอย่างไร ถ้าอดีตยังไม่ถูกชำระ ชี้ เด็กเจอคดีการเมืองกว่า 200 ราย 

เมื่อวันที่ 14 มกราคม เวลา 15.00 น. ที่ร้าน ‘ประชาบาร์’ สี่พระยา บางรัก กรุงเทพฯ ‘ประชาบาร์’ ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History จัดเสวนาเปิดตัวนิทรรศการ ‘เด็กเอ๋ย เด็กเลว : ประวัติศาสตร์ขบวนการนักเรียน นักศึกษา ปี 2563’ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายวสิษฐ์พล ตั้งสถาพรพันธ์ ผู้จัดการร้านประชาบาร์ , นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw-ไอลอว์) ในฐานะผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน , น.ส.บุศรินทร์ แปแนะ iLaw / Mob Data Thailand ดำเนินรายการโดย นายเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์  (อ่าน ม็อบนิ่ง ปชช.ไม่นิ่ง! ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน ชี้ เสนอคำถาม ‘ประชามติ’ สุดคึกไม่ต่าง ‘ลงถนน’) 

ในตอนหนึ่ง น.ส.บุศรินทร์ แปแนะ จาก โครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw-ไอลอว์)/ Mob Data Thailand กล่าวว่า ตนทำงานหลักอยู่ที่ไอลอว์ ตั้งแต่ พ.ศ.2559 เพราะสนใจประเด็นการเมือง รุ่นพี่เล่าให้ฟังว่า พรบ.การชุมชุมในที่สาธารณะที่ออกในปี พ.ศ.2558 มีปัญหาอย่างไร ต่อมาในช่วงประมาณ พ.ศ. 2562 มีการชุมนุมฮ่องกง ตนได้แรงบันดาลใจในการศึกษาข้อมูลของคนที่นั่นทั้งการเคลื่อนไหว ทั้งการสรุปตัวเลขการใช้กำลังต่างๆ

“เรารู้สึกมันว้าวดี เข้าไปตามการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็สนุก คิดว่าถ้าเราอยากให้มีพื้นที่สาธารณะ ในการชุมนุมได้ขยายตัวมากขึ้น เราก็ต้องประกันก่อนว่า กฎหมายจะไม่กดปราบประชาชนใช่ไหม ซึ่งในตอนนั้น พรบ.การชุมนุมมีปัญหาจริงๆ เลยคิดกับเพื่อนที่ แอมเนสตี้ ไทยแลนด์ เริ่มทำฐานข้อมูลการชุมนุมของไทยขึ้นมาชื่อ Mob Data Thailand ไม่คาดคิดว่า มันจะมาเจอการชุมนุมในประเทศเป็นร้อยครั้งขนาดนี้ เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการแก้ไข พรบ.ชุมนุมในอนาคต” น.ส.บุศรินทร์ กล่าว

Advertisement
จากซ้าย นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน , น.ส.บุศรินทร์ แปแนะ iLaw / Mod Data Thailand และนายวสิษฐ์พล ตั้งสถาพรพันธ์ ผู้จัดการร้านประชาบาร์ ดำเนินรายการโดย นายเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

น.ส.บุศรินทร์ กล่าวว่า ตนได้สำรวจภายในนิทรรศการเจอสติ๊กเกอร์ ‘เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ’ ของกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และอีกหนึ่งชิ้นของ Spring Movement ชิ้นงานในปี พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้หวนคิดถึงการชุมนุมในช่วงเวลานั้นซึ่งเกิดขึ้นจากคนตัวเล็กที่รู้สึกอึดอัดอะไรสักอย่าง

“เท่าที่จำได้ Spring Movement จะมาพร้อมกับ ต้าร์ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่หายตัวไป ตอนนั้นก็มีทั้ง เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กลายเป็นปรากฎการณ์ป๊อปอัพ การหายตัวไปของ ต้าร์ วันเฉลิม เขารู้สึกว่าต้องมีรีแอคอะไรบ้างอย่างเกิดขึ้น พอรู้สึกเจอคนประเภทเดียวกันที่เจอความไม่เป็นธรรม จึงรวมตัวกันลุกขึ้นมาทำอะไรบ้างที่เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

