ประจักษ์ซูม ‘4 ความรุนแรง’ ย้ำรัฐมอนิเตอร์โลก ทำฐานข้อมูลความรุนแรง ชี้ ไทยยังมีชนวน มองอนาคต น้ำ-ที่ดินจะแย่งชิงหนัก
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่ห้อง ร.103 ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย (คณะรัฐศาสตร์) จัดเสวนาทางวิชาการ “Direk Talk : Looking Forward มองโลก มองไทย มองไปข้างหน้า” โดยช่วงเช้ามีการกล่าวปาฐกถาดิเรก ชัยนาม ประจำปี 2567 เรื่อง “Contending Citizens: Alternative meanings of popular participation in Thailand” โดย ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก ประธานฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง สาธารณรัฐสิงคโปร์
บรรยากาศเวลา 15.00 น. เข้าสู่การนำเสนอผลงานวิจัยช่วงที่ 3 สาขาวิชาการเมืองการปกครอง เรื่อง สำรวจสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมโลกและสังคมไทย โดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ชาลินี สนพลาย
ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวถึงกรณีศึกษาในบางพื้นที่ อาทิ สงครามในตะวันออกกลาง ที่พุ่งขึ้นสูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งรัฐอิสราเอล มีผู้เสียชีวิตสูงถึงกว่า 23,000 รายแล้ว ที่น่าตกใจคือ พลเรือนเสียชีวิตมากกว่าทหาร โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง แม้จะมีความพยายามทางการทูต ในการหาข้อยุติสงครามฉนวนกาซา แต่ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะยุติในระยะอันใกล้ ซึ่งยังนำไปสู่การขยายตัว ประท้วงในหลายประเทศ อาชญากรรมที่เกิดจากการเกลียดชังคนต่างชาติ-ศาสนา และมีโอกาสขยายตัวไปสู่ระดับภูมิภาคอีกด้วย
นอกจากนี้ ความขัดแย้งในปาเลสไตน์ ยังเกี่ยวพันกับความขัดแย้งในสหรัฐ ทั้งการเลือกตั้งที่จะมาถึง และการปักหลักประท้วงของเยาวชนนักศึกษาในประเด็นนี้
รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวอีกว่า ‘เรื่องสงครามกลางเมือง’ ยังคงมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพราะยังเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ที่ชัดเจนคือ ซีเรีย เมียนมา และซูดาน ซึ่งชนวนเหตุให้มีการยกระดับเป็นสงครามกลางเมือง คือการรัฐประหารยึดอำนาจในเมียนมา เมื่อใช้วิธีการปราบอย่างรุนแรง เป็นการปิดหนทางการต่อสู้อย่างสันติ รัฐเป็นตัวบีบให้ประชาชนในเมียนมา ที่อยากเห็นประชาธิปไตย ต้องหันไปจับอาวุธสู้ เพื่ออิสรภาพของชนกลุ่มน้อย
ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวถึง ‘ความรุนแรงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง’ ซึ่งสังคมไทยคุ้นเคยมาโดยตลอด แม้เราจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในระยะหลัง แต่หลายประเทศยังมีแนวโน้มน่าเป็นห่วง
“แทนที่จะเป็นกลไกแก้ไขความขัดแย้ง กลับกลายเป็นกลไกขยายความขัดแย้ง กระทั่งนำไปสู่ความรุนแรงเสียเอง เพราะการเมืองมีลักษณะแบ่งแยกแตกขั้วสูง ถูกทำให้เป็นเรื่องสงคราม ต้องเอาชนะกัน และกติกาพื้นฐานประชาธิปไตย ถูกทำลายลง ทั้งตัวบรรทัดฐานสังคม (Norm) และกติกา ถูกทำลาย รวมถึงบทบาทของสื่อใหม่ที่เปิดโอกาสให้ความขัดแย้งขยาย นำไปสู่การเลือกตั้งที่ดุเดือด ใช้ทุกวิถีทางในการเอาชนะ เราจะเห็นในประเทศคองโก ซัมบับเว เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ รวมถึงสหรัฐ แต่อย่างน้อย สหรัฐยอมรับผล แพ้ชนะไปสู้กันในคูหา แล้วไปสู้ในเวทีอื่น
“แต่แนวโน้มที่น่ากลัว คือระยะหลัง เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ แพ้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด แล้วไม่ยอมรับผล กระทั่งมีการปลุกระดมผู้สนับสนุนของตัวเองไปขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้หลายคนกังวลว่า การเลือกตั้งสหรัฐปลายปีนี้ จะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรือไม่” รศ.ดร.ประจักษ์ชี้
จากนั้น รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวถึง ‘ความรุนแรงที่เกี่ยวกับการประท้วง’ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกเผชิญปัญหานี้เช่นกัน โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่ ‘ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐ กับกลุ่มมวลชน’ ว่าเลือกใช้วิธีการสันติ หรือรุนแรง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ ตัวอย่างที่ใช้การปราบปรามขบวนการเยาวชนอย่างรุนแรงเป็นหลัก อาทิ อิหร่าน ไนจีเรีย ฮ่องกง ตูนีเซีย เป็นต้น
