กรณ์ชี้กรณีจับ Uber สะท้อนกฎหมายไทยล้าหลัง-ไม่สนองต่อประโยชน์สูงสุด ปชช.

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในเชิงระดับนโยบายเกี่ยวกับรถ Uber ระบุว่า

อยากให้ไทยเป็นผู้นำ ประสบการณ์หลายปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าถึงแม้มาตรฐานสากลมีความสำคัญ แต่ต่างประเทศก็ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเราเสมอไป เราคิดเองได้ และในหลายเรื่องเราสามารถเป็นผู้นำทางความคิดและนโยบายได้ เผื่อว่าในอนาคตชาวต่างชาติจะได้เอามาตรฐานของเราไปอ้างอิงบ้าง อย่างกรณี Uber ปัจจุบันเป็นปัญหาอยู่หลายประเทศ ทางยุโรปก็ทะเลาะกันมาเยอะ แม้แต่นิวยอร์กก็มีปัญหาระหว่างแท็กซี่กับ Uber ส่วนเมื่อไม่นานมานี้ไต้หวันมีการจับปรับ Uber เสียจนบริษัทถอนตัวจากการให้บริการ และล่าสุดศาลฮ่องกงก็พิพากษาเอาผิดผู้ขับรถ Uber ในฐานะการขับรถรับจ้างโดยไม่มีใบอนุญาต (เหมือนกับไทยเรา) ส่วนหนึ่งของปัญหาของ Uber คือแท็กซี่ทั่วโลกมีอิทธิพลทางการเมืองสูง (เสียงดัง) และอีกปัญหาคือ Uber เองมีวัฒนธรรมหยิ่งยโส ชวนทะเลาะกับผู้คน (ซึ่งผมก็เห็นใจเขาในระดับหนึ่ง เพราะหากไม่กล้าชนกับกลุ่มอิทธิพลและราชการในประเทศต่างๆ เขาไม่มีทางมาถึงวันนี้ได้) การกระทำของหลายประเทศในการปิดกั้น Uber เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายปัจจุบันของประเทศนั้นๆ แต่เป็นคนละประเด็นกับว่ากฎหมายเหล่านั้นมีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ และเป็นการรักษาประโยชน์ของประชาชนทั่วไปหรือไม่

ในกรณีของอังกฤษนั้นน่าสนใจ เพราะอังกฤษมีรถแท็กซี่ที่มีมาตรฐานสูงที่สุดในโลกก็ว่าได้ ใครจะขับรถแท็กซี่คันดำในตำนานของเขาได้ต้องผ่านการสอบความรู้ (เขาเรียกกันว่า ‘The Knowledge’) ซึ่งต้องใช้การฝึกอบรมยาวนานถึง 2 ปี รวมถึงการท่องจำเส้นทางอย่างละเอียดทุกเส้นทางในกรุงลอนดอน ตัวรถเองก็เป็นรถที่ออกแบบมาเฉพาะเพื่อการนี้ มีอุปกรณ์ดูแลคนพิการครบถ้วนทุกคัน และเป็นรถที่มีวงเลี้ยวแคบเป็นพิเศษเพื่อกลับรถกลางถนนแคบๆ ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการประหยัดเวลาให้กับผู้โดยสาร คนขับรถแท็กซี่ลอนดอนจะมีความภาคภูมิใจสูงในวิชาชีพเขา และไม่มีการปฏิเสธผู้โดยสารในทุกกรณี แต่ลอนดอนก็เต็มไปด้วยรถ Uber และเขาปล่อยให้ประชาชนเลือกได้ว่าอยากใช้บริการใคร ผมเองเวลาไปเยี่ยมลูกที่นั่นก็จะสลับใช้ทั้งสองระบบ ถ้าจะไปจากบ้านผมก็เรียก Uber เพราะมารับหน้าประตูบ้าน ไม่ต้องออกไปยืนรอเรียกแท็กซี่อยู่ริมถนน (โดยเฉพาะหากฝนตกหรืออากาศหนาว) แต่ถ้าไปในเมืองผมก็จะอาศัยการโบกแท็กซี่เอาเพราะในเมืองแท็กซี่เยอะและเขารู้ทางลัดมากกว่า ช่วยหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีปัญหาได้

ทั้งสองฝ่ายอยู่ได้ ผู้คนมีช่องทางทำมาหากินโดยสุจริตเพิ่มเติม ส่วนผู้ใช้บริการได้ประโยชน์เต็มๆ และความสะดวกนี้ทำให้คนลอนดอนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เลิกคิดที่จะมีรถยนต์ของตนเอง ในกรณีกรุงเทพฯ (หรือหัวเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ) หากเรายึดติดกับกฎหมายที่ร่างไว้ก่อนที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยี เราก็จะเสียโอกาส และเราต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอีกด้วยว่า การบริการของแท็กซี่/รถแดงไทย ไม่ได้มีมาตรฐานตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือกฎระเบียบ แท็กซี่เถื่อนมีอยู่เกลื่อนถนน แท็กซี่ที่ไม่ยอมรับผู้โดยสารมีมากกว่าแท็กซี่ที่ไม่เคยปฏิเสธใคร (ประสบการณ์ส่วนตัว) นอกจากนั้นเรามีปัญหาเรื่องการเปิดมิเตอร์ เรื่องความรู้เส้นทางของผู้ขับและเรื่องความปลอดภัย ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ Uber จะผิดกฎหมาย แต่ผู้ใช้บริการพึงพอใจมากกว่าทั้งในแง่สภาพรถ การเรียกใช้บริการ ราคา และความปลอดภัย ซึ่งพอทำให้สรุปได้ว่ากฎหมายเราล้าหลังและไม่ตอบสนองกฎหมายที่ดีที่ควรปกป้องสิทธิประโยชน์สูงสุดของประชาชน

Advertisement

ดังนั้นเราอย่าไปอ้างไต้หวัน ฮ่องกง ปารีส หรือใครเลยครับ เราควรคิดเองได้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับตัวเรา ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงของไทยเราเอง หลักๆ เราควรมีกฎที่ครอบคลุมเรื่อง 1.มาตรฐานผู้ขับ 2.มาตรฐานรถยนต์ 3.การมีประกันคุ้มครองผู้โดยสาร 4.การเสียภาษีที่ถูกต้องโดยผู้ให้บริการ (ซึ่งเอาเข้าจริงผมว่าแท็กซี่/รถแดงที่ ‘ถูกกฎหมาย’ วันนี้ส่วนใหญ่ก็บกพร่องในทั้ง 4 ข้อ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image