‘ประเสริฐ’ แถลง มาตรการปราบอาชญากรรมไซเบอร์ เผย ยอดกวาดล้างบัญชีม้า สูงกว่าเดิมหลายเท่า

‘ประเสริฐ’ นำทีมแถลง มาตรการปราบอาชญากรรมไซเบอร์ เผย ตัวเลขกวาดล้างบัญชีม้าสูงกว่าเดิมหลายเท่า

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 9 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงมาตรการป้องกันและปราบปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี มีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี นายสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.

นายประเสริฐกล่าวว่า จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการเร่งปราบปรามอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ โดยให้ผลการดำเนินการในระยะแรกสั่งการภายใน 30 วัน โดยทางกระทรวงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มี 10 เรื่องที่สำคัญดังต่อไปนี้

1.การปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ จับกุมได้ทั้งหมด 6,624 ราย ส่วนเว็บพนันออนไลน์มีการจับกุม 3,667 ราย บัญชีม้าและซิมม้า 366 ราย

Advertisement

2.การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน 16,658 รายการ และเว็บพนัน 6,515 รายการ

3.การระงับบัญชีม้ากว่า 700,000 บัญชี และกำหนดเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่เพื่อป้องกันการนำเอาบัญชีไปกระทำความผิดเพิ่มเติม

4.การกวาดล้างซิมม้า 800,000 หมายเลข และระงับการโทรออกของหมายเลขโทรศัพท์ที่มีโทรออกมากกว่า 100/วัน 36,641 เลขหมาย ส่วนผู้ที่ถือครองซิมมากกว่า 100 ซิม ได้มีการยืนยันตัวตนแล้ว 2.58 ล้านเลขหมาย ยังไม่มายืนยันตัวตนอีก 2.5 ล้านเลขหมาย และเพิ่มความเข้มงวดในการเปิดซิมโทรศัพท์ใหม่

Advertisement

5.การดำเนินการเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเตอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ผิดกฎหมายตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ได้ร่วมมือกับ กสทช.ดีเอสไอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการกวาดล้างและตรวจสอบตามแนวชายแดน

6.ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยเฝ้าระวังชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ชักชวนหลอกลวงคนไทยไปเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

7.ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยประสานงานกับกระทรวงต่างประเทศเจรจาแก้ปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านและจับกุม ทั้งปัญหาคอลเซ็นเตอร์และเว็บพนันออนไลน์ โดยได้หารือครบทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว

8.กำกับดูแลการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผิดกฎหมาย ให้สำนักงาน กลต.ส่งข้อมูลผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทรวงดีอี และปิดกั้นช่องทางการเข้าถึง เพื่อป้องกันมิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางนำสินทรัพย์ไปฟอกเงิน

9.บูรณาการข้อมูล โดยใช้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มกลาง ในการรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

10.ประสานงานกับ สคบ.จัดทำประกาศ ให้ธุรกิจขนส่งสินค้า ที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่เป็นรายการควบคุม ในกรณีสินค้าไม่ตรงปก ให้มีการชะลอการโอนเงินให้ผู้ขาย โดยคาดว่าเดือน พ.ค.นี้จะประกาศมาตรการใช้ได้

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการในระยะต่อไป ได้เพิ่มอีก 7 มาตรการดังนี้ 1.ดำเนินการต่อในการ ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทั้งนอกและในประเทศ 2.ดำเนินการต่อปราบปรามป้องกันบัญชีม้าซิมม้า 3.แก้ไขปัญหาหลอกลวงซื้อสินค้าออนไลน์ 4.เยียวยาผู้เสียหาย โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5.เพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์โซเชียลมีเดีย ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการทางด้านการเงิน กรณีที่แพลตฟอร์มเหล่านั้นถูกมิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางหลอกลวงประชาชน หากพบว่าไม่มีความพยายามป้องกันให้เพียงพอ จะต้องร่วมรับผิดชอบค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น 6.รณรงค์การประชาสัมพันธ์และสร้างภูมิคุ้มกันอาชญากรรมออนไลน์แบบเจาะจง 7.เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเด็นที่สำคัญ เช่น การเร่งคืนเงินผู้เสียหาย และเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำข้อมูลรั่วไหล เรื่องการป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล

