เพิ่ม ส.ส.เขต-สูตรปาร์ตี้ลิสต์ พรรคการเมืองไหน ‘ได้-เสีย’

เพิ่ม ส.ส.เขต-สูตรปาร์ตี้ลิสต์ พรรคการเมืองไหน‘ได้-เสีย’

หมายเหตุเป็นความเห็นนักวิชาการกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดแบ่ง ส.ส.เขตเพิ่มเป็น 400 คน จากเดิม 350 คน ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลงเหลือ 100 คน จากเดิม 150 คน รวมถึงการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ จะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคใหญ่และพรรคเล็กอย่างไร ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

คงจะต้องมองตัวแปรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ท้ายที่สุดแล้วการต่อรองระหว่างพรรคเล็กกับพรรคขนาดใหญ่เรื่อง ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ หากพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ รวมทั้ง ส.ว.ยืนยันว่าต้องหารด้วย 100 ก็จะกระทบกับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก อย่างปฏิเสธไม่ได้ ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคขนาดใหญ่คือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ มีความได้เปรียบ

Advertisement

ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ขณะนี้คิดว่าสมการหารด้วย 100 ชักมีความไม่มั่นใจ เพราะช่วงนี้ขาลงอย่างหนัก เกิดความขัดแย้ง แตกแยก รวมกับผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งผูกโยงกับพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ต้องประเมินว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าควรจะหาร 100 หรือหาร 500 ดีต่อพรรค ประกอบกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงนี้พล.อ.ประยุทธ์มีความหวังว่าพรรคแนวร่วมรัฐบาลทั้งหมดจะยกมือให้ตนเอง รวมทั้งรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจรวมทั้งหมด 11 คนให้ผ่านหมด อาจจะต้องทำสัญญาใจ หากจะให้พรรคเล็กช่วยรัฐบาลก็ต้องยอมให้หาร 500 ซึ่งเป็นผลประโยชน์ตอบแทนกัน

ในส่วนกระแสของ ส.ว.จะให้กลับมาหาร 500 มองว่าจะมีเหตุผลเดียวคือใบสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่แปลกที่จะส่งสัญญาณว่า หากพรรคเล็กพร้อมใจช่วยรัฐบาล ส.ว.ก็จะต้องตอบแทนด้วยการกดดันหรือพยายามให้มีการหาร 500 ให้ได้ นอกจากนี้ หากมองดูแล้วก็พบว่าพรรคขนาดกลางจะเอาด้วย อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ ก็อยากให้หาร 500 ด้วยเหมือนกันไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้าและมีการหาร 100 ประกอบกับความตกต่ำของพรรคประชาธิปัตย์ โอกาสจะได้ ส.ส.ไม่ถึง 50 คนมีโอกาสสูงมาก แม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทยที่แม้ว่าจะมี ส.ส.หลายกลุ่มไหลเข้า แต่หากดูการหารด้วย 100 ก็ยังได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นยาก แต่หากหารด้วย 500 โดยเอาคะแนน ส.ส.เขตเลือกตั้งมาหารด้วย ก็จะทำให้พรรคภูมิใจไทยได้เปรียบค่อนข้างมาก

หากมองเป็นรายพรรคเกี่ยวกับหาร 100 หรือ 500 จะพบว่าหากหาร 500 พรรคเพื่อไทยอาจจะได้ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อน้อย หรือไม่ได้เลย เพราะต้องไปคิดคำนวณในส่วนของ ส.ส.ที่พึงมีพึงได้ด้วย อาจเหมือนเดิมคือได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทยคิดว่าจะได้มากหากหาร 500 เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยเติบโตมาจากการเมืองในระดับจังหวัด มีฐานคะแนนเสียงที่ชัดเจน โดยเฉพาะมีนโยบายการปลูกกัญชาได้สร้างกระแสการเมืองอย่างมาก แม้ว่าผู้ลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่หากมีคะแนน 4-5 หมื่นคะแนนก็สามารถนำไปหาร 500 ได้ หมายถึงคะแนนไม่ตกน้ำ

Advertisement

พรรคอื่นก็เช่นเดียวกัน อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีความต้องการหาร 500 เหมือนกัน เช่นเดียวกับพรรคเศรษฐกิจไทยก็น่าจะต้องการหาร 500 เพราะถ้ามี ส.ส.เขตเลือกตั้ง 10-20 คน ก็อาจจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 10 คน เพิ่มอำนาจการต่อรองดีกว่าหารด้วย 100 ที่โอกาสจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีสูงมาก รวมทั้งพรรคสร้างอนาคตไทยของนายอุตตมสาวนายน ก็ไม่พร้อมจะหาร 100 เหมือนกัน หลายพรรคการเมืองจึงหวังว่าจะได้หาร 500 เพราะอาจจะมี ส.ส.เข้าไปนั่งในสภา 4-5 คนก็ยังดี ส่งผลให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กมีความหวัง

