‘ปานปรีย์’เปิดใจ5เดือน ภารกิจท้าทาย นำไทยคัมแบ๊กเวทีโลก

หมายเหตุนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ มติชนถึงผลงานด้านต่างประเทศในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาล ระหว่างร่วมการประชุมรัฐมนตรีอินโดแปซิฟิก และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนสหภาพยุโรป (อียู) ที่ประเทศเบลเยียม

รัฐบาลบริหารประเทศมาครบ 5 เดือน การขับเคลื่อนงานด้านการต่างประเทศเป็นไปตามคาดหวังหรือไม่

มีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะการต่างประเทศเชิงรุก เราได้เดินทางไปหลายประเทศตามแผนการที่วางไว้ โดยเริ่มจากประเทศที่อยู่ใกล้ชิดกับเรา ขยายไปยังประเทศที่ไกลขึ้น และไปสู่ประเทศมหาอำนาจ ทั้งสามส่วนนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก อย่างที่เห็นเป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้มีหลายประเทศมาเยือนไทย และในอีกหลายประเทศก็พร้อมที่จะพบเรา ผมเองก็พบในกรณีมหาอำนาจอย่างจีน ที่มาเยือนไทยและเราไปเยือนเขา และในเดือนนี้จะเดินทางไปสหรัฐเพื่อพบกับ นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ชี้ให้เห็นว่าประเทศมหาอำนาจเป็นมิตรกับเรา นอกจากประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งทุกประเทศมีความใกล้ชิดกันอยู่แล้ว เมื่อไม่กี่วันมานี้ไปประชุมกันที่หลวงพระบาง และทุกประเทศให้การสนับสนุนสิ่งที่ไทยริเริ่มเรื่องการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้เมียนมา ประเทศไทยได้รับการตอบรับจากอาเซียนที่ดีมาก เรื่องฉันทามติ 5 ข้อเป็นเรื่องที่เราให้การสนับสนุน และจะจับมือร่วมกันเดินไปกับอาเซียน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าการต่างประเทศในเวลานี้ได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นมาก

คิดว่าความท้าทายหลักสำหรับการต่างประเทศไทยคืออะไร

Advertisement

ความท้าทายแรก คือเราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน และเราต้องการมิตรภาพในอาเซียน และเราต้องการให้อาเซียนเป็นหนึ่ง ในเรื่องเมียนมาเราไม่ต้องการให้เขาอยู่นอกอาเซียน เราต้องการให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทย เราก็พยายามหาทางที่จะแก้ไข เพื่อให้เมียนมากลับมามีความสงบเรียบร้อย และประชาชนสามารถอยู่ดีกินดี ทำมาหากินต่อไปได้ ไม่ต้องไปหวาดระแวงว่าระเบิดจะมาลงเมื่อไหร่ หรือต้องพลัดพรากจากที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน อันนั้นเป็นเรื่องท้าทายที่หนึ่ง

เรื่องท้าทายที่สอง คือ ภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเวลานี้สร้างความไม่แน่นอนในหลายด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ พลังงาน ความมั่นคง ทั้งสามด้านนี้เป็นเรื่องที่ถ้าไม่สามารถวางตัวให้อยู่ในความสมดุลได้ อาจทำให้เราประสบปัญหาด้านใดด้านหนึ่งเช่นเดียวกัน เวลานี้ยกตัวอย่างสมมุติว่าถ้าเราไม่เป็นมิตรกับประเทศใดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง ก็อาจจะประสบปัญหาในเรื่องของการค้า หรืออาจจะได้รับผลกระทบจากการเดินเรือ หรือได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าต้องระมัดระวังในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

ที่ผ่านมาเราทำได้ดีพอสมควร มีมิตรประเทศที่เขายอมรับเราเวลาออกไปพูดคุยกับใครเขาก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ ยกตัวอย่างในกรณีปัญหาตัวประกันที่เราออกไปพูดคุยกับกลุ่มตะวันออกกลาง และมิตรประเทศหลายประเทศในอาเซียนที่เป็นมุสลิม ก็ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และเห็นใจเรามากที่คนไทยถูกจับตัวไปเป็นตัวประกัน

