ใบตองแห้ง-ส. ศิวรักษ์ เเถลงหน้าศาลอาญา ขอให้ประกันตัว ตะวัน-แฟรงค์

ใบตองเเห้ง-ส. ศิวรักษ์ และกลุ่มรณรงค์สิทธิ์ในความชอบธรรม ยื่นเเถลงศาลอาญา ขอให้ประกันตัว ตะวัน-แฟรงค์ เเละนักโทษทางความคิด ชี้เป็นเหยื่อกระเเสสังคม

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 8 มีนาคม ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายอธึกกิต แสวงสุข หรือ “ใบตองแห้ง” สื่อมวลชนอาวุโสเเละนายนภสินธุ์ หรือสายน้ำ (สงวนนามสกุล)ตัวเเทนของ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามและผู้บุกเบิกวิสัยทัศน์สังคมศาสตร์และประวัติศาตร์ไทย ได้เดินทางมายื่นคำแถลงขอให้พิจารณาไม่รับฝากขังและคัดค้านการไม่ให้ปล่อยชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ แฟรงค์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงประชาชนผู้ต่อสู้ทางความคิดรายอื่นอันจะเกิดขึ้นในอนาคต

นายนภสินธุ์ หรือสายน้ำ (สงวนนามสกุล) ตัวเเทนของ นายสุลักษณ์ได้อ่านเเถลงการณ์เเทนนายนายสุลักษณ์ ความว่า ข้าพเจ้าเนติบัณฑิตอังกฤษ จากสำนักเดอะมิดเดิล เทมเปิล ซึ่งเชื่อมั่นว่าโดยหลักแห่งนิติปรัชญา ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และบุคคลจะต้องมีสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน การควบคุมกักขังที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องทำเพื่อป้องกันภยันอันตรายอื่นใด หรือการหลบหนีเท่านั้น ต้องมีการประกันอิสรภาพของบุคคลอย่างเคร่งครัด และจะตีความกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นหลักไม่ได้

Advertisement

นายนภสินธุ์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งสองคน เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาที่พนักงานอัยการยังไม่ได้ฟ้องเป็นคดีต่อศาล และการต่อสู้ของเยาวชนสองคนนี้เห็นชัดว่า เป็นกรณีของการต่อสู้ทางควาคิด ไม่มีเหตุผลใดทั้งทางมนุษยธรรมและทางหลักกฎหมายที่จะควบคุมขังเด็กไว้ตามคำร้องขอของรัฐ ขอศาลได้ปลดปล่อยเด็กเหล่านี้ ตามอำนาจที่ศาลยุติธรรมมีอยู่ เพื่อให้เขามีสิทธิต่อสู้ทางความคิด และมีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่หากผิดก็ลงทัณฑ์ หากถูกก็ให้ยกฟ้อง และให้ปล่อยเด็กโดยทันที

โดยนายอธึกกิต อ่านเเถลงการณ์ระบุว่า เชื่อว่าไม่มีใครอยากย้อนกลับไปอยู่ภายใต้ระบบเก่า และประเทศไทยจะต้องตั้งหลัก จากประชาธิปไตยโดยมีหลักใหญ่ใจความคือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนและ เชื่อว่าองค์กรตุลาการเป็น เสาหลักซี่งรับประกันความปลอดภัยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหล่านี้ ดำรงตนเป็นจุดเชื่อมโยงที่ปกปักพิทักษ์รักษาให้ความปลอดภัยระหว่างประชาชนกับการปกครอง

“ขอยืนยันว่าการปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลนั้นเป็นสิทธิของบรรดาผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา การจำคุกกักขังควบคุมบุคคลใดเกินกว่าที่สมควรตามเหตุผลที่กฎหมายกำหนดนั้นจะกระทำมิได้” นายอธึกกิต กล่าว

Advertisement

นายอธึกกิต กล่าวต่อว่า ด้วยความเคารพต่อศาลอาญา ตนเห็นว่าการรับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองในคดีนี้ไว้ไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวออกไปทั้งที่ ทั้งสองมิได้มีพฤติการณ์หลบหนี ยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมที่บริเวณหน้าศาลอาญาและโดยที่ทั้งสองไม่ใช่บุคคลที่จะสามารถเข้ายุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และกระทำการขัดขวางสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนนั้น เป็นกรณีที่เป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมและต่อตัวเยาวชนทั้งสอง โดยอาจเป็นการด้อยค่าสิทธิมนุษยชนของพวกเขาในการพิทักษ์รักษากระบวนการยุติธรรมและดำรงไว้ซึ่งระบบอันที่พวกเราผู้ใหญ่ เราเพิกเฉยละเลยต่อการพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชนปัญญาชนทั้งหลายเป็นเสาหลักในการปกปักษ์ดูแลประชาชนนั้นไปไม่ได้ และเราต่างเรียนรู้หลักการตามนิติปรัชญาเพื่อนำมาใช้สร้างความเป็นธรรมให้ทุกคนเท่าเทียมกัน

“ขอเรียนท่านผู้พิพากษาโปรดพิจารณา ไม่รับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองนี้ต่อไปก็ขอให้ผู้พิพากษาผู้พิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลย และพิจารณาให้ความเป็นธรรมปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทางความคิดทั้งหลายเมื่อคราวที่ท่านมีอำนาจพิจารณาด้วย” นายอธึกกิต กล่าว

