เพื่อไทย ชี้ 10 ปีคสช. ทำพรากโอกาสมหาศาล ลุยรื้อ 2 ผลพวงใหญ่ ตัดทิ้งวงจรรปห.  

เพื่อไทย ชี้ 10 ปี 22 พฤษภา ทำพรากโอกาสมหาศาล ลุยรื้อ 2 ผลพวงใหญ่ ตัดทิ้งวงจรรปห.  

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เพจ พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ถึงวันครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมระบุ วงจรรัฐประหารต้องไม่เกิดขึ้นอีก โดยมีเนื้อหาดังนี้

22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยหยุดชะงักยาวนานไปถึง 5 ปี แม้มีการเลือกตั้งในปี 2562 แต่ประเทศยังปกครองด้วยผู้นำคนเดิมกับกติกาการเมืองที่คณะรัฐประหารเขียนขึ้น

เป็นเวลากว่า 3,379 วัน หรือ 9 ปี 3 เดือนที่ประเทศตกอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารและรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คนไทยถูกพรากโอกาสมหาศาลที่ประเมินมูลค่าไม่ได้

Advertisement

22 พฤษภาคม 2567 ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแล้วร่วม 9 เดือน เร่งเดินหน้าประเทศทุกมิติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานของรัฐบาล ยังอยู่ใต้ ‘กติกา’ และ ‘ผลพวง’ ที่คณะรัฐประหารได้ก่อร่างสร้างไว้

วันนี้พรรคเพื่อไทยเดินหน้า

เดินหน้าทำงาน …
แก้รัฐธรรมนูญ รื้อผลพวงรัฐประหาร
แก้กฎหมายกลาโหม ป้องกันรัฐประหาร-ฉีกรัฐธรรมนูญ

Advertisement

ประเทศไทยต้องไม่มีการรัฐประหารอีก นับจากนี้คือการเดินหน้าประเทศ และเพื่อไม่วนกลับไปสู่จุดเดิม
พรรคเพื่อไทยขอถอดบทเรียนครั้งใหญ่ เกือบทศวรรษที่เสียไปจากการรัฐประหาร คนไทยสูญเสียอะไรไปบ้าง

[โอกาสด้านการเมืองการปกครอง]

การเข้ามาของอำนาจรัฐประหาร ทำให้ประเทศถูกปกครองด้วยระบอบคณาธิปไตย สูญเสียเสถียรภาพทางการเมือง สถาบันพรรคการเมืองถูกปิดกั้นและหยุดพัฒนาไปพร้อมกับความเป็นประชาธิปไตย โดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารยังซ้ำเติมสภาพสังคมที่แตกแยกอยู่ก่อน ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่เข้มข้นขึ้น และที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหารได้สร้างหลุมดำทางการเมือง ที่ฉุดรั้งการพัฒนาประชาธิปไตย และส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน ประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และถูกเรียกเข้าค่ายทหารเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’

[โอกาสด้านเศรษฐกิจ]

การทำรัฐประหารสะเทือนถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จากการเมืองที่ถดถอย และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ยาก ที่เห็นได้ชัดคือ การใช้อำนาจ ม.44 แทรกแซงการประมงที่ผิดกฎหมาย และขาดการควบคุม เพื่อสนอง IUU Fishing ของสหภาพยุโรป โดยขาดการไตร่ตรอง ส่งผลต่อชาวประมงและธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั่วประเทศ เป็นมูลค่าความเสียหายที่ประเมินไม่ได้ และได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมทั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างประเทศในทุกอุตสาหกรรมที่น้อยลงไปตามกัน ตั้งแต่ระดับบริหารถึงระดับปฏิบัติการที่ไม่ได้รับการขึ้นค่าแรงให้สอดคล้องกับค่าครองชีพตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

[โอกาสระหว่างประเทศ]

การเข้ามาของคณะรัฐประหารทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับการยอมรับในฐานะประเทศประชาธิปไตย
จนสูญเสียที่ยืนในเวทีโลก สูญเสียสมดุลกับมหาอำนาจ เสียความน่าเชื่อถือ และโอกาสการมีส่วนร่วมเจรจานานาชาติในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ทั้งยังถูกตั้งคำถามต่อความเป็นประชาธิปไตยในระดับภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย ส่งผลทั้งความสัมพันธ์ระดับประเทศและเอกชน นับเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและทางการเมืองที่ประเมินไม่ได้อีกเช่นกัน

[โอกาสด้านกระบวนการยุติธรรม]

แน่นอนว่าการทำรัฐประหารกระทบต่อความมั่นคงโดยตรง แต่คณะรัฐประหารที่ใช้เวลาอยู่ในอำนาจเกือบ 10 ปี ใช้เวลาแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร สร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และยังมีการบัญญัติบทเฉพาะกาลเพื่อตัดตอนขบวนการตรวจสอบเพื่อความยุติธรรม อย่าง ม.44 และ ม.47 ที่ให้อำนาจเหลือล้นทางนิติบัญญัติกับคณะรัฐประหาร

[การใช้อำนาจ ม. 44]

‘ม.44’ หรือ มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ให้อำนาจ คสช. กระทำการใดๆ ก็ได้ที่มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นกฎหมายที่ทราบกันดีว่า ถูกบัญญัติขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร เพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จ โดยในระยะเวลา 5 ปี (2557 -2561) คสช. ออกคำสั่ง ม. 44 ถึง 189 ฉบับด้วยกัน ซึ่งคำสั่งเหล่านั้นล้วนกระทบต่อชีวิตประชาชน ทั้งในเชิงสังคม และเศรษฐกิจ เช่น

– การใช้ ม. 44 เพื่อยุติการประมงทั่วประเทศ เพื่อสนอง IUU Fishing จากสหภาพยุโรป ส่งผลต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นในทุกจังหวัดที่ติดชายทะเล

– การใช้ ม. 44 เพื่อโยกย้ายข้าราชการทันที ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ

– การใช้ ม. 44 เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมเกิน 5 คน และมีประชาชนถูกดำเนินคดีมากกว่า 300 คน

– การใช้ ม. 44 เพื่อละเว้นโทษคณะทำงานคดีจำนำข้าวที่จัดการโครงการรับจำนำข้าวผิดพลาด การพยายามทำข้าวดีให้เป็นข้าวเน่าเสีย

ทั้งนี้ประเทศไทยไม่สามารถเสียโอกาส เสียเวลา ไปกับการทำรัฐประหารได้อีกแล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย จึงจำเป็นต้องเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อคืนระบอบประชาธิปไตยเต็มใบให้กับประชาชน ผ่านการลงประชามติ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของประชาชนมากที่สุด พรรคเพื่อไทยจะผลักดันผ่านยุทธศาสตร์ ที่เรียกว่า “เดินสองขา ฝ่าด่านยกร่างรัฐธรรมนูญ” โดยความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ รวมไปถึงการร่างพ.ร.บ. กลาโหม ที่จะยับยั้งการใช้อำนาจทหารในการปฏิวัติรัฐประหาร ป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้อนาคตของประเทศไทยต้องถูกแช่แข็งอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image