สัมมนา : สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022

หมายเหตุบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยหนังสือพิมพ์มติชน ได้จัดสัมมนารูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊กในเครือมติชน จัดงาน “สู่ศักยภาพใหม่ :Thailand 2022” โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ และนายสิทธิกร ดิเรกสุนทรกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บรรยายพิเศษ “ศักยภาพใหม่ เพื่อธุรกิจใหม่” ที่บริเวณห้องโถงชั้น G อาคารสำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 31 มกราคม

สู่ศักยภาพใหม่ Thailand 2022

‘สุริยะ’ปลุกอุตฯ ฟื้น ศก.ประเทศ

Advertisement

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ผมขอแสดงความยินดีในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 45 ของหนังสือพิมพ์มติชน ที่ยังคงเป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพสูง และอยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือพิมพ์มติชนจะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป ส่วนการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย และทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในปี 2022

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ มากมาย โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลากหลายสายพันธุ์ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยและการดํารงชีวิตของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งอัลฟ่า เบต้า แกมมา เดลต้า จนมาถึงสายพันธุ์ล่าสุด สายพันธุ์โอมิครอน ยังคงเป็นความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องเผชิญ แต่ขอให้มั่นใจว่า ด้วยมาตรการด้านสาธารณสุขและมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้ดําเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย รวมถึงประชาชนทุกคน เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้อีกครั้งอย่างแน่นอน ในปัจจุบันก็เริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว จากการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจของหลายสํานักชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ค.ศ.2022 หรือ พ.ศ.2565 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้นและจํานวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น

Advertisement

ประกอบกับแรงส่งจากภาคการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง โดยจากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ในปี 2022 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ยังคงขยายตัว 4-5% เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม หรือจีดีพีภาคอุตสาหกรรมที่จะยังคงขยายตัว 2.5-3.5% สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์และเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ อุตสาหกรรมคลังสินค้า ขนส่งสินค้า และโลจิสติกส์และที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมยาและเคมีภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมของโลกในปัจจุบันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากขึ้นกว่าในอดีต ดังนั้น ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจําเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงภายหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และแสวงหาโอกาสจากการปรับไปสู่รูปแบบชีวิตวิถีใหม่หรือนิว นอร์มอล ด้วยการปรับทิศทางกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอาศัยจุดแข็งของประเทศไทยในหลายๆ ด้าน เพื่อสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี แพลตฟอร์มในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงและรองรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ การพัฒนาแรงงานทักษะฝีมือที่มีคุณภาพและก้าวทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีศักยภาพสูงภายในประเทศ การแสวงหาประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่เป็นแนวโน้มในอนาคตของโลก

ในส่วนของภาครัฐจะทําหน้าที่หลักในการสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออํานวยต่อการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการดําเนินนโยบายเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งเสริมการผลิตและการส่งออกสินค้า พร้อมผลักดันศักยภาพที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นภายในประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร และเริ่มมีบทบาทสําคัญทําให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่มุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

ทั้งนี้ หนึ่งในแนวทางการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยที่รัฐบาลให้ความสําคัญคือ การส่งเสริมการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) ที่ผ่านมาภาครัฐได้สนับสนุนการใช้งบประมาณของรัฐในการจัดซื้อสินค้าได้รับการรับรองเมดอินไทยแลนด์ พัสดุที่จัดทําขึ้น หรือจําหน่ายโดยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ Thai SME-GP ด้วยการออกกฎกระทรวง กําหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 และกระทรวงได้มีความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการผลักดันผู้ประกอบการของไทยทั่วประเทศ ส่งต่อผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าสู่ระบบการรับรองเมดอินไทยแลนด์ รวมถึงเตรียมความพร้อมและยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนไทยเข้าสู่การรับรองเมดอินไทยแลนด์

