09.00 INDEX บทเรียน การจับ 2 นักข่าว จุดต่าง สำนักคิด วิธีวิทยา

กรณีตำรวจขยายผลการจับกุมคดีพ่นสี ณ กำแพงพระบรมมหาราชวัง อันเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ไปสู่การจับกุม 2 นักข่าวที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ได้ก่อ “คำถาม” มากมาย

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการทำข่าวหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งเวลาเกือบ 1 ปี

จากคำถามที่เกิดขึ้น แม้จะนำไปสู่การออก “แถลงการณ์” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ “แถลงการณ์” จากประชาคมในทางวิชาการสื่อสารมวลชนเท่านั้น

หากแต่ข้ออ้างอิงของตำรวจถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจับกุมเพราะนักข่าวมิได้ปฏิบัติหน้าที่ของนักข่าวอย่างแท้จริง แต่ล่วงเข้าไปในลักษณะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ได้สะท้อนให้เห็นความเข้าใจที่แตกต่างและความรับรู้ที่แตกต่างในวิชาชีพสื่อ

Advertisement

คำถามที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ กระบวนการของตำรวจแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจต่อวิธีการทำงานของสื่อมากน้อยเพียงใด และเข้าใจในสภาพการณ์อันเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากของวิชาชีพสื่อในกระแสและความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลง

ในที่สุดก็เท่ากับยืนยันให้เห็นความต่างแห่งวิธีวิทยาในการทำงานระหว่างตำรวจกับสื่ออย่างแหลมคมยิ่ง

 

Advertisement

พลันที่ตำรวจงัดเอาหลักฐานที่แสดงการสมคบคิดระหว่างสื่อกับผู้ก่อเหตุขึ้นมา ก็ก่อให้เกิดนัยประหวัดไปยัง “ผังล้มเจ้า” ในห้วงแห่งสถานการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

นั่นคือ เครื่องมือสำคัญในการสร้างความชอบธรรมที่จะจัดการกับ “คนเสื้อแดง” ด้วยความรุนแรงของกองทัพและรัฐบาล

เรื่องนี้ พรรคเพื่อไทย รับรู้อย่างดีและอย่างลึกซึ้ง

ขณะเดียวกัน การจับกุม 2 นักข่าว ที่คนหนึ่งสังกัดกับสำนักข่าวประชาไท และอีกคนหนึ่งเป็นนักข่าวอิสระ ยิ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่อย่างยิ่งในแวดวงสื่อและในความรับรู้ของตำรวจ

นี่จึงไม่เพียงแต่เป็นรายละเอียดแห่งการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างสูงในแวดวงวิชาชีพสื่อ หากแต่ยังเป็นเครื่องยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงมีรากฐานมาจากเทคโนโลยี

เทคโนโลยีจึงก่อให้เกิดความเข้าใจใหม่ ความรับรู้ใหม่ ทั้งที่เป็นองค์ประกอบและที่เป็นวิธีวิทยาในการทำงาน

 

หากนำเอากรณีการจัดทำและนำเสนอ “ผังล้มเจ้า” อันเกิดขึ้นในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 มาศึกษาก็จะได้คำตอบ

เป็นคำตอบที่มีการออกมายอมรับว่าเป็นเรื่องคิดเอง ทำเอง

เมื่อเป็นการคิดเอง ทำเองของเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามก็มิได้เป็นที่ยอมรับของศาล กลายเป็นกรณีโกหกโดยฝีมือของรัฐอย่างชัดเจน

ในที่สุด กรณีการจับกุม 2 นักข่าวก็สะท้อนให้เห็นวิธีวิทยาอันแตกต่างระหว่างตำรวจกับการทำงานของสื่อยุคใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image