สปท.เอาจนได้! มติส่งคำถาม ให้ส.ว.สรรหาโหวตนายกฯ นิกร-กษิต รุมค้านแต่ไม่สำเร็จ

สปท.มีมติส่งปุจฉา “ส.ว.สรรหามีอำนาจเลือกนายกฯ” เป็นคำถามประชามติให้ สนช. “วันชัย” ยันยุคเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกต้องมีกลไกควบคุม ชี้คำถามถามเดียวครอบคลุมปรองดอง

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 1 เมษายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) โดยมี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเสนอประเด็นคำถามหรือความเห็นของสปท.ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อประกอบคำถามที่จะส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในการออกเสียงประชามติเพิ่มเติม โดยร.อ.ทินพันธ์ กล่าวชี้แจงในที่ประชุมว่า มีสมาชิกเสนอญัตติมา 2 ญัตติ คือ 1.ขอให้สปท.พิจารณาคำถามหรือความเห็นต่อสนช.เพื่อประกอบพิจารณาตั้งคำถามประชามติว่า ขอให้พิจารณาการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ที่เสนอโดยพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปท. และ 2.ขอให้สปท.พิจารณาคำถามหรือความเห็นต่อสนช.เพื่อประกอบการตั้งคำถามประชามติว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ใน 5 ปีแรก นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ให้นายกรัฐมนตรีมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา ที่เสนอโดยนายวันชัย สอนศิริ สปท.

โดยก่อนเข้าสู่การเสนอญัตติ มีสมาชิกจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยที่ สปท. ตั้งคำถามประกอบการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่า สปท.ไม่ได้มีหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น โดยนายนิกร จำนง สปท. ลุกขึ้นอภิปรายว่า ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 57 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด ที่ส่งมาให้สนช.พิจารณาก็ไม่ได้มีเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก แต่ที่สุดก็มีการแก้ไขให้สปท.สามารถตั้งคำถามได้ ด้านหนึ่งก็มองว่าเป็นการให้เกียรติสปท. แต่อีกด้านเห็นว่าอาจทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่จบ เพราะทุกวันนี้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วกลับไปแก้ไขไม่ได้ แต่หากมีคำถามอาจทำให้ต้องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญอีกก็ได้ ดังนั้น สปท.อาจจะเป็นเพียงหนังหน้าไฟจากการตั้งคำถาม เพราะเมื่อตอนรัฐบาลส่งความเห็นมาให้กรธ. เพื่อปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป้นความเห็นแม่น้ำ 4 สาย ตนก็เป็นหนึ่งในสมาชิกแม่น้ำสายหนึ่ง ที่ไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย

ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ สปท. อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการตั้งคำถาม เพราะการตั้งคำถามอาจนำไปสู่เป้าหมายทางการเมือง เพื่อให้คนนอกมาเป็นนายกฯ และมอบอำนาจให้ส.ว.แต่งตั้งมีสิทธิ์เลือกนายกฯคนนอกที่ไม่ได้เป็นส.ส.ได้ ทั้งที่ในร่างรัฐธรรมนูญระบุแล้วว่าคนนอกสามารถเป็นนายกฯได้ ซึ่งตนคิดว่าควรยึดโยงกับประชาชน โดยการทำประชามติควรมุ่งไปที่เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ จึงอยากขอวิงวอน หากจะทำอะไรก็ควรคิดถึงปัญหาบ้านเมืองในอนาคตด้วย

Advertisement

จากนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวเสนอญัตติว่า ตนได้สอบถามสมาชิกหลายท่านบอกว่า ญัตตินี้เป็นคำถามเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ เพราะเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับสังคม และเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ไม่สร้างความแตกร้าว ที่สำคัญไม่เป็นคำถามที่มีลักษณะในการเปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตนคิดว่า ต้องหาแนวทางสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งการยึดอำนาจ และการร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ทั้งสองเรื่องไม่ได้นำไปสู่ประเทศที่เจริญพัฒนา ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามสร้างความปรองดอง แต่พอมีรัฐบาลเข้ามาก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ เมื่อตนดูร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 279 มาตรา ยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีและครอบคลุม แต่สิ่งที่ไม่พบในร่างรัฐธรรมนูญคือ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ จึงได้เสนอคำถามนี้ และเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็ควรมีการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ หรืออาจจะตั้งชื่ออื่น ๆ ที่เป็นทางการภายหลังก็ได้ โดยตนเสนอให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการ ให้มีคณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้ดำเนินการ มีหน้าที่ศึกษาปัญหาข้อเสนอแนะต่างๆต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ๆ

ด้าน นายวันชัย กล่าวเสนอญัตติว่า การเสนอญัตติเพื่อประกอบการพิจารณาคำถามประชามติ ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย จะต้องไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเหมือนก่อนเหตุการณ์รัฐประหารเข้ามาอีก ส.ว.สรรหา 250 คน มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ให้รัฐบาลมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่าย ๆ รวมทั้งมีหน้าที่ติดตามการเดินหน้าปฏิรูป ดังนั้น ถ้าส.ว.250 คน มีส่วนร่วมในการหานายกฯ ช่วยการดูว่า นายกฯคนไหนไม่ฉลาด ประวัติไม่ค่อยดี จะทำให้เราคอยช่วยกันดู ดังนั้นถ้าเราสามารถช่วยกันดูแลประคับประคอง ฝ่ายการเมืองที่มาจากภาคประชาชนจะได้เห็นว่า เรื่องการปฏิรูปนั้นสำคัญ เพราะส.ว.สรรหามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯเข้ามา ดังนั้นญัตตินี้ถือว่า เป็นการแก้วิกฤติของประเทศได้จริง เพราะคนที่จะมาเป็นนายกฯ ถูกเลือกจากคนที่มาจากการสรรหาในหลายวิชาชีพกับฝ่ายเลือกตั้ง โดยร่วมกันดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ ถือเป็นบรรยากาศที่สวยงาม จะทำให้เราได้รับช่วงเปลี่ยนผ่านที่เรียบร้อย แม้ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบอย่างประเทศสากล แต่คำถามนี้คำถามเดียวจะครอบคลุมไปถึงญัตติแรก เพราะถ้าเราร่วมกันก็จะนำไปสู่ความปรองดองได้

จากนั้น ที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกอภิปราย โดยสมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนญัตติของนายวันชัย อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายเสรี สุวรรณภานนท์ สปท. เพราะเห็นว่าประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี แรกจะต้องมีกลไกควบคุมการทำงานของรัฐบาล จึงเห็นว่าการที่ส.ว.มีอำนาจในการดูแลและติดตามการทำงานของนายกฯจะช่วยให้ประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้ จากนั้น ที่ประชุมได้มีมติว่า ให้ส่งญัตติของนายวันชัยไปยังสนช.เพียงญัตติเดียว ด้วยคะแนน 136 : 3 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1 จากนั้น ร.อ.ทินพันธุ์ได้สั่งปิดประชุมในเวลา 18.15 น.

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image