ธีระวัฒน์ มุลวิไล เปิดจุดยืนลงชิง ส.ว. ‘ขอร่วมเปลี่ยนประเทศ’

ธีระวัฒน์ มุลวิไล เปิดจุดยืนลงชิง ส.ว. ‘ขอร่วมเปลี่ยนประเทศ’

หมายเหตุ – นายธีระวัฒน์ มุลวิไล นักแสดงชื่อดังและผู้ก่อตั้งกลุ่มราษฎรัมส์ ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงจุดยืนสำหรับการลงสมัครเพื่อรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ 200 คน

จุดเริ่มต้นการสนใจประเด็นสังคมและการเมือง เกิดขึ้นมาจากการได้เคยทำงานละครเวทีมาเกือบ 30 ปีแล้ว จนตั้งกลุ่มของตัวเองชื่อว่า ‘B-Floor Theater’ ตั้งแต่ปี 2542 ทำมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งผมมองว่าศิลปะมันสามารถสะท้อนประเด็นสังคมได้ เพื่อทำให้เกิดการถกเถียง หรือเปิดมุมมองให้คนตระหนักรู้ในสิ่งที่มันเป็นไปในสังคมนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นความชอบส่วนตัวด้วย

พอมองดูแล้วมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยุติธรรม ความขัดแย้ง ความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชนมาโดยตลอด ผมก็เลยมักจะหยิบจับประเด็นพวกนี้มาทำงานละครอยู่เรื่อย และพูดถึงความขัดแย้งดังกล่าวมากขึ้น มันก็ขยายความหลากหลายไปทั้งเรื่องสังคม ศาสนา หรือรณรงค์ทางสังคม 

Advertisement

ยกตัวอย่างเช่น การคัดค้านทำเหมืองแร่โปแตชช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการสร้างสรรค์ผลงานไปพร้อมกับนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อาทิ ละครเร่ กลุ่มราษฎรัมส์ เพื่อเป็นการสนับสนุนการแสดงออกทางการเมือง 

ต่อมาเกิดความสนใจที่จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะเราติดตามข่าวเรื่อง ส.ว.มาตั้งนานแล้ว มองว่าตำแหน่งนี้มีบทบาทเกี่ยวกับการพิจารณากฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะตัวรัฐธรรมนูญ และมีผลต่อการแต่งตั้งองค์กรอิสระ 

อีกทั้ง ปัญหาของประเทศในช่วง 7-8 ปีมา เราก็เห็นถึงเอฟเฟ็กต์ที่เกิดจาก ส.ว.ไม่ได้มีความเป็นอิสระ หรืออยู่ฝั่งประชาธิปไตยสักเท่าไหร่ ผมเลยคิดว่า อยากจะลองเอาตัวเองเข้าไป ถ้าได้ก็จะมีผลในการเปลี่ยนแปลงประเทศ 

Advertisement

อีกทั้ง ส.ว. 250 คนที่ใกล้จะหมดวาระชุดนี้ สร้างผลกระทบต่อด้านการเมืองมานานแล้ว ซึ่งสิ่งที่เห็นชัดที่สุด คือ หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา เขาไม่ได้ทำตามมติของมหาชน อย่างเช่นพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดจากประชาชนกลับไม่ได้เป็นรัฐบาล รวมถึงเราเห็นทัศนคติต่างๆ ไปในฝั่งอนุรักษนิยมอย่างมาก มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่ามันมีผลต่อประเทศมาก และมีผลทำให้ตัดสินใจลงสมัครครั้งนี้ เพราะถ้า ส.ว.เหล่านี้เป็นได้ แล้วทำไมผมจะเป็นไม่ได้

