กสทช. กางแผน ปี’63 ไทยขึ้นแท่นโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเบอร์1 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมประมูลเงินเข้ารัฐ 5 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ กทม.บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนาหัวข้อ “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0”  โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ส่องเศรษฐกิจ 4.0ปีไก่ทอง และมีการจัดเสวนา “ไทยแลนด์ 4.0 สตาร์ต (อัพ) แบบไหนพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย” ซึ่งมี นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค นายธีระพลถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มาร่วมงานเสวนาในครั้งนี้

โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวในการเสวนา “ไทยแลนด์ 4.0 สตาร์ต (อัพ) แบบไหนพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย”  ระบุว่า ในมุมของ กสทช. เห็นว่าแนวทางทีทำให้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล หรือไทยแลนด์ 4.0 ประสบความสำเร็จ หัวใจสำคัญคือในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เพราะการจะต่อยอดทางธุรกิจหรือเชื่อมโยงการสื่อสารไปยังทั่วทุกมุมของโลกได้ การมีการใช้งานคลื่นความถี่ระเภทไร้สายที่เพียงพอจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมประเทศไทยขณะนี้ได้มีการใช้งานในตลาดแล้วรวม 420 เมกะเฮิรตซ์ แต่ล่าสุดทาง กสทช. ได้รับเสียงวิจารณ์จากประชาชนแล้วว่าคลื่นความถี่ที่มีอยู่จำนวนดังกล่าวนั้นไม่เพียงพอต่อการใช้งาน สอดคล้องกับที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ไอทียู) ที่ออกมาระบุว่าคลื่นความถี่ที่เหมาะสมในการใช้งานของแต่ละประเทศในตลาดควรมีอยู่ที่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ฉะนั้นภารกิจของ กสทช. ต่อจากนี้ คือการเดินหน้าการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อเดินหน้าไทยแลนด์ 4.0

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช. ต่อจากนี้ คือการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 90 เมกะเฮิรตซ์ ที่ในขณะนี้อยู่ในการครอบครองของ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ซึ่งตามแผน กสทช. ได้รับโอนคลื่นความถี่คืนมายัง กสทช. ภายหลัง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ….ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ คาดจะเป็นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน2560 จากนั้น กสทช. จึงเข้าสู่กระบวนการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูล โดยคาดจะสามารถเปิดประมูลได้ราวเดือนธันวาคม 2560

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ทาง กสทช. ยังมีแผนดำเนินการจัดการประมูลคลื่นความถี่ ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ และ คลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่ง กสทช. เห็นว่าราคาตั้งต้นการประมูลจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ หรือ การประมูล 4จี เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในช่วงราวปี 2563 กสทช. ยังมีแผนดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์

Advertisement

“หาก กสทช. ดำเนินการได้ตามแผนที่ตั้งไว้ได้ทั้งหมด ในปี 2563 ประเทศไทยจะมีคลื่นความถี่ใช้งานในตลาดรวมทั้งประเทศจำนวน 800 เมกะเฮิรตซ์ และประเทศไทยจะขึ้นเป็นเบอร์1 ด้านโทรคมนาคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งจะสามารถนำเงินจากการประมูลคลื่นขั้นต่ำราว 500,000 ล้านบาท ส่งให้รัฐบาลนำไปพัฒนาประเทศได้” นายฐากร กล่าว

ฐากร.2

ฐากร.4

Advertisement

ฐากร.5

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image