Advertisement

ความคืบหน้าด้านตัวประกันคนไทยยังคงเดินหน้าประสานงานอยู่ในทุกเวทีใช่หรือไม่

ยังคงเดินหน้า มาครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นโอกาสที่ได้พบกับหลายประเทศ ส่วนมากเขาก็จะมาถามเรื่องนี้ ก็เลยถือโอกาสฝากเขาไปด้วยว่า ช่วยหาช่องทางที่จะสื่อไปถึงกลุ่มฮามาสเพื่อที่จะปล่อยตัวประกันคนไทยโดยเร็ว ล่าสุด ได้คุยกับทางฮังการี ก็บอกว่ามีคนที่ยังถูกจับเป็นตัวประกันอยู่เช่นกัน และยังสอบถามว่าตอนที่เราเอา 23 คนออกมาทำได้อย่างไร ได้เล่าให้เขาฟังว่าเราได้ติดต่อใคร และใครเป็นคนหลักที่ได้ช่วยเหลือในการนำตัวประกันออกมา

เวทีโลกยังสนใจในเรื่องนี้ เพราะอิสราเอลกับฮามาสยังเป็นเรื่องที่ยังไม่จบ แล้วยังมีความต่อเนื่องไปถึงทะเลแดงที่มีการหยิบยกมาพูดคุยกันทั้ง 2 เวที เพราะถ้าเกิดสถานการณ์ในทะเลแดงก็อาจจะทำให้การเดินเรือมีปัญหา การขนส่งสินค้าต่างๆ ก็จะมีปัญหาเช่นเดียวกัน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกที่ประกาศตั้งแต่ต้น ขับเคลื่อนไปได้แค่ไหน

เวลานี้คิดว่าต่างชาติก็เริ่มให้ความสนใจ ท่านนายกรัฐมนตรีเดินทางไปพบนักลงทุนเยอะ ในส่วนกระทรวงต่างประเทศไปเชื่อมความสัมพันธ์ ผมคิดว่าในเรื่องการทูตเชิงเศรษฐกิจได้รับการตอบรับดีมาก จะเห็นว่าเวลานี้ตัวเลขที่สมัครเข้ามาอยากจะมาลงทุนในไทย และขอสิทธิทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชี้ให้เห็นว่าตอนนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

อยากให้อธิบายถึงการผลักดันนโยบายช่วยเหลือเมียนมาด้านมนุษยธรรมว่ามีความสำคัญอย่างไรสำหรับไทย 

ตอนแรกคิดว่ามันเป็นเรื่องระหว่างไทยกับเมียนมาที่ไทยต้องหาทางแก้ไข แต่สุดท้ายสามารถชี้ให้อาเซียนเห็นอีกครั้งหนึ่งว่า ปัญหาเมียนมามันเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไข ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะของไทยกับเมียนมาเท่านั้น ไม่ใช่เพราะว่าไทยมีชายแดนติดกับเมียนมามากกว่า 2,400 กิโลเมตร แล้วไทยมีความเดือดร้อนมากกว่าประเทศอื่น แต่ผมได้ชี้ให้อาเซียนเห็นว่าเมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ถ้าเมียนมามีอันเป็นไป มีปัญหาขึ้นมา ก็จะกระทบอาเซียน  ซึ่งอาเซียนในเวลานี้ ในแง่ของการค้าการลงทุน แง่ของเศรษฐกิจถือว่ามีความสำคัญ เป็นจุดที่ชาวโลกให้ความสนใจ เศรษฐกิจมีความแข็งแรงมาก อัตราการเติบโตเป็นที่ยอมรับว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการที่เมียนมาต้องประสบปัญหาก็จะกระทบกับภูมิภาคทั้งหมด ตอนนี้อาเซียนทั้งหมดก็เห็นด้วย เดิมจากที่คิดว่าจะเป็นเรื่องของไทยกับเมียนมาเท่านั้น สุดท้ายอาเซียนเข้ามาร่วมด้วย โดยเฉพาะเราต้องขอความร่วมมือในการทำเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งอาเซียนก็เข้ามาให้การสนับสนุน