สุดท้ายความพยายามเล็กๆน้อยๆ เสมือนเป็นแรงกระเพื่อมที่ก่อให้เกิดคลื่นใหญ่ในช่วงหลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอก อย่างน้อยเรามี 2 มือ แต่เรากล้าหาญที่จะมายืนข้างหน้า มันคือแรงบันดาลใจที่เราต้องทำอะไรบ้างอย่างให้ประเทศเรามีเสรีภาพมากกว่านี้ มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมากกว่านี้”  น.ส.บุศรินทร์ กล่าว

Advertisement

 

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า มองสถานการณ์การชุมนุมในตอนนี้เป็นอย่างไร ?

น.ส.บุศรินทร์ กล่าวว่า ตนเคยทำงานวิจัยชิ้นเล็กๆ ในเรื่องความรุนแรงทางการเมือง เมื่อปี 2549 พอกลับไปย้อนอ่าน เรากลับไปย้อนดูด้านมิติความรุนแรง และชุมนุมทางการเมือง ในวิธีการที่ปิดปากปิดเสียงของประชาชนที่เห็นต่างเริ่มมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ในตอนที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาใช้ถนนในการชุมนุม ในการใช้กฎหมายก็มีการค้นว่าจะเอากฎหมายใดปราบปรามผู้ชุมนุมได้บ้าง ก็จะนำมาปราบ

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2553 มีทั้ง พรบ.ฉุกเฉิน มีทั้งการได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม โดยยังไม่ได้รับการเยียวยา มาถึงปี พ.ศ. 2557 มีการทำรัฐประหาร และมีคนออกมาคัดค้าน ยิ่งปล่อยให้คนมาคัดค้านมากเท่าไหร่ ยิ่งมีคนใช้กำลังมากขึ้น ก็มีคำสั่งจากหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ตอนนั้นนักศึกษาได้ออกมาคัดค้าน ช่วงนั้นอยู่กันด้วยความหวาดกลัว  และได้มีการออกกฎหมายมาฉบับหนึ่งที่ส่งผลกระทบหลายรูปแบบ คือกฎหมายได้ออกมาเพื่อไม่ให้ประชาชนมาต่อต้านรัฐในประเด็นการเมือง ซึ่งมันส่งผลไปยังทางอ้อม ถึงประชาชนที่เรียกร้องทางปากท้อง ทางทรัพยากรด้วย เป็นอีกบทหนึ่งที่รัฐใช้ในการปราบปราม

“(พ.ศ.2563) คนที่โดนใช้กฎหมายก็เริ่มจะเป็นเด็ก หรือเยาวชน ยิ่งเป็นเด็กที่อยู่ในวัยมัธยม จะรับมืออย่างไร  เราก็ติดตามดูว่าเขาจะทำอย่างไร จะหนักมือไปเลย หรือจะเบามือ ก็พบว่ามีกระบวนท่าในการรับมือใหม่ๆ”  น.ส.บุศรินทร์ กล่าว

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงสิ่งอยากจะสื่อสารกับรัฐ น.ส.บุศรินทร์ กล่าวว่า ตอนนี้มีเด็กที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองมากกว่า 200คน อยากจะย้ำว่าเด็กเหล่านี้มีอนาคตข้างหน้า รัฐควรนิรโทษกรรมให้กับพวกเขา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ควรนึกถึงหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กไว้ก่อน

“ไอลอว์ พยายามที่จะเสนอร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ซึ่งเราถอยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549  การนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่ายโดยไม่รวมกับเจ้าหน้าที่รัฐ และรวมคดีมาตรา 112 คิดว่ารัฐควรรับในประเด็นนี้ สังคมจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร ถ้ายังไม่ชำระสิ่งที่ยังไม่ชัดเจนในอดีต ในโอกาสครั้งนี้เรามีรัฐบาลใหม่ อยากจะให้มองเรื่องประเด็นการเยียวยาการนิรโทษกรรมเป็นหลัก น.ส.บุศรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ นิทรรศการ ‘เด็กเอ๋ย เด็กเลว : ประวัติศาสตร์ขบวนการนักเรียน นักศึกษา ปี 2563’ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม  – 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ที่ร้านประชาบาร์ Pracha Bar เขตบางรัก กรุงเทพฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image