อุปนายกอบจ. สะอื้น จุฬาฯทำลืม ‘จิตร ภูมิศักดิ์’? หวังคนจดจำอุดมการณ์ มากกว่าตัวตน

อุปนายกอบจ. สะอื้น จุฬาฯทำลืม ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ หวังคนจดจำอุดมการณ์ มากกว่าตัวตน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 4 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ สถาบันจิตร ภูมิศักดิ์ และเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย ร่วมจัดเวทีเสวนา “หลังเสียงปืน 58 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียน และนักปฏิวัติ” เนื่องในวาระครบรอบวันเสียชีวิต 58 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ วันที่ 5 พ.ค.2509

โดยภายในงานมีการ ปาฐกถาจิตร ภูมิศักดิ์ ประจำปี 2567 โดย นายประยงค์ มูลสาร (ยงค์ ยโสธร) ประธานสถาบันจิตร ภูมิศักดิ์ ตามด้วยการเสวนา “หลังเสียงปืน 58 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียน และนักปฏิวัติ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายเยี่ยมยอด ศรีมันตระ ผอ.สถาบันจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย นายอภิเชษฐ์ ทองน้อย คณะผู้เตรียมการฟื้นฟูเกียรติภูมิจิตร ภูมิศักดิ์ นายเจน อักษราพิจารณ์ นักเขียน และผู้แทนโครงการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงประวัติศาสตร์สมรภูมิภูพาน น.ส.สลิณา จินตวิจิต อุปนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2567 และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการสถาบันจิตร ภูมิศักดิ์ และเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย ดำเนินรายการโดย น.ส.แทนฤทัย แท่นรัตน์

Advertisement

ในช่วงเสวนาตอนหนึ่ง น.ส.สลิณา จินตวิจิต อุปนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ประจำปีการศึกษา 2567 กล่าวว่า ที่ทางของจิตร ภูมิศักดิ์ ในจุฬาฯ ผูกพันอยู่แค่ 2 คำ คือคำว่า ‘จำ’ และคำว่า ‘ลืม’

คำว่า ‘ลืม’ จิตร ภูมิศักดิ์เหมือนผี ไม่ได้หายไปจากจุฬาฯ เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่คุณค่าหลักที่จุฬาฯ เชิดชูยึดถือ ขณะเดียวกันในคณะอักษรศาสตร์ ตนไม่เคยเห็นห้องประชุม อนุสาวรีย์ รูปภาพของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ได้รับการเชิดชูอย่างเป็นทางการ

ขณะเดียวกัน ถ้าใครได้เรียนที่คณะอักษรจุฬาฯ จะมี 2 ตึกที่ใช้เรียนด้วยกัน โดยตั้งชื่อจากบุคคลสำคัญที่ทางจุฬาฯ เชิดชู แต่ขณะเดียวกัน จิตร ภูมิศักดิ์ก็ไม่ได้หายไปจาก คณะอักษรศาสตร์ เสียทีเดียว แต่มีวิชาเรียนที่พูดถึง ใช้หนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ ในการเรียนการสอน และมีการรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ ของนิสิตกันเอง

Advertisement

”ผู้ใหญ่ในจุฬาฯ อยากให้เราลืมจิตร ภูมิศักดิ์ ย้อนกลับไปเมื่อสองถึงสามปีก่อน สาราณียกรของจุฬาฯ พยายามเขียนบทความที่เกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับก็คือถูกจุฬาฯ ปฏิเสธให้ทุนในการทำหนังสือต่อ แต่สุดท้ายพี่ๆ รุ่นนั้น ก็สามารถทำให้หนังสือออกมาได้

จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เหมือนผี ยังคงหลอกหลอนจุฬาฯ อยู่ตรงนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าไม่มีใครจำจิตร ภูมิศักดิ์ได้” น.ส.สลิณากล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

น.ส.สลิณากล่าวว่า ส่วนคำว่า ‘จำ’ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าว่ 2-3 ปีก่อนหน้านี้กระแสประชาธิปไตยในหมู่นิสิตนักศึกษา กำลังเฟื่องฟู จิตร ภูมิศักดิ์ มีความสำคัญอย่างมากเป็นแรงบันดาลใจให้กับนิสิตจุฬาฯ หลายคนในการออกมาทำอะไรสักอย่าง ที่กล้าออกมาวิจารณ์ความไม่เป็นธรรมในสังคม ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของจิตร ส่วนตัวมีมุมมองอะไรมากกว่านั้น แต่สิ่งที่จุฬาฯ ทำคือไม่เชิดชูหรือให้พื้นที่ให้จิตร ภูมิศักดิ์เลย ไม่มีห้องประชุม ไม่มีถนนที่ชื่อจิตร ภูมิศักดิ์

“ความท้าทายของนิสิตปัจจุบัน จะทำอย่างไรให้คนจดจำจิตร ภูมิศักดิ์ได้ เราจะจำในฐานะนักวิชาการ นักอักษรศาสตร์ นักเขียนนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ นักสังคมนิยม ยังเป็นความท้าทายที่ตัวหนูเองยังคงเผชิญอยู่ เพราะว่าสำหรับเราแล้ว อยากจัดงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ ในจุฬาฯ แต่คำถามที่ถามตัวเองและถามเพื่อนเพื่อนที่ร่วมงานด้วยกัน เราควรจะรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์อย่างไร เราควรจะมองจิตร ภูมิศักดิ์ในฐานะนิสิตที่โดนโยนบกแค่นั้นหรือ หรือจิตร ภูมิศักดิ์มีอะไรมากกว่านั้น

แต่สุดท้ายแล้วยังคาดหวังว่าจุฬาฯ ยังจดจำจิตร ภูมิศักดิ์ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง“ น.ส.สลิณากล่าว

“ส่วนคำถามที่ว่าถ้าจิตร ภูมิศักดิ์มีชีวิตอยู่จะเป็นอย่างไร ตอบตรงๆ ว่าไม่ทราบ มันเป็นการสมมุติ มีได้เป็นร้อย เป็นล้านอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่คิดได้คือ มนุษย์คนหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ ในวัยเด็กก็มีแนวคิดแบบชาตินิยม ในขณะที่ต่อมาต่อต้านศักดินา เห็นความทุกข์ยากของมวลชน เลยคิดว่าตัวจิตร ภูมิศักดิ์ไม่ได้สำคัญเท่าอุดมการณ์ที่จิตร ภูมิศักดิ์ส่งต่อมาให้กับคนรุ่นหลังในทุกวันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรที่จะรักษาไว้ มากกว่ารำลึกเพียงแค่ตัวตนของจิตร ภูมิศักดิ์เพียงอย่างเดียว” น.ส.สลิณากล่าวปิดท้าย

อ่านข่าว : ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ยังมีอิทธิพล! ปัญญาชนล้อมวง ‘58 ปีหลังเสียงปืน’ เชื่อ ถ้ายังมีชีวิต คงติดคุกซ้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image