มาประชุมครั้งนี้ไม่นึกว่าขนาดอียูที่อยู่ห่างไกลจากเมียนมาจะเห็นความสำคัญของเมียนมา เช่นกัน มีการพูดคุยเสนอความเห็นกันก็ไม่ได้พูดถึงประเทศอื่นในอาเซียนเลย พูดถึงแต่เมียนมาอย่างเดียว ผมคิดว่าเวลานี้ไม่เพียงแต่ประเทศไทย อาเซียน อียู ผมเชื่อว่าชาวโลกให้ความสนใจภูมิภาคในนี้ด้วย ผมคิดว่านี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราสามารถทำให้ชาวโลกหันกลับมาดูเมียนมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เงียบไปนาน ถ้ามองย้อนไปสัก 5-6 เดือนที่แล้ว คนจะไปพูดถึงยูเครน รัสเซีย กาซา แต่ไม่มีใครพูดถึงเมียนมา แต่วันนี้ทุกคนพูดถึงเมียนมาแล้ว กลับมาให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหานี้ 

ผมเชื่อว่าในโอกาสที่ผมจะเดินทางไปสหรัฐ นี่จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สหรัฐให้ความสนใจ ตอนที่ นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐมาไทยได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องเมียนมาเช่นกัน สำหรับจีนนั้นให้ความสนใจแน่นอนเพราะมีพรมแดนติดกัน แต่สำหรับสหรัฐที่อยู่ห่างไกล เชื่อว่าเขาก็อยากฟังจากเราเหมือนกันว่าสถานการณ์ในเมียนมาเป็นอย่างไร และวันนี้คิดว่าเราจะแก้ไขปัญหาของเมียนมาอย่างไร สหรัฐเป็นมหาอำนาจ รมว.กต.ของสหรัฐก็มีงานเยอะมาก การที่เขาพร้อมจะพบกับเราน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี

ความคิดของผมได้พูดกับอียูหลายคนว่า จริงๆ แล้วไม่ได้จบแค่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพราะในส่วนนี้ถ้าเราทำเสร็จเรียบร้อยมันจะมีกระบวนการและมีขั้นตอนที่ต้องทำต่อไป ถ้าทำเสร็จเรียบร้อยก็หมายความว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในเมียนมา รวมทั้งฝ่ายรัฐบาลต้องเห็นชอบร่วมกันในการทำให้เกิดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขึ้นได้ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นชอบมันจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันก็หมายความว่าพวกเขาสามารถที่จะเริ่มมาพูดคุยกันได้ และมันก็อาจจะนำไปสู่การเจรจาได้ แต่ ณ วันนี้ มันไม่มีใครคุยกับใคร มันก็ไม่มีการเจรจา เพราะฉะนั้นจุดนี้่จะเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เกิดการเจรจาของกลุ่มต่างๆ ที่จะนำไปสู่สันติภาพของเมียนมาในอนาคต

การผลักดันของไทยในเรื่องเมียนมาไม่ใช่แค่ดึงความสนใจของโลกกลับมายังเมียนมา แต่ดึงให้โลกกลับมามองบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในเวทีโลกด้วยเช่นกัน

ใช่ครับ เลยกลายเป็นว่าเรามีบทบาทในเรื่องนี้ที่จะชี้ให้เขาเห็นว่า ณ จุดๆ หนึ่งในอาเซียน มันมีจุดๆ นี้ที่เราต้องเร่งแก้ไข ถ้าเราไม่รีบแก้ไขมันจะมีผลกระทบในระยะยาว และจะกระทบถึงอาเซียน และกระทบคนที่ทำมาค้าขายกับอาเซียนในอนาคตด้วย แต่ถ้าเมียนมาแข็งแรงก็จะทำให้อาเซียนแข็งแรงไปด้วย

การที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐมาคุยกันในไทย สะท้อนอะไรเกี่ยวกับการต่างประเทศของไทยในปัจจุบันบ้าง