นายประเสริฐกล่าวว่า ในภาพรวมการติดตามการจับกุมคนร้าย การกวาดล้างบัญชีม้า ซิมม้า ปิดกั้นเว็บผิดกฎหมาย มีสถิติที่ดีขึ้น เป็นตัวเลขที่สูงขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่า แต่อย่างไรก็ตาม นายกฯ ขอให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนผู้เสียหายอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน สิ่งที่เรากังวลอยู่บ้างในเดือนเมษายนมีเฉลี่ย 992 คดีต่อวัน สูงขึ้นกว่าเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังกังวลอยู่ ซึ่งเราต้องการให้ตัวเลขนี้ลดลง มูลค่าค่าความเสียหายประมาณ 110 ล้านบาทต่อวันซึ่งลดลงจากเดือนมีนาคม แต่ยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะเราต้องทำให้ดีกว่านี้

ด้านนายวิศิษฏ์กล่าวว่าจะขออนุญาตขยายความในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วกันในประเทศอาเซียน และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยประเทศไทยเป็นประธานคณะทำงาน ในการพูดคุยกันได้มีการกำหนดแผนงานที่ทำให้สามารถทราบถึงกลไกการหลอกลวงและวิธีการป้องกันปัญหาต่างๆ ซึ่งจะทำให้การจัดการในภูมิภาคนี้มีสภาพที่ดีขึ้น ซึ่งมีการประชุมออนไลน์กันทุกเดือน

ประเด็นที่สองคือ ศูนย์ AOC ในการรับข้อมูลจากประชาชน สามารถอายัดในเวลาไม่นานหลังการได้รับแจ้ง แต่สิ่งที่เราได้ทำการยกระดับคือเราทำศูนย์ AOC เป็นศูนย์ข้อมูลกลาง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากทาง NECTEC และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ที่จะนำระบบเอไอเข้ามาช่วยตรวจสอบว่า ปัญหาและสาเหตุมาจากตรงไหน ธนาคารไหนบ้างมีการปล่อยให้มีบัญชีม้าเยอะ เป็นการยึดโยงกับหน้าที่ความรับผิดชอบของโซเชียลมีเดีย ธนาคาร ผู้ประกอบการ

เพราะหากเราสามารถชี้ให้เห็นว่าเขาใช้ความระมัดระวังตามวิสัหรือพฤติการแล้ว จะเป็นการปลดเปลื้องภาระความรับผิด ขณะนี้ได้จัดตั้งทีมงานเชิงกฎหมายที่จะเชื่อมโยงข้อมูลการหลอกลวงในโซเชียลมีเดีย ข้อมูลการเปิดบัญชีม้า ข้อมูลการโอนเงิน เราก็จะชี้ให้เห็นได้ว่าความเสียหายเกิดจากคนไหนได้บ้าง

นายวิศิษฏ์กล่าวอีกว่า ประเด็นสุดท้าย คณะอนุฯกฎหมายที่ตั้งขึ้นมาเน้นหนักประเด็นการคืนเงิน เนื่องจากกฎหมาย ปปง.ปัจจุบันอาจมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นหลักการ ให้ผู้ที่ทราบว่าเงินที่ตนเสียหาย ถูกยึดมาได้แล้วให้มาแสดงตน ซึ่งทำได้บากเนื่องจากหากเรายึดเงินจากบัญชีออนไลน์มาเป็นกลุ่มก้อน จะไม่สามารถแยกได้ว่าเงินของผู้เสียหายอยู่ในบัญชีใด จึงได้มีการพูดคุยกันว่าเราจะสร้างระบบที่ชี้ได้ว่าใครเป็นผู้เสียหายจากเม็ดเงินใด ซึ่งจะลดระยะเวลาในการคืนเงินได้ สุดท้ายคือการระงับการโอนเงิน P2P ผ่านระบบคริปโทซึ่งปัจจุบันได้มีการกำหนดแนวทางชัดเจนว่าจะแก้กฎหมายในเรื่องนี้เป็นประการใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image