อ.รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ ส.ว.ชุดใหม่เดิมพันสูง ฉะ กระบวนการ ‘ทำให้งงอย่างจงใจ’ ปวดหัว 20 กลุ่มอาชีพ หาเหตุผลรองรับไม่ได้
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม 211 (ห้องศาลจำลอง) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดงานเสวนารำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535 ในหัวข้อ ‘การเลือก ส.ว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับอนาคตประชาธิปไตยไทย’
ในตอนหนึ่ง ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเติบโตมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีความทรงจำร่วมกับรัฐธรรมนูญ เพราะสมัยที่ยังเรียนหนังสือ ครูบอกว่านี่เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดแล้ว คนรุ่นตนถูกหล่อหลอมมาอย่างนั้น แต่วันดีคืนดี 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็ยึดอำนาจ
ดร.ปุรวิชญ์กล่าวว่า สำหรับเรื่อง ส.ว. ซึ่งเป็นโจทย์ของวันนี้ เมื่อครั้งตนทำวิทยานิพนธ์ การเมืองกับการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันของวุฒิสภาในประเทศไทย ซึ่งเขียนตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน โดยจบในตอนที่ ส.ว.เลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ
“ในแง่มุมทางวิชาการว่า ส.ว.มีไว้ทำไม ผมเขียนในวิทยานิพนธ์ มีแค่สองเรื่อง ส.ว.ทำหน้าที่เป็นตัวแทน ก็ว่ากันต่อว่าเป็นตัวแทนของใคร ตัวแทนของกลุ่มสังคม ตัวแทนเขตพื้นที่ ก็ชัดเจนอย่างสหรัฐอเมริกา
เรื่องของ ส.ว.มีไว้ทำไม คือมีไว้ในแง่ของประสิทธิภาพ เรื่อง Checks and balances ในกรณีของไทย การมีอยู่ของสภาที่สองในประเทศไทย คือ ผู้พิทักษ์สถานภาพเดิม กล่าวคือ การมีอยู่ของ ส.ว.ก็เพื่อรักษาอำนาจของผู้ถืออำนาจ” ดร.ปุรวิชญ์กล่าว
จากนั้น ดร.ปุรวิชญ์กล่าวถึงประเด็น ส.ว. 20 กลุ่มอาชีพ ว่าหาคำตอบและเหตุผลรองรับไม่ได้
“เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนที่เขากำลังยกร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. 20 กลุ่มอาชีพที่มาปวดหัวกันวันนี้ ผมยืนยันเลยว่า 20 กลุ่มอาชีพเมื่อ 7 ปีที่แล้วที่ผมไปนั่งฟัง หน้าตาไม่เหมือนกับวันนี้ แต่ใจความสำคัญยังเป็น 20 กลุ่มอาชีพอยู่ ซึ่งก็หาคำตอบไม่ได้ หาเหตุผลรองรับไม่ได้ว่าการแบ่งกลุ่ม 20 อาชีพ แบ่งด้วยเกณฑ์อะไร คือมันไม่มีเหตุผลรองรับอะไรเลย ในชั้นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญก็เถียงกัน แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่า เขาบอกว่า ก็เพื่อให้มันครอบคลุมทุกกลุ่มทางสังคม จะได้มีตัวแทน
มีกรรมการท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าคนจะมาสมัคร ส.ว. ต้องทำ Aptitude Test ต้องดูมีความรู้ ร่างแรกๆ ของการมี ส.ว. ก่อนที่จะกลายเป็น พ.ร.บ.มันวางอยู่พื้นฐานไม่ไว้วางใจประชาชนตั้งแต่แรกแล้ว กระบวนการมันจึงซับซ้อน” ดร.ปุรวิชญ์กล่าว