ผมคิดว่ามันเริ่มมากจากจุดที่เราพยายามจะแก้ไขปัญหาของตัวประกันที่เกิดขึ้นในอิสราเอลฮามาส ซึ่งเป็นจุดที่ชาวโลกให้ความสนใจ เมื่อตอนที่เราเดินทางไปที่อิสราเอลชาวโลกเขาเห็นหมดว่าทำไมไทยถึงให้ความสำคัญกับคนไทยและประชาชนชาวไทยที่ทั้งคนที่ 1.เสียชีวิต 2.เอาคนที่อยากกลับประเทศเดินทางกลับมาถึงหมื่นคน และ 3.ตัวประกันที่ถูกจับและถูกปล่อยตัวออกมาเราไปรับด้วยตัวเอง เป็นอะไรที่ชาวโลกเขามองและให้ความสนใจมาก 

ผมคิดว่า ณ จุดนั้นเองเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้คนหันกลับมามองเมืองไทยว่าประเทศไทยกำลังทำอะไรอยู่ แล้วทำไมเขาถึงทำแบบนี้ แล้วทำไมเขาถึงทำสำเร็จ อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ชาวโลกเขาเริ่มหันกลับมามองประเทศไทย และหลังจากนั้นเรามีนโยบายที่จะทำเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ซึ่งเราก็ไปคุยกับทางอาเซียน ให้อาเซียนเขายอมรับในแนวทางนี้ ขณะเดียวกันเราให้การสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อที่อาเซียนทำกันมานานแล้วแต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเท่าที่ควร เราก็ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในส่วนนี้ เพราะความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็เป็น 1 ใน 5 ข้อของฉันทามติ ซึ่งเวลานี้ต้องถือว่าฉันทามติ 5 ข้อนี้มีความเคลื่อนไหวแล้ว และจะนำไปสู่อีก 4 ข้อที่ทางอาเซียนได้ตกลงกันไว้ด้วย 

ผมคิดว่านอกจากตรงอิสราเอลฮามาสแล้ว ก็จะมาสู่ตรงเมียนมา โลกจะมองจากตรงนั้นมาแล้วมามองที่อาเซียนและมองที่เมียนมา ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของไทยที่สามารถทำให้โลกหันกลับมาสนใจภูมิภาคอาเซียนได้อีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ยังเป็นอาเซียนด้วย

เดินทางไปรับตัวประกันไทยที่ได้รับการปล่อยตัวในอิสราเอล

มีคนตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมตัวประกันไทยถูกปล่อยตัวออกมามากที่สุด

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราไม่ได้มีความขัดแย้งกับใคร และเราไม่ได้ไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเราก็มีแต่มิตรประเทศ อันนั้นก็เป็นข้อหนึ่งแล้ว ข้อที่สองผมคิดว่าเราเจาะถูกคน คนที่จะไปประสานเรื่องการปล่อยตัวให้กับคนไทย เรามีโอกาสได้ไปพูดคุยกับเขา เขาเห็นความสำคัญของเราและเขาก็เห็นใจเรา เขาก็พร้อมจะช่วยเหลือเรา เราก็ไปอธิบายให้ฟังว่าคนที่ถูกจับเป็นแรงงาน ซึ่งไม่ได้มีอะไรที่จะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงของอิสราเอลและกาซาทั้งสิ้น ตรงนี้ทำให้ได้รับความเห็นใจว่าพวกเขาเป็นคนที่มีรายได้น้อย ไปทำมาหากินในอิสราเอลก็เพื่อที่จะส่งเงินกลับมาเลี้ยงญาติพี่น้องของเขา เดิมเขาไม่เข้าใจว่าส่วนมากเป็นคนยากจน ซึ่งทำให้เขาไปคุยกับฮามาสและฮามาสก็ได้ปล่อยตัวคนออกมา

คนจำนวนมากมองว่าเรื่องปล่อยตัวประกันเป็นหนึ่งในผลงานด้านการต่างประเทศของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

