‘พวงเพ็ชร’ คิกออฟ เดินหน้า‘สคบ.’เชิงรุก เผย เรียกเงินคืนผู้บริโภคแล้วกว่า 9.2 ล้านบาท!

หมายเหตุนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงนโยบายการขับเคลื่อนงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เชิงรุก ในการรับเรื่องร้องเรียนและแก้ปัญหาให้กับประชาชน

 

การเดินหน้า สคบ.เชิงรุกมีนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนอย่างไร

นโยบายการดำเนินงานขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคและภารกิจของรัฐบาล สิ่งที่ต้องยึดถือเป็นเป้าหมายในการทำงานต่อจากนี้ คือ ผู้บริโภคจะต้องได้รับความเป็นธรรมและเข้าถึงกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว ด้วยการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น โดยจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้บริการ ตลอดจนพลิกโฉมการประชาสัมพันธ์ในการสื่อสารข้อมูลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเฉียบขาด โดยกำหนด 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

Advertisement

การบังคับใช้กฎหมาย มุ่งเน้นการปฏิบัติงานเชิงรุก เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการลงพื้นที่ปูพรมตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อาทิ การปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเฉียบขาดเพราะมีขายอย่างโจ่งแจ้ง ท้าทายกฎหมาย และเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพอันดับหนึ่งของเด็กและเยาวชนไทยในขณะนี้

การกวาดล้างสินค้าออนไลน์จากแพลตฟอร์มที่ขายสินค้าราคาถูกแต่สินค้าไม่ตรงปก โดยไม่รอให้ผู้บริโภคมาร้องเรียน การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการเฝ้าระวังสินค้าที่ผิดกฎหมาย คัดกรองผู้ขายสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันไม่ให้ประชาชนผู้บริโภคถูกหลอกลวง

การเร่งแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ให้ สคบ.ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างทันท่วงที โปร่งใสและเป็นธรรม เป็นที่พึ่งของผู้บริโภค พลิกโฉมการประชาสัมพันธ์ ปรับภาพลักษณ์ของ สคบ.ให้ดึงดูดประชาชนทุกเพศ ทุกวัย มุ่งเน้นการใช้สื่อโซเชียลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อ ยกระดับสื่อของรัฐให้มีความทันสมัย เพื่อส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง กระชับ แม่นยำ และใช้เครื่องมือการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายไปยังประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เพื่อเป็นเกราะป้องกันตนเอง

Advertisement

การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยนำเทคโนโลยีในการให้บริการ อาทิ ระบบร้องทุกข์ออนไลน์ ไกล่เกลี่ยออนไลน์ การจดทะเบียนขายตรงและตลาดแบบตรงออนไลน์ การนำแอพพลิเคชั่น OCPB Connect และ Chat Bot “พี่ปกป้อง” ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการเดินทาง รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมการแจ้งเตือนภัย การเชื่อมโยงฐานข้อมูลภาครัฐ หรือ Big Data กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับรัฐบาลดิจิทัล

การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น สคบ.ได้ดำเนินการถ่ายโอนภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 3 มิติคือ การรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภค การตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคเชิงพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในฐานะที่กำกับดูแล สคบ. ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเรื่องประเภทใดที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด

เรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด 3 ลำดับแรก 1.สินค้าและบริการออนไลน์ 10,786 ราย 2.บัตรชมการแสดง 4,530 ราย และ 3.รถยนต์และการให้บริการของศูนย์บริการรถยนต์ 2,235 ราย

ส่วนปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคมีดังนี้ ได้รับสินค้าไม่ตรงตามโฆษณา สินค้าชำรุดบกพร่อง เช่น รถยนต์เกียร์ชำรุด ระบบไฟฟ้ารถยนต์ขัดข้อง ให้บริการไม่เป็นไปตามสัญญา เช่น ซื้อบริการท่องเที่ยวแล้วไม่ได้รับบริการ สัญญาไม่เป็นธรรม เช่น การคิดค่าน้ำค่าไฟของห้องเช่าในอัตราที่สูง ใช้สินค้า หรือบริการแล้วได้รับความเสียหาย เช่น ใช้บริการเสริมความงามแล้วเกิดความเสียหายที่ใบหน้า หรือร่างกายส่วนอื่น

ส่วนกรณีอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน อาคารชุด ชำรุดเสียหาย ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้า

บริการโทรคมนาคม เช่น การเรียกเก็บเงินค่าโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ตไม่ถูกต้อง สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่เสถียร ราคาสินค้าสูงเกินสมควร บริการทางการเงิน และการทวงถามหนี้

 

สคบ.มีการแก้ไขปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามาอย่างไร

หลังจากรับเรื่องร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ สคบ.มีหนังสือเชิญผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค โดยเชิญคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน หากการเจรจาสำเร็จคู่กรณีจะลงนามในบันทึกข้อตกลง