สำหรับในระยะต่อไป กระทรวงมีแนวคิดที่จะขยายขอบเขตการส่งเสริมแนวทางดังกล่าว โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดซื้อเพิ่มมากขึ้น ผ่านการหารือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนของภาคอุตสาหกรรมในการจัดซื้อพัสดุที่ได้รับการรับรองเป็นเมดอินไทยแลนด์ Thai SME-GP รวมถึงการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการจัดซื้อในภาคเอกชน ซึ่งการสนับสนุนให้เกิดระบบการซื้อขายสินค้าในประเทศจะเสริมสร้างการหมุนเวียนเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง ช่วยลดการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงทําให้เกิดเม็ดเงินสู่ระบบแรงงานไทยอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ กระทรวงยังมีแนวทางการส่งเสริมการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยอุตสาหกรรมชุมชน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงประสบความสําเร็จในการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนให้มีความเข้มแข็งด้วยการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือหมู่บ้าน CIV ภายใต้แนวคิดหลักคือ การสร้างหมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นําทุกวัฒนธรรม วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ชุมชน มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของชุมชน เชื่อมโยงกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีหมู่บ้านที่ผ่านการพัฒนาแล้วจํานวนกว่า 250 หมู่บ้านทั่วประเทศ

อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกระดับกระบวนการดําเนินงานให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นการดําเนินงานที่ตรงประเด็น สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม สามารถเข้าถึงการรับบริการได้อย่างรวดเร็วในทุกช่องทาง นอกจากนี้ กระทรวงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดําเนินงานให้เหมาะสมกับยุคของ Next Normal อีกทั้งยังบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้ตัวอย่างนโยบาย “DIProm CARE” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ สําหรับบริบทของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม แนวนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก และเป็นเครื่องยนต์สําคัญในการขับเคลื่อนศักยภาพประเทศ จะมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างมูลค่าที่เติบโตบนฐานนวัตกรรม องค์ความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนตามโมเดล อุตสาหกรรมรายสาขาที่มีบทบาทสําคัญภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นอุตสาหกรรมที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ เป็นอุตสาหกรรมสําคัญที่จะมีบทบาทในการผลักดันศักยภาพของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างมูลค่า (Value creation) ให้แก่ธุรกิจและบริการต่างๆ ผ่านการนํานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ พร้อมปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลที่เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อเพิ่มคุณค่าใหม่ๆ ให้กับลูกค้า และสร้างมูลค่าในภาคธุรกิจบริการให้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการการทํางานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านประเด็นการพัฒนาสําคัญ 6 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 2.การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S Curve) ภายใต้มาตรการ หรือแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับหมุดหมายการพัฒนาตามร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ 3.การพัฒนาผู้ประกอบการและภาคการผลิตไปสู่ 4.0 โดยสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนให้มีผลิตภาพ ลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมและดิจิทัล โดยดําเนินการเรื่อง Ease of Doing Business อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดขั้นตอนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4.การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG 5.การจัดตั้งและส่งเสริมการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ยึดโยงกับการพัฒนาในระดับพื้นที่ และ 6.การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่สะดวกรวดเร็ว บูรณาการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทําบิ๊กดาต้า เพิ่มทักษะและประสิทธิภาพบุคลากรด้านดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างศักยภาพใหม่ของประเทศไทยตามแนวทางข้างต้นนั้น จําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การดําเนินการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อประเทศชาติ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการผนึกกําลังของทุกภาคส่วนย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง และมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งในการเผชิญกับสถานการณ์โลกที่ผันผวนบนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองและการพัฒนาที่ยั่งยืน

แม้ว่าการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้อีกครั้งท่ามกลางอุปสรรคและความท้าทายที่ต้องเผชิญจะเป็นงานยาก แต่เชื่อมั่นว่าจากจุดแข็งและศักยภาพของประเทศไทยที่มีอยู่ประกอบกับศักยภาพของคนไทยทุกคนและทุกภาคส่วนในการร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทํา ภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน จะนํามาสู่การต่อยอดศักยภาพใหม่ของประเทศ ที่จะเป็นปัจจัยเร่งให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สิทธิกร ดิเรกสุนทร