การกระทำมันก็บอกตัวมันเองอยู่แล้ว ในการทำงานมันต้องดูที่ผลว่าจะออกมาอย่างไร เวลาจะพูดเราพูดอะไรก็ได้ กรณีอิสราเอลฮามาสมันมีผลให้เห็นออกมาชัดเจน กรณีเมียนมาวันนี้ก็เห็นผลที่มีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือจัดตั้งพื้นที่ให้เรียบร้อย นำทุกกลุ่มมาพูดคุยกันให้ได้ ต่อไปคือทำอย่างไรให้เขามาตกลงกันเพื่อสร้างสันติภาพในเมียนมา แต่อันนี้ก็ต้องเป็นปัญหาภายในของเขา เราไม่ได้แทรกแซง แต่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนในส่วนของอะไรที่เขาขาดแคลนหรืออะไรที่เขาไม่มี 

เป็นที่น่ายินดีว่าเวลานี้ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นบ้านพี่เมืองน้องกับเราเขามาเป็นประธานอาเซียน ผมได้เจอกับท่านสะเหลิมไซ กมมะสิต รองนายกฯ และรมว.กต.ลาว ก็บอกว่าเรื่องนี้ไม่ต้องห่วง ท่านเป็นผู้นำอาเซียนเวลานี้ ไทยพร้อมจะให้การสนับสนุนในทุกเรื่อง เวลานี้ท่านได้ตั้ง นายอลุนแก้ว กิตติคุณ มาเป็นผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนในเรื่องเมียนมา ถ้าในอาเซียนด้วยกันเราทำงานเชื่อมโยงกัน มันจะมีข่าวดีสำหรับเมียนมาเป็นระยะๆ ต่อไป

ลงพื้นที่ จ.ตาก เพื่อดูจุดส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับชาวเมียนมา

การเปิดศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาจะเริ่มได้ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้เลยไหม

ตอนนี้มีเงินทองมีคนให้การสนับสนุนแล้ว แต่พื้นที่ที่เราจะไปกำหนด 8-9 กุมภาพันธ์ ผมจะไปแม่สอดเพื่อดูว่าเป็นพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมหรือยัง ถ้าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมก็จะใช้ตรงนี้ แต่ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ใช่พื้นที่ที่จะไปรองรับผู้อพยพ คนไปเข้าใจว่าเป็นพื้นที่เปิดค่ายรับผู้อพยพ ความเป็นจริงคือมันเป็นพื้นที่ปลอดอาวุธ บางกรณีจะเป็นเขตห้ามบินผ่านด้วย เมื่อเราได้พื้นที่ชัดเจนแล้วเราก็จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป แต่ไม่ใช่การรับผู้อพยพเพิ่ม

เคยพูดถึงการทำการต่างประเทศไทยให้สมดุล และมีบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาค ขณะนี้ถือว่าได้อย่างที่ตั้งใจแล้วใช่หรือไม่

ถ้าในด้านเศรษฐกิจมันก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นว่าประเทศไทยพร้อมในการที่จะรองรับเรื่องการลงทุนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้การทำธุรกิจมันง่ายขึ้น เราต้องมีความพร้อมและต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ 

ในทางการเมืองก็เช่นเดียวกัน เราก็ต้องทำให้เขาเห็นว่าเราเป็นประชาธิปไตย เราปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้โลกเขาเห็นว่าวันนี้ประเทศไทยเปิด และเปิดในทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่น เมื่อเกิดความเชื่อมั่นการลงทุนก็จะตามมา การเป็นมิตรในทางการต่างประเทศมันก็จะเพิ่มสูงขึ้น ก็จะมีคนเดินทางเข้าออกอยู่ตลอดเวลา

มองไปข้างหน้าอยากผลักดันการต่างประเทศไทยให้ได้ผลสัมฤทธิ์อย่างไร

เราต้องทำต่อไป เพราะปัญหาของโลกก็มีเยอะ เราอยากให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในทุกมิติ การต่างประเทศมีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้ตรงนี้มันเกิดขึ้นมาได้

วรรัตน์ ตานิกูจิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image