ปริญญา บี้ถาม เสรี กลางเสวนา ถ้าส.ว.ชุดนี้ อยู่รักษาการ จะไปยื่นศาล ให้มีสิทธิโหวตนายกฯต่อไหม?

สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนา เลือกสว.ใหม่ ใครได้ใครเสีย ”ปริญญา“ ชี้กติกาเป็นปัญหา ส่อบานปลาย ถึงประกาศผลไม่ได้ แนะ กกต.ปรับแก้ ด้าน “เสรี” มองโอกาสฮั้วเกิดได้ แต่ไม่ทั้งหมด แนะทางออก ให้ กกต.รับรองไปก่อน

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ที่อาคารบางชื่อจังชั่น (ตึกแดง) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา เรื่อง เลือก ส.ว.กติกาใหม่ ใครได้ใครเสีย โดยมีนักวิทยากรเข้าร่วม ได้แก่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนกลุ่มไอลอว์ และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า การเลือก ส.ว.ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศว่าจะประกาศผลเลือกได้ในวันที่ 2 กรกฎาคม ต้องจับตาว่าจะประกาศได้จริงหรือไม่ เพราะขั้นตอนการเลือกมีความซับซ้อน อีกทั้งระเบียบของ กกต.​ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก ส.ว.นั้นถือว่าเป็นปัญหา และมีรายละเอียดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าเหตุ และอาจทำให้การเลือกนั้นไม่โปร่งใส

อย่างไรก็ดี ตนมองว่าการออกระเบียบ กกต.ตามที่เป็นอำนาจตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2561 แต่ระเบียบที่ กกต.ประกาศใช้มีเนื้อหาที่เข้าข่ายขัด หรือแย้งกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.และรัฐธรรมนูญ

Advertisement

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ตนมองว่าระเบียบของ กกต.มีปัญหา เช่น ให้ผู้สมัครแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิสก์ด้วยตนเองเท่านั้น หมายถึงแนะนำตัวด้วยวิธีอื่นไม่ได้ พร้อมกับกำหนดบทลงโทษหากฝ่าฝืน เช่น โทษจำ โทษปรับ เพิกถอนสิทธิ ซึ่งตนมองว่า กกต.​ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติที่สามารถออกกฎเอง ทั้งนี้ สามารถทำได้ตามกรอบของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ไม่ใช่ให้อำนาจ กกต.ทำเกินกว่าที่กฎหมายลูกและรัฐธรรมนูญกำหนด

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ขอให้ กกต.ดำเนินการ คือแก้ไขระเบียบ กกต.ที่จำกัดสิทธิผู้สมัครเกินเหตุควรแก้ไข และมีวิธีให้ผู้สมัครรู้จักกันข้ามอำเภอ รวมถึงกำหนดรายละเอียดให้การเลือกโปร่งใส ผ่านการเปิดโอกาสให้ประชาชนสื่อมวลชนสังเกตการณ์และตรวจสอบ โดยใช้อำนาจผู้อำนวยการเลือกทุกระดับ คือเปิดเผยการบันทึกภาพ และเสียงการเลือกทุกกลุ่ม ทุกระดับ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบจะทำให้เกิดความโปร่งใส รวมถึงอนุญาตผู้สังเกตการณ์ สื่อมวลชน เข้าสังเกตการณ์ในการเลือก ทั้งนี้ กกต.ยังไม่ได้แสดงความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ ฐานะเจ้าหน้าที่คงไม่กล้า ดังนั้น กกต.ควรดำเนินการ หารือกับสมาคมนักข่าวเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนว่าผู้ใดเป็นสื่อและสามารถบันทึกภาพเสียง นำกล้องเข้าไปในพื้นที่ได้

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า สิ่งที่ กกต.ควรทำคือ การกำกับการทำผิดกฎหมาย เช่น การจูงใจให้สมัครด้วยทรัพย์สิน หรือสัญญาว่าจะให้ ส่วนกรณีการชักชวนให้ประชาชนสมัคร ส.ว.มากๆ โดยไม่มีการจูงใจ โดยทรัพย์สิน ไม่เป็นความผิดตามมาตราใด รวมถึงการมีเว็บไซต์หรือกิจกรรมทำได้ และถือเป็นเรื่องดีมีผู้สมัครจำนวนมาก การตัดสินใจโดยอิสระเป็นสิทธิของประชาชน

