09.00 INDEX ข้อท้วงติง ‘รอง’ นายกรัฐมนตรี กรณี จับกุม ณ ทำเนียบรัฐบาล

มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างสูงจากคำท้วงติงของ รองนายกรัฐมนตรี ในกรณีการเข้าจับกุม “ผู้ต้องหา” ใน คดี “ตบทรัพย์” ภายใน ทำเนียบรัฐบาล

เป็นความละเอียดอ่อนเมื่อรองนายกรัฐมนตรีใช้คำว่า “ตำรวจไม่ได้ให้เกียรติกับสถานที่”

เป็นการเน้นในเรื่อง “สถานที่” มิได้เน้นในเรื่อง “บุคคล”

หากคำนึงแต่เพียงข้อมูลว่า “ผู้ต้องหา” อันเป็นเป้าหมายในการเข้าจับกุมของตำรวจเคยเป็นคนของพรรคการเมือง อันรองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรคก็อาจมองว่าเป็นเรื่องของพรรค

Advertisement

กระนั้น เมื่อพิจารณาถ้อยคำของรองนายกรัฐมนตรีที่เน้นไปยัง “สถานที่” อันเป็น “ทำเนียบรัฐบาล” อันเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ และตัวแทนแห่ง “อำนาจบริหาร” ก็ต้องยอมรับว่าข้อท้วงติงของรองนายกรัฐมนตรีทรงความหมาย

ยิ่งเป็นการท้วงติงในระหว่างการปรารภเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ยิ่งทำให้ข้อสังเกตของรองนายกรัฐมนตรีมีความสำคัญ

ต้องยอมรับว่าความจัดเจนจากที่เคยเป็น “ผู้พิพากษา” ของรองนายกรัฐมนตรีเป็นความจัดเจนอันต่างไปจากนักการเมืองอื่น

Advertisement

 

ระบบและระเบียบภายในของ “ผู้พิพากษา” ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งกระบวนการยุติธรรม และเป็นแก่นแกนแห่ง “อำนาจตุลาการ” ได้ก่อให้เกิดความจัดเจนดังที่มีการอ้างอิง

และทำให้มีความสนใจไปยังแต่ละ “รายละเอียด” อันเกิดขึ้นในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

นั่นก็เห็นได้จากข้อเปรียบเทียบในความต่างระหว่างการจับกุมโดยการจับกุม “ผู้ต้องหา” คนหนึ่งเป็นที่บ้าน ข้อที่ “ผู้ต้องหา” อีกคนหนึ่งเป็นสถานที่ “ราชการ”

ยิ่งกว่านั้น การจับกุม “ผู้ต้องหา” คนหนึ่งเป็นการนำโดยนายตำรวจระดับ “นายพล” ขณะที่การบุกเข้าจับกุม “ผู้ต้องหา” อีกคนใน “ทำเนียบรัฐบาล” เป็นนายตำรวจระดับ “พันตำรวจเอก”

ความเห็นนี้อยู่บนพื้นฐานที่ว่า “ผู้ต้องหา” ทั้งสองล้วนเป็นเป้าหมายในการติดตามและจะเลือกจับที่ใดก็ได้ตามต้องการ

คำถามก็คือเหตุใดจึงเลือกจับใน “ทำเนียบรัฐบาล”

 

ข้อสังเกตของรองนายกรัฐมนตรีจากพรรครวมไทยสร้างชาติจึงเป็นข้อสังเกตอันทรงความหมายยิ่ง ละเอียดอ่อนยิ่ง

เมื่อคำนึงถึงสถานะแห่ง “ทำเนียบรัฐบาล” ในเชิง “ตัวแทน”

นี่ย่อมมิได้เป็นการปกป้อง หรือแก้ต่างให้กับ “ผู้ต้องหา” บางคนบนฐานแห่งความผูกพันในทางการเมือง หากแต่เป็นการปกป้องและพิทักษ์ “ทำเนียบรัฐบาล” มากกว่า

เป็นความจัดเจนดังที่ได้มาจาก “อำนาจตุลาการ” และกำลังทำหน้าที่ในฐานะที่อยู่ใน “อำนาจบริหาร”

สะท้อนถึง “ปฎิบัติการ” ที่มองข้าม “รายละเอียด” สำคัญ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image