ส่วนตัวแล้วยังคงคาใจอยู่ว่า สุดท้ายแล้วเราจะได้ผู้เชี่ยวชาญในด้านอาชีพนั้นจริงหรือเปล่า ถ้ามีการไขว้สาย ซึ่งทำให้ผู้สมัครต้องเป็นคนที่มีคนรู้จักวงกว้างด้วย ไม่แน่เหมือนกันว่าการทำงานตามสายอาชีพแล้ว ไม่ได้ไปครอส (Cross) กับคนอื่นสักเท่าไหร่ เพราะถ้าเป็นศิลปินที่มีกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันก็คงง่ายกว่า 

โดยการตั้ง ส.ว.จะเป็นการไต่ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ ซึ่งกระบวนการไขว้สายก็ทำให้เกิดความกังวลว่าคนที่เหลือรอดเข้าไปในรอบต่างๆ จะเป็นอย่างไร อย่างน้อยก็คงจะต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียงที่คนจะรู้จักในวงกว้าง

เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมประชาชนไม่มีส่วนเลือก ส.ว.โดยตรง พอเรามาสมัครก็จะได้เห็นกระแสการรณรงค์ให้สมัครเพื่อไปโหวต หรือเพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ากลุ่มอาชีพคนที่เป็นราชการจะเป็นอย่างไร แต่ว่าผมรู้สึกว่าในสายอาชีพศิลปินเราจะเป็นคนรับจ้างอิสระมากกว่า 

โดยศิลปินแต่ละคนที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม หลายคนเขาก็ต่อสู้ดิ้นรนในประเทศ มันก็คือการยืนด้วยขาตัวเองมาตลอด จึงรู้สึกว่าการที่เราจะเข้าไปพูดถึงปัญหาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง อย่างน้อยก็พูดถึงเรื่องสวัสดิการ อย่างละครเวทีต้องใช้พื้นที่ในการซ้อม ก็อยากให้มีพื้นที่ของรัฐที่เป็นศูนย์รวม ให้กลุ่มศิลปินมีพื้นที่ในการทำงาน ถ้ามองเรื่องใกล้ตัวก็จะเป็นอย่างนั้น

เราก็รู้สึกว่าเมื่อคุณเข้าวงการมาแล้ว มีเงินมีทอง พอตอนที่โรยราไม่ได้รับความนิยมไปแล้ว ก็มักจะมีชีวิตที่ตกต่ำ อาจจะไม่มีเงิน หรือแม้กระทั่งค่ารักษาพยาบาลตัวเอง เราก็เห็นอะไรแบบนี้บ่อย ถึงแม้ว่าจะมีสวัสดิการพื้นฐานอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือเงินเบี้ยเลี้ยงคนชรา แต่มันก็ไม่เพียงพอ ทั้งที่คนเหล่านี้คือบุคลากรของประเทศที่เคยสร้างผลงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นแบบดั้งเดิม หรือสมัยใหม่ เขาก็นับว่าเป็นบุคลากรที่มีค่าของประเทศ 

ศิลปะมีผลทั้งช่วยเยียวยาผู้คนและทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ ประเทศไม่ได้มีแค่ภาคเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมเสมอไป เราเลยรู้สึกว่ากลุ่มศิลปินไม่ได้รับการเหลียวแล บางทีรัฐก็เพิกเฉยมาตั้งนานแล้ว ดังนั้นกลุ่มศิลปะก็อาจจะต้องได้รับการเหลียวแลมากขึ้น

ช่วงที่ผ่านมาเสียงของการเคลื่อนไหวบนท้องถนนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มันก็เป็นการหยิบยกเสียงของคนหลากหลายกลุ่ม มาให้ดังขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการศึกษา LGBTQ+ แรงงาน ซึ่งตอนนั้นเราก็มองเห็นถึงการขับเคลื่อน มันอาจจะเริ่มต้นด้วยคนรุ่นใหม่ก็จริง แต่ก็เห็นประชาชนหลากหลายกลุ่ม ก็เข้ามามีส่วนร่วมและพูดถึงปัญหาของตัวเองบนท้องถนน 