ดร.ปุรวิชญ์กล่าวว่า การเลือก ส.ว.ตามกลุ่มอาชีพ ถือเป็นครั้งแรกในโลก โดยที่ใกล้เคียงที่สุดคือ ไอร์แลนด์ ซึ่งมี ส.ว.มาจาก 3 ทาง ได้แก่ 1.นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง 2.จากมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุด 2 แห่ง 3.เลือกตามกลุ่มอาชีพ ซึ่งน่าจะคล้ายกับไทย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าใครจะสมัครก็ได้ แต่จะมีอนุกรรมการ 2 กลุ่มซึ่งเป็นช่องทางที่จะเข้าไปได้
“ช่องที่หนึ่ง คือให้มีองค์วิชาชีพที่จดทะเบียนถูกกฎหมาย ในการเสนอชื่อผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ว. หรืออีกทางหนึ่ง คือให้สมาชิกสภา ไม่ว่าจะ ส.ส.หรือ ส.ว.ที่อยู่ในไอร์แลนด์ สามารถเสนอชื่อเข้ามาในกระบวนการคัดเลือกได้” ดร.ปุรวิชญ์อธิบาย
ดร.ปุรวิชญ์กล่าวว่า กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.ของไทย คือการทำให้งงอย่างจงใจ คนก็ไม่อยากยุ่ง ต้องจ่ายเงิน 2,500 บาท คนสมัครต้องเด่นดีดัง มีเพื่อนเยอะ เมื่อเห็นกระบวนการก็เหนื่อยแล้ว คนก็ไม่เข้าร่วม พอคนไม่เข้าร่วม จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดสภาวะเชื่อมจิตอย่างที่อาจารย์วันวิชิต (ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง) กล่าวมา พอทางสะดวก คนไม่อยากยุ่ง ก็จัดล็อกง่าย
เมื่อถามว่า เหตุใด ส.ว.ชุดใหม่จึงสำคัญ ดร.ปุรวิชญ์กล่าวว่า เพราะจะเป็นผู้ตัดสิน กำหนดทิศทางแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไปในอนาคต
“เมื่อช่วงปี 2563-2565 มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด 26 ครั้ง โดยมี 14 ครั้งที่ผ่านเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา แต่ไปตกม้าตายตรง 1 ใน 3 ของ ส.ว.ไม่เห็นชอบ แล้วมีสองญัตติ ซึ่งผ่านวาระหนึ่งและสอง แต่ไปตกในวาระที่สาม นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำไมการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ถึงมีเดิมพันค่อนข้างสูง และประชาชนควรเข้าไปอยู่ในสมการครั้งนี้” ดร.ปุรวิชญ์กล่าว
ดร.ปุรวิชญ์กล่าวว่า มีคนถามว่า ตนทำวิทยานิพนธ์ ส.ว.แล้วมองว่าควรจะมี ส.ว.ต่อไปหรือไม่ ส่วนตัวไม่ขัดข้องกับการมีสองสภา แต่อำนาจต้องไม่เยอะ อย่างไรก็ตาม ถ้าวันหนึ่งเห็นว่ามีไปก็ไม่มีประโยชน์ ตนไม่ขัดข้องหากจะยกเลิก ส.ว. เพราะในประวัติศาสตร์โลก เคยมีประเทศที่ยกเลิกสภาสูง เช่น สวิตเซอร์แลนด์
“สุดท้ายท้ายสุด อยากจะฝากว่า รัฐธรรมนูญที่ดี มันควรจะเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน มันไม่ควรจะเป็นเรื่องของนักเทคนิคคนใดคนหนึ่ง ยิ่งทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก ต้องคอยมีนักเทคนิคมาอธิบาย ผมคิดว่าไม่น่าใช่เรื่องที่ดี มันควรจะชัดเจน ตรงไปตรงมา เข้าใจง่ายมากที่สุด” ดร.ปุรวิชญ์ทิ้งท้าย
- อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : วันวิชิต เปิดนิยามใหม่ ‘ส.ว.’ ภาวะเชื่อมจิตครั้งสุดท้ายรัฐประหาร 57 แนะอย่าตั้งกฎเหมือนรับสมัครงาน ไม่ตอบโจทย์ประเทศ
- โอฬาร เลคเชอร์ จากพฤษภา 35 ถึง รธน.60 วนลูปวงจรเดิม ชี้สมัคร ส.ว.ต้องควัก 2,500 สร้างข้อจำกัด กีดกันปชช.
- ปริญญา สงสัย ‘ต้องเชื่อมจิตได้’ ซัดระเบียบชิง ส.ว. แนะนำตัวแค่ 2 หน้า ความโปร่งใสก็ยังไม่เคลียร์
- ‘พิชาย’ ชวนจับตา 2 ก.ค. ได้ ส.ว.ชุดใหม่ครบ 200 ตาม กกต. หวังหรือไม่? คาใจไม่ยึดโยงปชช.