Advertisement

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวด้วยว่า สำหรับกติกาการเลือก ส.ว.ที่กำหนดให้มีผู้ร้องคัดค้านได้ ตนเชื่อว่าจะมีผู้สมัคร ส.ว.หลักแสนคน การคัดค้านจะมีจำนวนมาก ดังนั้น วันที่ 2 กรกฎาคม ที่ กกต.ระบุว่าจะประกาศผลการเลือกตั้ง จะทำได้หรือไม่ ดังนั้น หลักการที่แก้ไขประเด็นที่จะเป็นปัญหาคือ หลักการความโปร่งใส ให้สาธารณชนและสื่อมวลชนตรวจสอบการเลือกได้

“ผมเชื่อว่าการประกาศผลเลือกตั้ง 2 กรกฎาคมทำไม่ได้เพราะมีปัญหามาก และมีคนร้องคัดค้านจำนวนมาก จากกติกาที่กำหนดไว้ให้ร้องคัดค้านทุกระดับ เมื่อมีการคาดการณ์ถึงปัญหา กกต.รีบแก้กติกาก่อนมีพระราาชกฤษฎีกาเลือก ส.ว. ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว.ปัจจุบันทำหน้าที่ไปจนกว่ามี ส.ว.ชุดใหม่ ดังนั้น เมื่อมีปัญหาจะไม่มีกรอบเวลา เมื่อไม่มี ส.ว.ใหม่ ส.ว.ปัจจุบันจะอยู่ได้นานเท่านาน” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ด้านนายรัชพงษ์กล่าวถึงความห่วงใยในการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ว่า ระเบียบการแนะนําตัว ส.ว.ที่ออกมาเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้เกิดการฮั้วกันอย่างมาก การที่ระเบียบกําหนดให้แนะนําตัวได้แค่กับผู้สมัครด้วยกัน หมายความว่าระหว่างนี้ที่ยังไม่มีผู้สมัครใครจะทําอะไรก็ได้ใช่หรือไม่ ตรงนี้คือสิ่งที่ยังคลุมเครือ นอกจากนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าในแต่ละอําเภอใครจะสมัครในกลุ่มอาชีพใดบ้าง หากไม่ได้จัดตั้งกันมา หรือรู้จักกันอยู่แล้ว คนธรรมดาที่มีความสามารถจะเข้าสู่ระบบไปได้อย่างไร

“หากระเบียบมีความคลุมเครือและรุนแรงก็จะยิ่งทําให้ประชาชนรู้สึกไม่อยากมีส่วนร่วมมากขึ้น” นายรัชพงษ์กล่าว

นายรัชพงษ์กล่าวว่า จากที่กลุ่มไอลอว์ได้จําลองระบบการเลือก ส.ว. สิ่งที่ค้นพบคือ เนื้อในของระบบนี้ทําให้การจะได้รับเลือกเป็น ส.ว.ต้องเป็นคนดัง หรือเป็นผู้มีอิทธิพลจึงจะสามารถพาคนไปโหวตได้ ไม่เช่นนั้นก็ต้องเป็นคนดวงดี ดังนั้น กลุ่มไอลอว์จึงพยายามทําเว็บไซต์ senate 67 ที่ให้ผู้สมัครสามารถประกาศตัวได้ เพื่อนําประวัติและผลงานเข้าสู้กัน แก้ไขปัญหาการจัดตั้งกันมาฮั้ว

นายรัชพงษ์กล่าวอีกว่า กกต.มีเวลา 5 ปีในการคิดระเบียบนี้ แต่ กกต.พึ่งออกระเบียบฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีปัญหาและความคลุมเครือมากมาย อีกทั้งยังเกินหลักการของ พ.ร.ป. จึงอยากทราบว่าที่ผ่านมา กกต.มีการศึกษาอะไรบ้าง