โดยเฉพาะกรณี ประชาชนเข้าไปยื่นจดหมายเรียกร้องอย่างสันติวิธี รัฐก็เพิกเฉย เราจึงคิดว่ารัฐแบบนี้เป็นรัฐที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน ฉะนั้นก็คิดว่าเสียงประชาชนตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นจนถึงตอนนี้ ที่เรามีรัฐบาลใหม่แล้ว เราก็รู้สึกว่าคนเหล่านั้นก็ยังคงเฝ้ารอดูว่า จะเกิดการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงในทางบวกอย่างไรบ้าง

ตอนนี้อาจจะมีการเร่งแก้ปัญหาในทางเศรษฐกิจ แต่ว่ามิติของสังคมก็มีความสำคัญ ที่จะต้องทำควบคู่กันไปด้วย เราก็จะเห็นว่ามันอาจจะดูเงียบมาก ซึ่งคิดว่าการที่ประชาชนมีโอกาสเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง มันอาจจะต้องทำงานกันในสภาอะไรแบบนี้มากกว่า เพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.หรือ ส.ว. มันก็ต้องเข้าไปในระบบของรัฐ 

ยกตัวอย่างกรณี เกิดการรวมตัวเรียกร้องปัญหาที่หน้าสภา เขาก็ยังไม่สนใจเลย ขนาดว่าไปกองกันอยู่ตรงนั้นเขายังไม่ฟัง เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงมันอาจจะเริ่มจากคนที่เอาเสียงของประชาชนเข้าไปพูดแทนอย่างแท้จริง มันถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และจะถูกรับฟัง

อีกทั้งปัญหาของ ส.ว. 250 คนที่ผ่านมา ได้ขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งเขาจะโหวตอย่างไรก็ได้ เพราะเขาไม่ได้รับการเลือกตั้งมา เขาก็สามารถเลือกเอาได้ตามใจฉัน อย่างครั้ง ส.ว.ชุดใหม่นี้ ก็คงจะต้องฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น เพราะว่าผ่านการเลือกตั้งมา โดยประชาชนอายุถึง 40 ปี แล้วก็ลงสมัครเพื่ออยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ก็รู้สึกว่าควรที่จะสมัครเข้ามาโหวตเป็น ส.ว.ให้ได้มากขึ้น เพื่อที่ทำให้เสียงที่ประชาชนต้องการนี้ มันดังขึ้น 

ทั้งนี้ เงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรื่องค่าสมัคร 2,500 บาท ด้านหนึ่งมันก็เหมือนว่าเป็นการตัดโอกาสคนเหล่านั้นที่มีเงินเดือนหลักหมื่นนิดๆ รวมถึงอีกหลายคนที่มีเจตนาดีทำเพื่อประเทศอยู่เหมือนกัน ซึ่งการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ มันควรที่จะต้องให้คนเข้าไปอยู่ในระบบประมาณ 3-4 คน เป็นอย่างน้อย รู้สึกว่าพอมีเงื่อนไขตรงนี้ขึ้นมา ก็ทำให้คนหายไปอีกเยอะ 

ตอนนี้ทุกคนตระหนักรู้แล้วว่า ส.ว.มีความสำคัญ และมีผลต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงบางส่วน ซึ่งตื่นรู้กันแล้วว่าตัว ส.ว.ก็มีผลออย่างมากในการที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เพราะว่าผลกระทบที่เขาได้เรียนรู้กันมาตลอดหลายปีอาจจะเพียงพอแล้ว ที่อยากจะหยุดวงจรแบบนี้ให้มันจบที่นี่ แล้วอาสาพาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วม

ครั้งนี้มันไม่ได้เหมือนการไปลงเลือกปกติ มันมาพร้อมกับความยุ่งยาก ซึ่งความยุ่งยากเหล่านี้ มันเป็นสิ่งที่เขาต้องอุทิศตัวเข้ามา ไม่เช่นนั้นแล้วความเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image