โกย 1,286 ชื่อยื่น เบรกกกต. อ.นันทนา-We Watch ลุยจี้แก้ระเบียบปิดตา เลือกส.ว.

โกย 1,286 ชื่อยื่น ‘เบรกกกต.’ อ.นันทนา-We Watch-ประชาชนพิทักษ์สิทธิ ลุยจี้แก้ระเบียบเลือก ส.ว.

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 13.00 น. ที่หน้า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาคารบี ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ สืบเนื่องกรณีการเลือกวุฒิสมาชิก (ส.ว.) ชุดใหม่ เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) จัดกิจกรรมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึง กกต. เพื่อคัดค้านระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567

นำโดย นายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน, นายนนทวัฒน์ เหล่าผา อาสาสมัครเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch), นายภูมินทร์ พาลุสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครและการฝึกอบรม We Watch

นอกจากนี้ยังมี รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก และนายวรา จันทร์มณี เลขาธิการเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรม ร่วมอ่านจดหมายพร้อมยื่นหนังสือ

Advertisement

เวลา 13.10 น. นายนนทวัฒน์เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ เรื่อง คัดค้านระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ก่อนนำไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ เพื่อส่งถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีเนื้อหาว่า

สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ซึ่งวางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศของความกังวลและความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก (ส.ว.) เพราะหากไม่ปฏิบัติตามอาจมีบทลงโทษทางอาญาให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีก 5 ปี ระเบียบของ กกต. ผู้ร่วมลงชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้จึงมีความเห็นว่าระเบียบนี้เป็นการปิดปากผู้สมัคร ปิดปากสื่อมวลชน และปิดหูปิดตาประชาชน มีความจำเป็นต้องคัดค้านและเรียกร้องให้มีการแก้ไข โดยมีรายละเอียดดังนี้

Advertisement

1. ปิดปากผู้สมัคร
ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวได้เพียงการทำเป็นเอกสาร A4 ไม่เกิน 2 หน้า โดยมีข้อความเพียงข้อมูลส่วนตัว รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในกลุ่มที่สมัครเท่านั้น แม้จะให้มีการแนะนำตัวทางออนไลน์ได้ แต่ห้ามเปิดเผยให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครรับทราบ ด้วยแนวทางนี้ ในทางปฏิบัติผู้สมัครแทบจะไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียได้ ข้อบังคับเช่นนี้ตัดการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนออกจากการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการทางการเมือง โดยการออกระเบียบไม่ให้ผู้สมัครแนะนำตัวหรือประกาศตัวต่อสาธารณะ แต่ให้คุยกันเองในวงเล็กๆ ด้วยข้อมูลที่จำกัดเท่านั้น

2. ปิดปากสื่อมวลชน

นอกจากห้ามผู้สมัคร ระเบียบ กกต. ฉบับนี้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนและผู้เอาใจใส่
สังเกตการณ์ในหลายประการ ทั้งการห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงห้ามให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนนักข่าว หรือสื่อออนไลน์ ประกอบกับระเบียบยังนิยามคำว่า “แนะนำตัว” ไว้อย่างกว้างขวาง คือ “การบอก ชี้แจงหรือแจกเอกสาร เพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จัก” ขอบเขตที่กว้างและไม่ชัดเจนนี้ ทำให้ไม่อาจทราบว่าการกระทำถึงขนาดไหนจะถือว่าเป็นหรือไม่เป็นการแนะนำตัวของผู้สมัคร ก่อให้เกิดสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จนอาจเกิดเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนเลือกจะเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อความปลอดภัย เพราะแม้จะไม่ใช่ผู้สมัคร แต่หากการรายงานข่าวนั้นถูกตีความว่าเป็นผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร อาจถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและมีโทษเช่นเดียวกันกับผู้สมัคร

3. ปิดหูปิดตาประชาชน
ขอบเขตกฎหมายที่กว้าง ไม่ชัดเจน และโทษทางอาญาที่สูง ประกอบกับการที่ กกต. เองออกมาสื่อสารกับสาธารณะโดยตลอดว่าห้ามมีการหาเสียง แนะนำตัว ประกาศตัว หรือกระทำการที่เข้าข่ายจะมีบทลงโทษ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการบังคับทางอ้อมให้ประชาชนและผู้สมัครจำเป็นต้องจำกัดบทบาทของตนต่อกระบวนการเลือก ส.ว. ส่งผลต่อบรรยากาศการเลือก ส.ว. ที่กำลังจะเกิดขึ้นขาดการมีส่วนร่วมและโปร่งใสเพียงพอ จนสวนทางกับกระแสสังคมที่กำลังเรียนรู้และสนใจกระบวนการเลือก ส.ว. ดังที่เราได้เห็นผู้ประสงค์จะลงสมัครคัดเลือกต่างทยอยประกาศตัวให้สาธารณะและให้ผู้สมัครคนอื่นได้รู้จัก

ระเบียบ กกต.ฉบับนี้มีผลทำให้เกิดบรรยากาศที่ผู้ประสงค์จะสมัคร ส.ว. ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าแนะนำตัว เพราะไม่แน่ใจขอบเขตของการแนะนำตัว จนที่สุดทำให้บรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชนลดลง ทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 78 ที่กำหนดให้ รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางหากปล่อยไว้เช่นนี้ ย่อมเป็นที่น่ากังวลว่าความน่าเชื่อถือของ ส.ว.ชุดใหม่ ย่อมสั่นคลอนและไร้ซึ่งการยอมรับของประชาชน และที่เลวร้ายกว่านั้นหากปล่อยให้มีระเบียบที่ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นนี้ ยิ่งจะลดทอนความศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

1. ระงับการบังคับใช้ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขเพื่อรองรับหลักการของการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

2. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรกำหนดมาตรการและแผนงานในการส่งเสริมการรับรู้ การมีส่วนร่วม และการตรวจสอบการทุจริตโดยประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ผ่านการเปิดกว้างเพื่อรับฟังเสียงประชาชนและสื่อมวลชนที่จะได้รับผลกระทบให้มากยิ่งขึ้น
ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะมีกระบวนการทางการเมืองที่โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้

ต่อมาเวลา 13.30 น. อาสาสมัครกลุ่ม We watch พร้อมด้วย รศ.ดร.นันทนา และเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก่อนร่วมยื่นหนังสือพร้อม 1,286 รายชื่อ ให้แก่เจ้าหน้าที่ กกต. โดยเจ้าหน้าที่รับปากว่าจะส่งถึง กตต. ภายในวันนี้

สำหรับหนังสือที่ยื่นกับ กกต.ในวันนี้ เป็นฉบับเดียวกับที่ประชาชนร่วมลงชื่อออนไลน์ รวมทั้งประเทศ 1,286 รายชื่อ พร้อมดาวน์โหลดเพื่อนำไปยื่นที่ สำนักงาน กกต.ในจังหวัดต่างๆ เรียกร้องให้แก้ไขระเบียบดังกล่าว อาทิ ที่สำนักงาน กกต. จ.ยะลา เพชรบูรณ์ มหาสารคาม เป็นต้น โดยประเด็นสำคัญในจดหมายเปิดผนึก คือการเรียกร้องให้มีการแก้ไข หลังจากมีการประกาศใช้ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 We Watch และภาคประชาสังคมเห็นว่าเป็นการวางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศความกลัวแก่ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ระเบียบฉบับนี้เป็นการปิดปากผู้สมัคร ปิดปากสื่อมวลชน และปิดหูปิดตาประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image