นันทนาลั่น ทั้งโลกงง! แนะนำตัวเองไม่ได้ ย้ำกกต.เร่งแก้ ‘ระเบียบเลือกส.ว.’ ปชช.จ้องอยู่

นันทนา ลั่น ทั้งโลกงง! แนะนำตัวเองไม่ได้? ยันกกต.ยังมีโอกาส ก่อนถูกครหา ‘แก้ระเบียบเลือกส.ว.’ ประชาชนจ้องอยู่

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาคารบี ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ สืบเนื่องกรณีการเลือกวุฒิสมาชิก (ส.ว.) ชุดใหม่ เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) จัดกิจกรรมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึง กกต. เพื่อคัดค้านระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567

นำโดย นายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน, นายนนทวัฒน์ เหล่าผา อาสาสมัครเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch), นายภูมินทร์ พาลุสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครและการฝึกอบรม We Watch

นอกจากนี้ ยังมี รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก และนายวรา จันทร์มณี เลขาธิการเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรม ร่วมอ่านจดหมายพร้อมยื่นหนังสือ

Advertisement

เมื่อถามถึงกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รับคำร้องการพิจารณาเพิกถอนระเบียบแนะนำตัว ส.ว.ของ กกต.มองกรณีนี้อย่างไร?

Advertisement

รศ.ดร.นันทนากล่าวว่า ส่วนตัวเห็นสอดคล้องกับกลุ่มของอาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ ที่ได้ไปยื่นร้องต่อศาลปกครอง แต่ว่าศาลปกครองนัดวันที่ 16 พฤษภาคม ซึ่งน่าจะเกิดหลังจากการที่มีกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ว. ฉะนั้นการยื่นหนังสือของกลุ่ม We Watch ครั้งนี้จึงเป็นการยื่นถึง กกต.โดยตรง เพื่อกระตุ้นให้เห็นว่าระเบียบที่ กกต.ออกมานั้นส่งผลต่อความหวาดกลัว ทำให้ผู้สมัครไม่มั่นใจว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร

“ตรงจุดนี้ถ้า กกต.เห็นว่ากฎระเบียบที่ออกมาไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้ผู้สมัครได้แนะนำตัวให้กับประชาชนได้รับรู้ รวมทั้งผู้สมัครด้วยกันเอง ก็จะเป็นความกรุณาอย่างยิ่งหาก กกต.จะปรับปรุงระเบียบให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และทันต่อการมีกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ออกมา”

“We Watch และกลุ่มผู้ที่มีความประสงค์จะสมัครจึงได้มายื่นร้องโดยตรง ถ้า กกต.เห็นว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการที่จะมีการเปิดรับสมัครแนะนำตัวสามารถปรับปรุงระเบียบให้รองรับ และให้การเลือก ส.ว.อย่างแพร่หลายเป็นที่รับรู้ และไม่เป็นการปิดหูปิดตาประชาชนได้” รศ.ดร.นันทนาชี้

เมื่อถามถึงระเบียบที่ กกต.ประกาศออกมาระยะหนึ่ง รวมถึงฟีดแบ๊กต่อประชาชน ที่มีต่อ กกต.มองอย่างไรบ้าง?

รศ.ดร.นันทนากล่าวว่า ถ้าเราดูจากระเบียบของ กกต.ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 25 เมษายนและจะมีผลบังคับใช้วันที่ 27 พฤษภาคมนี้ จะเห็นได้ว่าประการแรก การแนะนำตัว ถ้าหากผิดพลาดจะมีโทษทางอาญา ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความหวาดกลัวอย่างมาก เพราะว่าการเลือก ส.ว.ครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ คนไม่ได้รับรู้มาก่อน

1.การที่ผู้ประสงค์จะลงสมัคร อาจจะแนะนำตัวผิดพลาดหรือไม่เป็นไปตามสิ่งที่ กกต.กำหนดก็ไม่ควรจะมีโทษทางอาญา “มันควรจะเป็นโทษที่ไม่รู้แล้วทำไป เป็นข้อแรกที่คนท้วงติง ว่าระเบียบนี้มีปัญหา เพราะกำหนดโทษเอาไว้ถึงขั้นจำคุก 1 ปี”