นายอธึกกิต กล่าวอีกว่า สื่อที่สร้างกระแสให้ทานตะวันเป็นเหมือนแม่มด จนกดดันให้ตำรวจต้องหาข้อหาที่ร้ายเเรงมาสนองกระเเสสังคม ทั้งที่จริงดูจากพฤติการณ์การไม่ฟังคำสั่งของตำรวจที่อยู่ท้ายขบวนเสด็จควรจะเป็นเเค่ความผิดจราจรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องความไม่ปลอดภัยต่อราชวงศ์ ตนมองว่าการตั้งข้อหา 116 เป็นการตั้งข้อหาที่เกินกว่าเหตุ ดูจากพฤติการณ์คือเด็กทั้งสองออกรถก่อนที่ตำรวจจะอนุญาตตำรวจก็มาล้อมการบีบเเตรดังกล่าว จึงเป็นการบีบใส่ตำรวจ เเต่ที่ไม่มีการตั้งข้อหา 112 คงเพราะจะกลัวว่า เป็นการอ้างสถาบันมากเกินไป ก็เลยตั้งข้อหา 116 เพื่อสนองความรู้สึกกระแสดราม่า

ตัวแทนกลุ่มรณรงค์สิทธิ์ในความชอบธรรมได้แถลงการณ์ ขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์การฟ้องมาตรา 116 กรณีการบีบแตรของนักกิจกรรมและการไม่ให้สิทธิประกันตัวที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

โดยระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ที่นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมเยาวชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องการแก้ไขปัญหาของสังคม จนโดนคดีมาตรา 112 ได้เผยแพร่ไลฟ์เหตุการณ์การถกเถียงกับตำรวจที่ปิดถนนบนทางด่วน พร้อมกับการบีบแตรเสียงดัง 5 ครั้ง รวมเกือบ 2 นาที เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 และสื่อหลายสำนักได้พาดหัวข่าวรุนแรง และกล่าวหาเกินกว่าข้อเท็จจริง เช่น คุกคามขบวนเสด็จ ขัดขวางขบวนเสด็จ ตลอดจนไล่ตามขบวนเสด็จ อันนำไปสู่เหตุการณ์การใช้ความรุนแรงอย่างอุกอาจกลาง BTS เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2567

โดยกลุ่มผู้อ้างความจงรักภักดี ก่อเหตุบุกมาทำร้ายนางสาวทานตะวันขณะให้สัมภาษณ์ ทั้งยังข่มขู่นักข่าว ห้ามถ่ายรูป จนมีนักข่าวพลเมืองถูกทำร้ายด้วย ตามที่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สร้างความหวาดหวั่น และความวิตกกังวลต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาในวันที่ 13 ก.พ. 2567 นางสาวทานตะวันและเพื่อนได้มาแสดงตนที่ศาลอาญา และถูก จับกุมในข้อหา มาตรา116 และข้อหาพรบ.คอม โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ซึ่งนางสาวทานตะวันและเพื่อน ได้กระทำอหิงสา อดอาหาร จนร่างกายทรุดโทรม เข้าขั้นวิกฤตอาจถึงแก่ชีวิตได้ กลุ่มรณรงค์สิทธิ์ในความชอบธรรมมีความเห็นว่า การนำเสนอประเด็นข่าวในกรณีนี้ได้สร้างความแตกแยกในสังคมอย่างเลยเถิด เช่น ที่มีการกล่าวหาสื่อที่ไม่ได้ใส่เสื้อม่วงในวันนัดระดมพล ปกป้องการคุกคามขบวนเสด็จของกลุ่มต่างๆ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงยังไม่ถูกพิสูจน์ ศาลยังไม่ได้พิพากษาคดีนี้แต่อย่างใด ก็มีการตีตราว่า การบีบแตรใส่ตำรวจในกรณีนี้เป็นการกระทำความผิดร้ายแรง ไม่สมควรได้รับสิทธิการประกันตัวไปแล้ว

ตัวแทนกลุ่มรณรงค์ กล่าวต่อว่า หากยังคงมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองโดยไม่ให้สิทธิการประกันตัวเช่นนี้ ย่อมนำไปสู่ความสูญเสียของทุกฝ่ายอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ยิ่งเมื่อเทียบกับคดีร้ายแรง ที่ตำรวจ ข่มขืนเด็กอายุ 18 บนโรงพักแล้วได้ประกันตัว หลักการให้ประกันตัวของศาลก็ยิ่งสร้างความกังขาให้แก่สังคมเป็นทวีคูณ

อนึ่ง เหตุการณ์นี้กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน ตลอดจนนานาอารยประเทศ หากไม่ทำความจริงให้ปรากฏ ก็รังแต่จะสร้างความมัวหมองให้กับทุกสถาบัน กลุ่มรณรงค์สิทธิ์ในความชอบธรรม จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม และสภาผู้แทนราษฎรนำเรื่องนี้มาไต่สวน เพื่อไม่ให้สังคมต้องสังเวยเหยื่อจากการยุยงปลุกปั่น ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในสมัย 6 ตุลา 2519 เพื่อหยุดความแตกแยกที่เกิดจากความเข้าใจผิด และเพื่อรักษาชีวิตของเยาวชนผู้ถูกกล่าวหา ที่ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ตามหลักกฎหมาย ทั้งเป็นการรักษาพระเกียรติของสถาบันไม่ให้มีมลทินมัวหมอง จากการขยายความผิดที่ไปไกลจากข้อเท็จจริง หลักฐาน ข้อกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image