ด้านนายเสรีกล่าวว่า ตนมองว่าการออกระเบียบของ กกต.นั้น กกต.ทราบว่ามีปัญหา เพราะต้องการคุมให้การแนะนำตัวให้ทำได้อย่างเท่าเทีม จึงนำรายละเอียดใส่ในระเบียบแบบหยุมหยิม อย่างไรก็ดี การออกระเบียบ กกต.นั้นตนมองว่ามีความไม่แน่ใจในระเบียบตัวเอง จึงเปิดช่องให้คลายระเบียบตัวเองตามที่ระบุไว้ในระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก ส.ว.พ.ศ.2567 ข้อ 5 ที่กำหนดให้ประธาน กกต.รักษาการตามระเบียบ แต่วรรคสองกำหนดว่า กรณีใดที่ไม่ได้กำหนดไว้หรือมีเหตุจำเป็น กกต.อาจยกเว้น หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามระเบียบได้ อย่างไรก็ดี ตนมองว่าการประกาศผล กกต.อาจใช้วิธีเดียวกับ ส.ส.คือ รับรองไปก่อน หากกระบวนการไม่สุจริต เที่ยงธรรม ทำผิดกฎหมายชัดเจน กกต.ต้องรับผิดชอบ

นายเสรีกล่าวถึงคำถามการฮั้วว่า ประเมินมีโอกาสเป็นไปได้แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การฮั้วกันอาจเกิดจากฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม ผู้สมัครบางกลุ่มที่รู้เห็นเป็นใจรวมตัวกันและให้คะแนนกันในกลุ่ม แต่เชื่อว่าจะไม่ใช่ทั้งหมด อย่างไรก็ดี ตนมองว่าการเลือก ส.ว.ต้องคำนึงความเป็นจริงของการเมือง การเข้าสู่กระบวนการการเป็นตัวแทนของประชาชนในระบบที่กำหนดไว้ แต่การพูดว่าการเลือกที่จำกัด การเลือกไขว้ จะทำให้หาคะแนนได้อย่างไร ทั้งนี้ คนที่รับเลือกทำหน้าที่มองว่า มีชื่อเสียงได้เปรียบ ต้องดูว่ามีชื่อเสียงแบบใด หากชื่อเสียงทางร้าย เป็นผู้มีอิทธิพล เชื่อว่าไม่มีใครเลือก

“กรณีที่มีคนระดมช่วยเหลือพรรคพวก ตั้งใจมาเลือกคนอื่น เชื่อว่าจะมีแต่มีไม่มาก และเชื่อว่าผลคะแนนจะเท่ากันเยอะ หากเท่ากันกฎหมายกำหนดให้จับสลาก อาจมองได้ว่า ส.ว.ชุดจับสลาก ที่จริงควรเขียนกฎหมายไว้แค่สมัครเพื่อมาจับสลากก็พอ ดังนั้น ระบบถูกสร้างไว้แล้ว คงไม่มีอะไร 100% แต่จะได้เท่าที่ได้ อย่าทำกติกาที่ตึงเกินไป แต่ควรทำกติกาที่ยุติธรรมและเป็นธรรม” นายเสรีกล่าว

นายเสรีกล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดกลุ่มเพื่อหวังผลต่อการเลือก ส.ว.นั้น อาจเป็นเหตุให้การเลือกไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมได้ อีกทั้งตนมองว่าวิธีดังกล่าวถือเป็นการเอาเปรียบบุคคล ซึ่งปัญหาที่ยกมาอาจกลายเป็นเงื่อนไขทำให้ว่าการเลือก ส.ว.ไม่สุจริตเที่ยงธรรม และทำให้ ส.ว.รุ่นตนอยู่ยาว ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะพวกตนอยู่นานแล้ว ต้องการ ส.ว.รุ่นใหม่เข้ามาทำงานให้บ้านเมือง พวกตนอยู่สมควรแก่เหตุแล้ว ไม่อยากอยู่นานเกินเหตุ ต้องการคนใหม่เข้ามาเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนท้ายของเวที นายปริญญาตั้งคำถามกับนายเสรีด้วยว่า กรณีระหว่างที่ ส.ว.ชุดเก่ารักษาการจะมีผู้ยื่นตีความอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตนายกฯหรือไม่ รวมถึงอำนาจตามกฎหมายของ ส.ว.ที่มีอยู่ โดยนายเสรีกล่าวว่า การยื่นตีความนั้นมีแต่การพูด ไม่เห็นตัวเห็นตน อย่างไรก็ดี ตนมองว่าเมื่ออำนาจหน้าที่หมด คือหมดไป อย่าแสวงหา ส่วนกรณีที่คาดว่าหาก ส.ว.ใหม่ยังทำหน้าที่ไม่ได้ ส.ว.ชุดปัจจุบันต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น การเลือกกรรมการองค์กรอิสระ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image