2.ข้อกำหนดของการแนะนำตัว ให้แนะนำตัวเฉพาะผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครด้วยกันเท่านั้น ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าใครจะมาส่งลงสมัครบ้าง ในเมื่อ กกต.เองก็ยังไม่มีช่องทางการสื่อสารว่าใครจะเป็นผู้สมัคร ถ้าออกมาแบบนี้หมายความว่าผู้ประสงค์จะลงสมัครต้องอยู่เฉยๆ เพราะไม่รู้ว่ามีใครบ้างที่จะลงสมัคร

“ตรงจุดนี้จะเป็นการปิดกั้นผู้สมัครด้วยกันเองให้ไม่สามารถสื่อสารกันได้ ไม่รู้ว่าใครจะลงบ้าง แต่ถ้าสื่อสารผิดกลุ่มเมื่อไหร่มีโทษทางอาญา”

3.การแนะนำตัวไม่ควรแนะนำเฉพาะผู้ที่ประสงค์จะลงสมัคร แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้มีส่วนเลือก แต่ ส.ว.ก็เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ควรที่จะได้รับรู้ประวัติของผู้สมัคร แล้วก็มีส่วนที่จะได้เฝ้ามองการเลือกตรงนี้

รศ.ดร.นันทนากล่าวว่า ฉะนั้นการที่ กกต.ออกระเบียบมาในลักษณะนี้หลายคนจึงมองว่าเป็นการปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน ประชาชนถูกปิดตา และปิดกั้นสื่อในการทำหน้าที่ เพราะสื่อก็ไม่สามารถที่จะออกมาสัมภาษณ์ เผยแพร่ข้อมูลของผู้สมัคร ส.ว.ใดๆ ได้เลย เพราะอาจจะเข้าข่ายผิดและอาจมีโทษทางอาญาได้ด้วย

“ดังนั้น เมื่อมีผู้ทวงติง กกต.ควรจะรับฟัง ยังมีเวลาที่จะออกมาปรับปรุงระเบียบ เพื่อที่จะไม่ให้ถูกข้อครหา เป็นที่นินทาในหมู่ประชาชนว่า กกต.ไม่ได้สนับสนุนการเลือก ส.ว.และไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับรู้ข้อมูลการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ กกต.ออกมาปรับปรุงและแก้ไขระเบียบตรงนี้” รศ.ดร.นันทนากล่าว

เมื่อถามว่า ถ้า กกต.ไม่ขยับ หรือปรับระเบียบนี้มองว่าจะส่งผลอย่างไรกับ กกต.ในฐานะองค์กรอิสระ?

รศ.ดร.นันทนากล่าวว่า วันนี้ที่กลุ่ม We watch และผู้ประสงค์ที่จะลงสมัคร ส.ว.มายื่นข้อร้องเรียนโดยตรง ก็เพื่อจะบอกว่าเรามาอย่างเป็นมิตร เราไม่ได้ต้องการเห็นการฟ้องร้องคดี หรือมีการดำเนินคดีกัน เราต้องการที่จะขอความเห็นใจจาก กกต. เพราะการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับประชาชนและผู้ที่ประสงค์จะลงสมัคร

“ถ้าหาก กกต.มองว่าการเลือก ส.ว.เป็นภารกิจสำคัญ กกต.ก็ควรที่จะให้ความสำคัญกับกฎกติกาที่จะบังคับใช้ออกมากับผู้ที่ประสงค์จะลงสมัคร รวมถึงสื่อมวลชนอย่างชัดเจน แต่ถ้าหาก กกต.ไม่คิดว่าจะมีการทบทวนกติกา หรือปรับปรุงตรงนี้ ประชาชนก็อาจมองว่า กกต.ไม่ได้อยู่ในฝ่ายที่ควรจะรับหน้าที่จัดการเลือกตั้ง หรือเข้ามาสนับสนุนการเลือก ส.ว.ให้เป็นประชาธิปไตยและรับรู้อย่างกว้างขวางมากที่สุด ตรงนี้ภาพลักษณ์ของ กกต.ก็จะเสียหายเอง” รศ.ดร.นันทนากล่าว

ในช่วงท้าย รศ.ดร.นันทนายังกล่าวเสริมถึงระเบียบของ กกต.ที่ค่อนข้างคลุมเครือด้วยว่า เมื่อยังไม่มีกฤษฎีกาการเลือก ส.ว.ออกมาจึงยังไม่มีผู้สมัครใดๆ แต่ กกต.ใช้คำว่า ‘ผู้ประสงค์จะสมัคร’ ซึ่ง กกต.เองก็ไม่เคยมีช่องทางในการสื่อสารว่าใครคือผู้ประสงค์จะลงสมัคร ในขณะที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ก็ได้ทำเว็บไซต์ senate67.com มีการรวบรวมคนที่ประสงค์จะลงสมัคร ส.ว.และแนะนำตัวทั้งประวัติและจุดยืนทางการเมืองของเขา แต่ กกต.กลับบอกว่าตรงนี้น่าจะผิด

