เศรษฐา ลุยพื้นที่จริง ดูจุดก่อสร้างแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร กลุ่มต้าน ปักป้ายค้านโชว์ขบวนนายกฯ

เศรษฐา ลุยพื้นที่จริง ดูจุดก่อสร้างแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร กลุ่มต้าน ปักป้ายค้านโชว์ขบวนนายกฯ

จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีและคณะ ลงพื้นที่การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดระนองระหว่างวันที่ 22-23 มกราคม 2567 นั้น

ล่าสุดเมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 22 ม.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมายังพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ ถือเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาลงพื้นที่จริง ซึ่งเป็นจุดที่ดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ภายหลังจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายและมีการโรดโชว์โครงการนี้ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาบริหารประเทศมา 4 เดือน เพื่อชวนนักลงทุนมาร่วมในโครงการนี้

Advertisement

สำหรับประเด็นการลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ มีประเด็นที่นายกรัฐมนตรี ต้องติดตามด้วยกัน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.เรื่องการผลักดันให้แลนด์บริดจ์เป็นประตูการค้า โดยเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้า-ส่งออกของไทย และเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้า-ส่งออกของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศในกลุ่มโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงจีนตอนใต้

2.เรื่องของการถ่ายลำเรือสินค้า โดยพัฒนาให้แลนด์บริดจ์เป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ในมหาสมุทรอินเดีย และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน เป็นต้น โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน

3.การพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า โดยมีการตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพร ส่งเสริมแลนด์บริดจ์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้

Advertisement

4.การรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ และการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานทางกฎหมาย และแผนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันในพื้นที่มีประชาชนที่คัดค้านและสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ โดยผู้ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่อ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นแหล่งทำประมงพื้นบ้าน หากก่อสร้างท่าเรือแล้วจะไม่มีที่ทำมาหากิน นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในแนวเส้นทางโครงการ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย จึงอยากให้รัฐบาลเยียวยาและจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ ขณะที่บางคนเห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะบ้านเมืองจะได้เจริญ ประชาชนจะได้มีงานทำ

ทั้งนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง ได้เยี่ยมชมผังท่าเรือ บริเวณแหลมอ่าวอ่าง ซึ่งเป็นจุดที่จะดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะมีพื้นที่ถมทะเล 6,976 ไร่ ระยะทางสะพานข้ามไปยังท่าเรือ 4.5 กิโลเมตร โดยมีช่องลอดให้เรือประมงสามารถผ่านได้ มีข้อความว่า No rambit

อย่างไรก็ตามก่อนที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงปรากฏว่าได้มีกลุ่มคัดค้านมายืนชูป้ายผ้าขนาดใหญ่ เขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า No landbridge ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กันไม่ให้เข้ามาในพื้นที่เพียงให้ชูป้ายอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าอุทยาน เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image