การเจรจาไกล่เกลี่ย หากการเจรจาไกล่เกลี่ยยังไม่ได้ข้อยุติจะนำเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภค ซึ่งหากครั้งนี้การเจรจาไกล่เกลี่ยยังไม่ได้ข้อยุติจะนำเรื่องเข้าอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคเพื่อพิจารณา ถ้ามีมติให้ดำเนินคดีแทนผู้บริโภค จะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อฟ้องคดีแทน

ล่าสุด สคบ.ได้ฟ้องคดีเรียกเงินคืนให้กับผู้บริโภค จำนวน 9,211,902 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย กรณีผู้ประกอบธุรกิจได้โฆษณาและสัญญาว่าจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่กลับไม่สามารถก่อสร้างบ้านให้เสร็จตามสัญญา และกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภคได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน

อยากให้อธิบายความร่วมมือของ สคบ.กับแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Shopee Lazada รวมทั้งข้อแนะนำการช้อปปิ้งออนไลน์ให้ปลอดภัยได้อย่างไร

สคบ.ร่วมกับทุกแพลตฟอร์มที่ขายสินค้าออนไลน์และได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงตามกฎหมายแล้ว เช่น Shopee Lazada หรือ NocNoc โดย สคบ.และแพลตฟอร์มได้มีข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการซื้อสินค้าออนไลน์ หากมีเรื่องร้องทุกข์ก็ขอให้แพลตฟอร์มดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน

รวมถึงกำชับให้แพลตฟอร์มที่ขายสินค้าช่วยตรวจสอบร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มไม่ให้นำสินค้าที่ผิดกฎหมายเข้ามาขายบนแพลตฟอร์ม เช่น บุหรี่ไฟฟ้า อาวุธปืน ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีมาตรฐาน หากพบร้านค้านำสินค้าเหล่านี้มาขายผ่านแพลตฟอร์ม สคบ.จะขอความร่วมมือให้แพลตฟอร์มต่างๆ ถอดร้านค้า หรือรายการสินค้าออกจากแพลตฟอร์มและแจ้งรายชื่อร้านค้าที่ขายสินค้าที่ผิดกฎหมายเหล่านี้มายัง สคบ. เพื่อจะดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

สำหรับกรณีเรื่องร้องทุกข์ผ่านแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีข้อยุ่งยาก สคบ.และแพลตฟอร์มได้มีข้อตกลงกันในเบื้องต้นกับคู่กรณีเพื่อหาทางออกร่วมกันโดยการเจรจาไกล่เกลี่ยในเบื้องต้นเพื่อชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมที่สุด

สำหรับผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนซื้อสินค้า โดยเลือกร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น จดทะเบียนการประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย หลีกเลี่ยงไม่ซื้อสินค้าที่มีการเสนอลดราคามากๆ จากช่องทางออนไลน์ ดูรีวิวสินค้า และข้อความคอมเมนต์จากลูกค้ารายอื่นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ เลือกวิธีการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทาง โดยเฉพาะสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าสูง ศึกษาเงื่อนไขการรับประกันสินค้า หรือการบริการหลังการขาย ไม่หลงเชื่อภาพโฆษณาของสินค้าที่ผู้ขายใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ

ควรเก็บเอกสารการชำระเงิน หรือข้อมูลการสนทนากับร้านค้าไว้เป็นหลักฐาน และหากมีปัญหาเกี่ยวกับการซื้อสินค้า หรือใช้บริการสามารถสอบถาม หรือปรึกษา สคบ.ได้ที่แอพพลิเคชั่น OCPB Connect หรือสายด่วน โทร 1166

อนาคตจะมีการเชื่อมระบบงานของ สคบ.กับทราฟฟี่ฟองดูว์ มีแนวทางอย่างไร

นโยบายของ สคบ.ให้ความสำคัญกับการเร่งรัดแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ทั้งฝ่ายผู้บริโภคและฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ มีการทำงานเชิงรุกในมิติต่างๆ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลลัพธ์ของบริการที่ประชาชนจะได้รับเป็นหลัก มุ่งเน้นปรับปรุงในเรื่องการทำงานของภาครัฐ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ทำให้ประชาชนได้รับการบริการจากภาครัฐสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค การบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ร่วมกันแก้ไขปัญหา รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ และภาคประชาชนผู้เข้ามารับบริการที่ได้รับการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สคบ.ได้วางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในชื่อว่า “OCPB Connect” โดยเชื่อมโยงข้อมูลใน 6 มิติ ได้แก่ 1.ข้อมูลบุคคล 2.ข้อมูลนิติบุคคล 3.ข้อมูลการร้องทุกข์ 4.ข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต 5.ข้อมูลการเตือนภัย องค์ความรู้ ข่าวสาร และ 6.ข้อมูลการดำเนินคดีกับกลุ่มเป้าหมายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันเชื่อมโยงข้อมูลไปแล้ว 34 หน่วยงาน

ปีงบประมาณ 2567 มีการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา รวมถึงเชื่อมโยงไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนของเทศบาล 2,472 แห่ง และจะขยายไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนของ อบต.ในระยะถัดไป

