ข้อเสนอแก้รธน.ฉบับ’คสช.’ วัดใจ’กรธ.’ชี้ขาด’เขาอยากอยู่ยาว’

ความคิดเห็นและบทวิเคราะห์ ของฝ่ายการเมืองและนักวิชาการจากหลายสำนัก เมื่อได้เห็นข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับสมบูรณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ลงนามโดย “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช. ส่งข้อเสนอมาเป็นลายลักษณ์อักษร ผ่านหนังสือจำนวน 6 หน้า ถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยชี้แจงว่าเป็นข้อสรุปของวงประชุมแม่น้ำ 4 สาย ได้แก่ คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อบ่ายวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมาออกมาเป็นทิศทางเดียวกัน คือ คัดค้านข้อเสนอการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.

สรุปความตามนัยยะความสำคัญข้อเสนอของ คสช. ที่หลายฝ่ายส่งเสียงเตือนและคัดค้านนั้น นั่นคือ การเพิ่มบทบาทและอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แบบสรรหา ตามข้อเสนอของ คสช. ที่ระบุให้มี ส.ว.แบบสรรหาจำนวน 250 คน ดำรงตำแหน่ง 5 ปี มาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการที่เป็นอิสระ เป็นกลาง จำนวน 8-10 คน พร้อมกับให้ระบุไว้ด้วยว่า ให้ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงแห่งชาติ แม้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมาขยายความ ยกเหตุผลว่า การให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพมาเป็น ส.ว.นั้นเพื่อป้องกันการทำรัฐประหารในอนาคต

ยิ่งหากมาดูอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ตามข้อเสนอของ คสช.นั้น ถือว่า ส.ว.สรรหาทั้ง 250 คนมีบทบาทและชี้ทิศทางทางการเมืองเป็นอย่างมาก แม้ ส.ว.สรรหาจะไม่มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ คำว่าพิทักษ์รัฐธรรมนูญจะแปลความรวมถึงการทำหน้าที่ห้ามไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตหรือไม่ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งวิกฤตทางการเมืองหากรัฐธรรมนูญถึงทางตันและต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ส.ว.สรรหายังมีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้อีกด้วย นัยยะของตัวเลข ส.ว.สรรหา 250 คนจึงมีผลทางการเมืองเป็นอย่างมาก เพราะ ส.ว.จำนวน 250 คน ถือเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของ ส.ส.ที่มีจำนวน 500 คน หาก ส.ว.สรรหาร่วมกับ ส.ส.ฝ่ายค้านได้เกิน 375 เสียง จะสามารถคว่ำรัฐบาลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อไรก็ได้

Advertisement

ขณะที่ข้อเสนอการให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พร้อมกับการขอให้มีการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ 3 คน แต่ให้ประชาชนเลือกผู้สมัคร ส.ส.ได้เพียงคนเดียวนั้น หลายฝ่ายมองว่า นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสิทธิของประชาชนแล้ว ระหว่างผู้สมัครพรรคเดียวกันก็จะแข่งขันแย่งชิงกันเอง ทำให้เกิดสภาพวุ่นวายเกิดการหาเสียงกันอย่างดุเดือด

ปิดท้ายที่ข้อเสนอการขอให้ยกเว้นไม่ต้องให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อในการเลือกตั้ง ข้อเสนอดังกล่าวถูกมองเป็นภาพที่ชัดเจนว่า คสช.มีแนวคิดจะสืบทอดอำนาจ แม้ คสช.ได้ชี้แจงความวิตกกังวลไว้ในข้อเสนอว่าอาจเกิดเหตุจำเป็นที่พรรคการเมืองเห็นชอบร่วมกันให้เสนอชื่อบุคคลอื่นนอกบัญชีย่อมไม่อาจทำได้จึงได้เปิดกว้างไว้ ซึ่งการเปิดกว้างไว้เช่นนี้ย่อมอาจถูกตีความได้ว่า เพื่อเปิดโอกาสให้นายกฯมาจากคนนอก ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ได้

ทั้ง 3 ประเด็นจากข้อเสนอของ คสช.ที่อธิบายความผ่านลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน และได้ส่งถึงมือของ กรธ.ไปแล้วนั้น ทั้งหมดทั้งมวลจึงขึ้นอยู่กับ กรธ.ที่อยู่ในห้วงปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญช่วงโค้งสุดท้ายจะแปลงข้อเสนอของ คสช.ให้ออกมาเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้มากน้อยเพียงใด

Advertisement

ซึ่งบทสรุปสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับ กรธ.” ก่อนทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะเป็นตัวชี้ขาดว่า “เขาอยากอยู่ยาว” ตามที่ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) เคยพยากรณ์ไว้ก่อนหน้าหรือไม่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image