ชู3ดี-4ศักยภาพใหม่กู้เศรษฐกิจ

สิทธิกร ดิเรกสุนทร
กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ศักยภาพใหม่มี 4 มิติ ศักยภาพที่ 1จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บสย.มีการประมาณการในฐานข้อมูลประมาณ 6 ล้านราย แบ่ง 3 ล้านรายแรกอยู่ในบัญชี และอีก 3 ล้านรายอยู่นอกบัญชี ซึ่งปีที่ผ่านมาบสย.ร่วมกับสถาบันการเงินช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระบบ 3 ล้านรายแรกให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 22.35% ส่วนอีกเกือบ 80% ยังเข้าไม่ถึง ดังนั้น ศักยภาพแรกเป็นการทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินด้วย Digital Credit Accelcer แต่อีก 3 ล้านรายที่อยู่นอกบัญชีไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ มีปัญหาคล้ายกันในทุกกลุ่ม เรียกว่ากลุ่มรายย่อย (ไมโคร) อาทิ กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มที่มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเนื่องจากมีปัญหาเรื่องของหลักประกันในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน

บสย.จึงคิดว่าควรสร้างศักยภาพใหม่ให้กับประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงกลุ่มเหล่านี้ได้มากขึ้นและลึกขึ้นในเรื่องของจำนวนราย โดยมีตัวขับเคลื่อนที่เรียกว่า 3ดี (D)คือ 1.ดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) ในวันนี้มีอยู่ในมือของประชาชนทุกคนแล้ว ทุกธนาคารมีแอพพลิเคชั่นทางการเงิน และธุรกิจในระบบเศรษฐกิจมีดิจิทัล วอลเล็ตหมด 2.ดิจิทัล เลนดิ้ง (Digital Lending) ทุกแพลตฟอร์มนั้นให้บริการสินเชื่อผ่านทางออนไลน์แต่ทำในอีโคซิสเต็มของตนเอง ทั้งนี้ ความสมบูรณ์จะต้องประกอบด้วย 3.ดิจิทัล เครดิต การันตี (Digital Guarantee) จะเป็นส่วนเติมเต็มทำให้กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ด้วยปัญหาเดิม คือเรื่องหลักประกัน เพราะกลุ่มเหล่านี้มีปัญหาคล้ายกันคือ บ้านติดจำนอง รถยนต์ยังผ่อนไม่หมด ธนาคารก็จะมองว่าเป็นอุปสรรคในการให้สินเชื่อ ดังนั้น 3ดี จะเป็นตัวขับเคลื่อนศักยภาพใหม่ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ลองดูที่งบประมาณของรัฐบาลที่นำไปช่วยประชาชนในช่วงที่เกิดโควิด ไทยใช้ไปเยอะมาก ประมาณ 9.18 แสนล้านบาท มีประเภทของสวัสดิการเกิดขึ้นมากมาย และมีวอลเล็ตเกิดขึ้นจำนวนมาก ตัวขับเคลื่อน 3ดี ที่กล่าวไปข้างต้นจะเติมเต็มในเรื่องสวัสดิการของรัฐและแก้ไขปัญหาเดิมๆ คือเรื่องหนี้นอกระบบ ในขณะนี้ไม่ใช่เพียงว่าแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ขอย้ำว่าตัวขับเคลื่อน 3ดี จะเข้ามาปิดช่องว่างให้กับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินมากขึ้น

ศักยภาพที่ 2 คือทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ใช่เพียงเข้าถึงแหล่งเงินอย่างเดียว แต่มีความพร้อมในด้านการเงินและความรู้ในเรื่องดิจิทัลเข้ามาเสริม แม้ว่ามองเบื้องต้นเอสเอ็มอีจะมีปัญหาเรื่องการเงิน แต่สิ่งแรกเลย คือต้องผลิตสินค้าได้ให้บริการดีเยี่ยม ถึงจะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ แต่ในความจริงอาจจะมีปัญหาเรื่องของการตลาด การจัดการธุรกิจ การทำบัญชี หรือการใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิต หรือการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ การหาตลาดใหม่ๆ ทางโซเชียลมีเดีย หรือบนแพลตฟอร์มดิจิทัล บสย.นั้นมีศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินที่เรียกว่า เอฟ.เอ.เซ็นเตอร์ (F.A.Center) เป็นตัวผลักดันเพื่อแก้ไขจุดอ่อนทางธุรกิจ ขณะเดียวกันมีคลินิกหมอหนี้ที่ทำร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสกัดไม่ให้หนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้นและยังมีพันธมิตร ทั้งสถาบันการเงิน และหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ช่วยให้เอสเอ็มอีมีความรู้ทั้งด้านการเงินและด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่ศักยภาพใหม่ 2022