ปีงบประมาณ 2568 การขับเคลื่อนการเชื่อมโยงข้อมูลกับภาคธุรกิจสร้างช่องทางฟาสต์แทร็กในการแก้ไขปัญหาร้องทุกข์ร่วมกัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ด้วยความรวดเร็ว จะเห็นได้ว่า สคบ.มีแผนการการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว สามารถเชื่อมกับระบบทราฟฟี่
ฟองดูว์ เป็นการเพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เข้าถึงการร้องทุกข์และติดตามสถานะได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยผู้ร้องทุกข์สามารถยื่นเรื่องร้องทุกข์ที่ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ หรือระบบร้องทุกข์ผู้บริโภคผู้บริโภค (OCPB Complaint) ของ สคบ.ระบบใดก็ได้ ผู้ร้องทุกข์จะสามารถติดตามสถานะได้ทั้งสองระบบเช่นเดียวกัน เนื่องจากระบบมีการส่งต่อเรื่องร้องทุกข์ระหว่างหน่วยงานโดยอัตโนมัติ ทำให้สามารถแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว

ปัญหาของผู้บริโภคนั้นมีปริมาณมาก หลักหมื่นต่อเคส ในขณะที่กำลังคนใน สคบ.มีเพียงหลักร้อย จะพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาให้ทันท่วงทีได้อย่างไร

สคบ.นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ โดยได้มีการออกแบบระบบให้ใช้งานได้สะดวก ง่ายทุกขั้นตอน ทั้งเทคโนโลยี AI เทคโนโลยีเอกสารออนไลน์ เทคโนโลยีการ Video Conference การเจรจาไกล่เกลี่ยออนไลน์ ผู้ร้องสามารถไกล่เกลี่ยแบบออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมายัง สคบ. และใช้เทคโนโลยีแชตบอตสอบถามพูดคุยกับแชตบอตพี่ปกป้อง ตลอด 24 ชั่วโมง และได้เพิ่มช่องทาง Line@ เพื่อสื่อสารกับประชาชนได้มากยิ่งขึ้น จึงทำให้ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ได้ ประชาชนก็ได้รับความสะดวกสบาย ได้รับการช่วยเหลือได้เร็วยิ่งขึ้น รวมทั้ง สคบ.ได้มีการตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อคัดกรองเรื่องร้องทุกข์อีกชั้นหนึ่งด้วย สคบ.ได้มีการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ท้องถิ่นมีหน้าที่ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจของพื้นที่ตนเอง เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคเชิงพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ การแก้ที่ต้นเหตุก็คือการป้องกันมิให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่ง สคบ.ให้การประชาสัมพันธ์ความรู้ ข้อมูลการแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภค โดยให้ผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของตนเองที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการอย่างรอบคอบ โดยมีการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ ภาคผู้ประกอบการ องค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมรณรงค์การคุ้มครองผู้บริโภคกับประชาชนผู้บริโภคให้หันมาสนใจและรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดความตระหนักในการปกป้องสิทธิผู้บริโภคของตนตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้อย่างจริงจัง ตามหลักการ “รู้มาก โอกาสถูกหลอกน้อย”

สคบ.เป็นหน่วยงานที่แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ประชาชนอาจไม่รู้ช่องทางการพิทักษ์สิทธิตัวเอง จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอย่างไร

1.ขอให้ผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของตนเองตามกฎหมาย ในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย สนใจข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐในการแจ้งข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนภัยแก่ผู้บริโภค

2.ผู้บริโภคต้องไม่คิดว่าการถูกหลอกลวงเพียงเล็กน้อย แค่ 50 บาท หรือ 100 บาท เป็นเรื่องเล็กและปล่อยผ่านไป หากคนโกง โกงผู้บริโภค 100 คน คนละ 100 บาท มูลค่าความเสียหายจะเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวน 10,000 บาท ดังนั้น ต้องรักษาสิทธิของตนเอง แจ้งให้ภาครัฐจัดการคนโกงให้ไม่มีที่ยืนในการทำการหลอกลวง

3.ขอให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในการทำงานของ สคบ. โดย สคบ.จะทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคตามชื่อหน่วยงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคให้รวดเร็วและเป็นธรรม สร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อป้องกัน ควบคุม กำกับดูแลสินค้าและบริการให้มีความปลอดภัย พัฒนานวัตกรรมและเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก และเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้แก่ผู้บริโภคอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และสามารถปกป้องสิทธิของตนได้

ในส่วนของช่องทางการร้องเรียนกับ สคบ.มีหลายช่องทาง อาทิ การขอรับคำปรึกษาผ่านสายด่วน 1166 แอพพลิเคชั่น OCPB Connect การร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th โดยประชาชนสามารถกรอกข้อมูลและเอกสารประกอบร้องเรียนได้ด้วยตัวเอง สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทางมาที่ สคบ.

แอพพลิเคชั่น OCPB Connect ฟรี
Google Play Store คลิก
App Store คลิก

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image