จากนั้นกล่าวถึง ‘ความรุนแรงต่อนักข่าวและนักกิจกรรม’ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เฉพาะในปี 2021 มี 460 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักข่าว แต่ในปีถัดไป 2022 เพิ่มขึ้นถึง 12% ครอบคลุม 78 ประเทศ รวมถึงไทยด้วย ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง นักข่าวที่พยายามรายงานข้อเท็จจริงกลับตกเป็นเหยื่อความรุนแรง โดยประเทศที่ร้ายแรง เช่น เม็กซิโก บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน อินเดีย ไนจีเรีย ยูเครน โดย 59% ถูกทำร้ายร่างกาย, 22% ใช้ความรุนแรงโดยฝูงชน, 11% ถูกลักพาตัวหรือทำให้สูญหาย
“อย่างสังคมไทยมีหลายกรณี ในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงกรณีผู้ลี้ภัยต่างแดน อย่าง คุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกทำให้สูญหายในประเทศกัมพูชา ยังไม่ทราบชะตากรรมที่ชัดเจน เป็นผลกระทบที่ทำให้เกิดความกลัว” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว
รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวถึงความขัดแย้งรูปแบบใหม่ คือ ‘ความขัดแย้งละความรุนแรงที่เกิดจากปัญหาโลกรวน (Climate Crisis)’ ที่นำไปสูความขัดแย้งในหลายรูปแบบ เพราะนำไปสู้การแย่งชิงทรัพยากร เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างชุมชน สงครามระหว่างรัฐ สงครามการเมือง การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ไม่พอใจการไขปัญหาด้านนี้ ซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะยากที่จะแก้ และโลกไม่ได้มีฉันทามติร่วมกันในการแก้ไข
ทรัพยากรน้ำและที่ดิน จะแย่งชิงมากขึ้น รวมถึงเรื่องอาหาร การอพยพย้ายถิ่นฐาน หลายประเทศในยุโรป ชาวนาออกมาประท้วงรัฐบาล เนื่องจากมีการออกมาตรการควบคุมการทำเกษตร นอกจากนั้น ยังนำไปสู่ความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ด้วย
ในช่วงท้าย รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวถึง ‘ความรุนแรงทางการเมืองในไทย’ ว่า จากที่เราเห็นว่าความรุนแรงมีหลายประเภท กรณีของไทย มี 4 ประเภทหลักที่สังคมไทยเผชิญคือ
1.ความรุนแรงต่อนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง
2.ความรุนแรงที่เกี่ยวกับการชุมนุม
3.ความรุนแรงจากการสู้รบ ปะทะ และโจมตีด้วยอาวุธ (พื้นที่ชายแดนใต้)
4.ความรุนแรงจากความขัดแย้งด้านทรัพยากร (บางกลอย ฯลฯ)
รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า นักกิจกรรมบางคน ถูกกระทำความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เช่น นายเอกชัย หงส์กังวาน และเยาวชนนักเคลื่อนไหว เมื่อรัฐสูญเสียความนิยม นำไปสู่การชุมนุมวิพากษ์รัฐ หลายรัฐบาลเลือกใช้ความรุนแรงปิดปาก ท่ามกลางความชอบธรรมของตัวเอง ที่สูญเสียไปเรื่อยๆ
“ในกรณีของไทย ผมคิดว่าความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงจากการชุมนุมยังมีอยู่สูง เพราะการใช้เครื่องมือทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องมือทางกฎหมาย ที่นำไปสู่การเปลี่ยนดุลอำนาจ และทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน จะยังเป็นชนวนให้การชุมนุมในรอบถัดไปเหมือนปี 2563 ที่มีคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ บวกกับปัญหาโควิด เศรษฐกิจ และความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าเกิดขึ้นคราวนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้ว และการแบ่งขั้วจะยิ่งขยายตัวร้าวลึก มากขึ้น”
“ความรุนแรงจากการสู้รบ โจมตีด้วยอาวุธในแดนใต้ ก็ยังไม่ยุติ ส่วนความขัดแย้งด้านทรัพยากรระหว่างรัฐกับประชาชน มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในอนาคต” รศ.ดร.ประจักษ์ชี้
รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอเบื้องต้นว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทย ควรจะ ‘สร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งรุนแรง’ โดยเก็บข้อมูลต่อเนื่องเป็นระบบ ใช้แหล่งข้อมูลหลากหลาย และรายงานอย่างเรียลไทม์ เพื่อทำให้ประชาชน สื่อ รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ให้สาธารณะเข้าถึงโดยสะดวก และมีงานวิชาการรองรับ แม้ปัจจุบัน จะมีหน่วยงานความมั่นคงเก็บข้อมูลอยู่บ้าง แต่ก็เป็นข้อมูลที่กระจัดกระจายและไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ
“ในโลกที่มีความขัดแย้งรุนแรงสูงขึ้น จำเป็นที่สังคมไทยต้องมอนิเตอร์ ติดตามความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย ซึ่งยังเป็นปัญหาหลักในสังคมเราที่ยังต้องเผชิญหน้าต่อไป” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวทิ้งท้าย
- อ่านข่าว : ประจักษ์ ลั่น โลกโหด กติกาถูกเขย่า รัฐจ้าง ‘เอาต์ซอร์ซ’ ทำสงครามแทนทหาร
- อาจารย์ ม.ดัง สิงคโปร์ เสนอ 3 ไอเดีย ‘พลเมืองไทยรูปแบบใหม่’ ยกจุดแข็ง จี้จุดอ่อน ย้ำส่วนร่วมประชาชน
- ‘นักรัฐศาสตร์’ คอนเฟิร์มจุดยืนไทย ‘ทูตเซลล์แมน’ เวิร์กกว่าละตินอเมริกา เป็นมิตรไม่เลือกข้าง
- เปิดสถิติเจน Z ‘ลาออกไวสุดครึ่งวัน’ เจน Y ทนเจ็บปวดเก่ง แนะหา ‘เซฟโซนในออฟฟิศ’