ศักยภาพที่ 3 คือการที่จะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีดู “สมาร์ท (SMART)” เอส (S) คือสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ในการขายสินค้า นำสินค้าเข้าสู่ระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เอ็ม (M) คือชุดความคิด (Mindset) เอสเอ็มอีควรจะใช้มายด์เซตเหมือนสตาร์ตอัพ เจาะไปที่ Pain Point (จุดที่เป็นปัญหา) ของลูกค้าเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ขณะเดียวกันต้องเปิดรับความรู้ใหม่ รัฐบาลมีโครงการคนละครึ่ง แต่ผู้ประกอบการร้านค้าไม่เข้าร่วมอาจจะพลาดโอกาสทางธุรกิจ เอ (A) คือออโตเมชั่น (Automation) นำเอาขบวนการออโตเมชั่นที่อยู่ในแต่ละแพลตฟอร์มมาใช้ เช่น การส่งข้อความ อินบ็อกซ์ ระบบตอบโต้ข้อความอัตโนมัติ ซึ่งออโตเมชั่นไม่ได้ทำให้ผลผลิตของการค้าขายดีอย่างเดียว แต่ผู้ประกอบการจะได้ข้อมูล (ดาต้า) วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า หาโอกาสใหม่ๆ ในการขยายให้ธุรกิจเติบโต

อาร์ (R) คือการรับผิดชอบต่อสังคม (Responsibility) ต้องคิดถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจชีวภาพ หรือกลุ่มบีซีจี โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านส่งออก ในตอนนี้มีการกีดกันทางการค้าในแบบใหม่ๆ เช่น การลดหรือเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องปรับตัวให้ดูสมาร์ทขึ้นสุดท้ายคือ ที (T) มาจากการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ (Transformation) ต้องอดทนต่อแรงเสียดทาน การเปลี่ยนแปลง พลวัตทางสังคม อาทิ ประเทศต้องล็อกดาวน์ ปรับมาขายผ่านทางออนไลน์ได้ และพอประเทศเปิดก็มีแรงงาน กำลังการผลิต รองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ศักยภาพที่ 4 คือกลับมาดูที่ บสย. ขณะนี้ บสย.ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลไว้ 3 มิติ ได้แก่ 1.การยึดโยงเข้ากับระบบดิจิทัลของประเทศ ใน 4-5 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำธุรกรรมที่เรียกว่าพร้อมเพย์ การสแกนจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด และการแสดงตัวตนผ่านระบบการทำความรู้จักลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Know Your Customer หรือ e-KYC) 2.การยึดโยงกับระบบของสถาบันการเงิน ระบบการค้ำประกันสินเชื่อ หรือเครดิตการันตีจะไม่เกิดไม่ได้เลย และ 3.คือการยึดโยงกับเจ้าของแพลตฟอร์ม ทุกระบบที่ทำตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ต) ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ และโอกาสในการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งสามมิติก็ยึดโยงเข้าหากันบนโครงสร้างพื้นฐานของ บสย.ที่จะเตรียมให้กับประเทศไทย ในการสร้างศักยภาพใหม่ ไทยแลนด์ 2022

และเหนือไปกว่านั้น จะได้นำดาต้ามาทำเครดิตสกอริ่ง ให้กับกลุ่มคนมีรายได้น้อยกลุ่มเปราะบาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสถาบันการเงินด้วยเครดิต เรตติ้ง ที่เป็นของ บสย. เครดิตสกอริ่ง ทั้งหมดนี้คือ 4 ศักยภาพใหม่ เพื่อตอบโจทย์ศักยภาพใหม่ ไทยแลนด์ 2022 สำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ก็ขอให้ติดต่อ บสย.ได้ทุกช่องทาง อยากเรียนเชิญทุกท่านมาร่วมกันสร้างศักยภาพใหม่ คอนเน็กต์ไปด้วยกัน เพื่อศักยภาพใหม่ ไทยแลนด์ 2022

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image