‘วราวุธ’ ส่ง พม. ดูแล 2 ครอบครัว ปม เยาวชนแทงเพื่อนเสียชีวิต จ่อหารือ คกก.คุ้มครองเด็ก 1 ก.พ.นี้

‘วราวุธ’ เผย พม. ส่ง จนท. ดูแลทั้ง 2 ครอบครัวแล้ว ปม เยาวชนแทงเพื่อนจนเสียชีวิต จ่อหารือ คกก.คุ้มครองเด็ก 1 ก.พ.นี้ ย้ำ การแก้ปัญหา ความรุนแรงในครอบครัว-บูลลี่ในโรงเรียน ต้องใช้ความใส่ใจของผู้ปกครอง-ครูร่วมด้วย

เมื่อเวลา 09.35 น. วันที่ 30 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้ากรณีที่มีเยาวชนอายุ 14 ปี ใช้อาวุธมีดแทงเพื่อนร่วมชั้นจนเสียชีวิต ว่า เท่าที่ได้รับรายงานความคืบหน้าล่าสุด ยืนยันว่าเด็กที่ก่อเหตุนั้นไม่ได้อยู่ในบัญชีของเด็กพิเศษ ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ใน 24 ชม.ที่ผ่านมา กระทรวง พม. เราได้ทำงานร่วมกับ กทม. ส่งนักจิตวิทยาและเจ้าหน้าที่ของกรมสุขภาพจิตเข้าไปร่วมทำงานด้วย ได้มีการพูดคุยกับผู้ปกครองและเด็กผู้ก่อเหตุ ส่วนผู้ที่ถูกกระทำกำลังถูกเยียวยาทางด้านจิตใจ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยอยู่ตลอด

ในส่วนรายละเอียด คงต้องเป็นการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ด้วยเงื่อนไขตามกฎหมาย จะมีเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ของกระทรวง พม.ประกอบอยู่ในทุกขั้นตอน เพื่อดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน

ส่วนปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น นายวรวาวุธกล่าวว่า กระทรวง พม. เร่งดำเนินการตั้งแต่ที่ตนเข้ามาทำงาน สิ่งที่ต้องเน้นคือเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เพราะความใกล้ชิดเป็นสายใยที่จะป้องกันเหตุ รวมถึงการเอาใจใส่ของผู้ปกครองในการพูดคุย ซึ่งจะเป็นสัญญาณว่า เด็กมีความรู้สึกเช่นไร อย่างไร

Advertisement

ส่วนการเสนอแก้ไขกฎหมาย ที่ถูกมองว่ามีอัตราโทษของเด็กและเยาวชนน้อยเกินไปนั้น นายวราวุธกล่าวว่า มีหลายฝ่ายที่เสนอเข้ามา โดยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก คงจะต้องมีการรับฟังกัน ว่าหากจะลดอายุของเยาวชนลงตามที่หลายฝ่ายมีข้อสังเกตนั้น จะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่อย่างไร หรือจะทำให้เด็กที่ก่อเหตุอายุน้อยลงไปอีก คงจะต้องรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย และหาการแก้ไขที่ดีที่สุด หน้าที่ของเราไม่ใช่ความต้องการลงโทษ แต่เราต้องการปกป้องไม่ให้เด็กเจอกับสถานการณ์ต่างๆ จนทำให้มีพฤติกรรมเช่นนี้

ส่วนการแก้ปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนนั้น นายวราวุธกล่าวว่า คงต้องฝากทางคุณครู และผู้บริหารสถานศึกษา เพราะการบูลลี่ในปัจจุบันบางครั้งไม่ได้แสดงออกทางวาจา หรือทางกายภาพ แต่เป็นการบูลลี่กันผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจส่งผลพลอยได้เป็นความรุนแรง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image