“มันเป็นช่องทางเดียวที่ทำให้เรารู้ว่าใครคือผู้ประสงค์จะลงสมัคร ดิฉันจึงคิดว่าประกาศที่ออกมานี้ขัดแย้งกับสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะในความเป็นจริงยังไม่มีผู้สมัคร เป็นเพียงผู้ประสงค์จะลงสมัคร กกต.ก็ไม่สามารถที่จะรวบรวมรายชื่อเหล่านั้นได้ แต่บอกว่าประกาศนี้บังคับใช้หลังวันประกาศในพระราชกฤษฎีกา คือ 27 พฤษภาคม ค่อนข้างคลุมเครือ กกต.ไม่ได้ชัดเจน”

“การแนะนำตัวของผู้สมัครนั้น จริงๆ แล้วเป็นสิทธิมนุษยชน เพราะว่าประวัติของเรา เราเป็นใคร มาจากไหน ทำไมเราจึงเปิดเผยกับประชาชนไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก คนทั้งโลกก็คงจะสงสัย ทำไมประวัติของเราถึงไม่สามารถแนะนำกับคนทั้งโลกได้ รวมทั้งคนในไทยเอง” รศ.ดร.นันทนาระบุ

รศ.ดร.นันทนากล่าวต่อว่า ส.ว.จริงๆ แล้วคือคนที่เข้าไปทำงานทางการเมือง อย่าใช้คำว่า ‘ปลอดการเมือง’ เพราะ ส.ว.คือนักการเมือง ไม่ได้แตกต่างจาก ส.ส.

“ฉะนั้น ส.ว.คือนักการเมือง ใช้คำว่าปลอดจากการเมืองนั้นผิด ต้องบอกว่า ‘ปลอดจากอิทธิพลของนักการเมือง’ ที่สำคัญคือผู้สมัคร ส.ว.สามารถ ‘มีจุดยืนทางการเมืองได้’ ดิฉันยืนยัน เพราะถ้าไม่มีจุดยืนหมายความว่าเข้าไปแล้วโหวตยังไงก็ได้ ไม่มีจุดยืนทางการเมืองก็ได้หรือ ทั้งๆ ที่ ส.ว.ต้องเข้าไปเป็นผู้อนุมัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ที่จะเข้าไปเลือกองค์กรอิสระ สิ่งเหล่านี้คืออำนาจหน้าที่ของ ส.ว.

“แล้วการห้ามมีจุดยืน ห้ามบอกว่าจะเข้าไปทำอะไรเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญ ประชาชนจะไม่มีสิทธิรู้เลยว่าผู้สมัครคนนี้มีจุดยืนอย่างไร เลือกกันแบบมืดๆ เงียบๆ สุดท้ายเข้าไปแล้วโหวตอย่างไรก็ได้ ไม่เห็นหัวประชาชน อันนี้ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ถ้า กกต.จะทบทวนกติกาตรงนี้ยังมีโอกาส ประชาชนเขารอดูอยู่ แม้ไม่ได้เลือก แต่ ส.ว.ชุดนี้จะเป็นผู้แทนของเขา เขาก็ควรจะได้รับรู้”

“สื่อมวลชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นการปกป้องวิชาชีพของเราในการเสนอข้อมูล ให้ประชาชนรับรู้ เรื่องการเลือก ส.ว.ทำหน้าที่แทนประชาชนชาวไทย สื่อมวลชนช่วยกดดันได้” รศ.ดร.นันทนากล่าวทิ้งท้าย

จากนั้น นายภูมินทร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครและการฝึกอบรม We Watch กล่าวเชิญชวนประชาชนร่วมดาวน์โหลดจดหมายเปิดผนึกเพื่อนำไปยื่นกับ กกต.ในแต่ละจังหวัด

“มีหลายจังหวัดที่ร่วมยื่นจดหมายกับเราแล้ว สุดท้าย อยากฝากประชาชนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ เก็บข้อมูล ว่ามีสถานการณ์อย่างไรบ้างในพื้นที่ของตัวเอง” นายภูมินทร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image