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

ความได้เปรียบเสียเปรียบกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดแบ่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเป็น 400 คน จากเดิม 350 คน ทำให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเหลือ 100 คน จากเดิม 150 คน ข้อแรกคือ จำนวน ส.ส.เขตมีมากขึ้น ดังนั้นพรรคที่มีฐานคะแนนจาก ส.ส.เขต อาจมีความได้เปรียบมากกว่าพรรคที่มีคะแนนนิยมแบบโดยส่วนรวมของประเทศ เพราะถ้าในกรณีที่มี ส.ส.เขตมาก แปลว่าการที่จะมีเสียงในสภามากหรือน้อย 4 ใน 5 ส่วนก็อยู่ที่เขตเลือกตั้งดังนั้น การเลือกตั้งในระดับเขตต้องยอมรับว่า ตัวบุคคลที่อยู่ในพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการแพ้หรือชนะ ตัวบุคคลหมายถึงการเป็นที่รู้จัก การเป็นคนที่มีบารมี มีอิทธิพลในพื้นที่ เหล่านี้ก็จะเป็นปัจจัยหลัก

แต่ตอนนี้หลังการเลือกตั้ง ส.ส.เขตในปี 2562 เป็นต้นมา ได้เห็นภาพอย่างหนึ่งว่า กระแสของพรรคมีความหมายอยู่ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เป็นเขตเมืองจะเห็นว่า มีกระแสของคนรุ่นใหม่ออกมาเลือกตั้ง และทำให้พรรคการเมืองใหม่ๆ มีโอกาสชนะในระดับเขตในหลายพื้นที่ เช่น พรรคอนาคตใหม่ นี่ก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งว่าอาจเป็นเรื่องของกระแสในพื้นที่ และการแสของพรรคโดยรวมเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นชนบทออกไปกระแสของพรรคอาจน้อยกว่ากระแสตัวบุคคล

ในส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อมีจำนวนลดลงเหลือ 100 คน จะมีผลทำให้พรรคต่างๆ ต้องมาแย่งกัน ตอนนี้หากว่าระบบของการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยหาร 100 เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ก็จะมีสิทธิเข้ามาแบ่งเค้กในส่วนนี้ด้วย ก็จะเหลือจำนวน ส.ส.เขตน้อยลงไปอีก แต่ถ้าเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม คือต้องคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ ผลที่เกิดขึ้นคือ ถ้าพรรคการเมืองไหนได้ ส.ส.เขตมากก็อาจจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง ซึ่งในกรณีแบบนี้อาจจะทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อถูกกระจายออกไปยังพรรคอื่นๆ ในขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น ต้องดูในกติการสุดท้ายคือ กติกาที่จะคุยกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาประมาณวันที่ 6-7 กรกฎาคม วาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งจะเห็นหน้าตาว่าวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นอย่างไร และจะสามารถบอกได้ว่าพรรคไหนได้เปรียบเสียเปรียบ แต่หากดูภายใต้กติกาที่ผ่านรับหลักการในวาระที่ 1 ก่อนเข้าสู่วาระที่ 2 ก็ออกมาในแนวที่พรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ คือสามารถที่จะมากินพื้นที่ในส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เพิ่มเติม สมมุติว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตมากตามที่คาดหวัง ส.ส.บัญชีรายชื่อก็จะได้มากด้วย อาจจะถึงประมาณ 40-50% ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด เท่ากับประมาณ 40-50 ที่นั่งที่เป็นของพรรคเพื่อไทย

แต่ถ้าหากเปลี่ยนกติกาเป็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 แล้วค่อยเป็นการจัดสรรปันส่วนผสม พรรคเพื่อไทยก็อาจจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่เกิน 10 คน ที่เหลือก็เป็นการกระจายไปยังพรรคอื่นๆ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการวางกติกาในวันที่ 6-7 กรกฎาคมนี้ว่า จะมีผลผ่านวาระ 3 ที่มีหน้าตาเป็นอย่างไร

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา

กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในปี 2566 แบ่งเป็น ส.ส. 400 เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ อีก 100 คน รวม 500 คน ไม่ได้ทำให้พรรคขนาดใหญ่และพรรคเล็กได้เปรียบเสียเปรียบมากนัก การเลือกตั้งทุกครั้งขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ กระแสความนิยมพรรคและตัวบุคคล กับกระสุนที่เป็นทรัพยากรสำคัญ ไม่ว่าเป็นเลือกตั้งระดับใด จำเป็นต้องใช้ ถ้าไม่มีกระสุนไม่ว่าจะเป็นพรรคหรือผู้สมัคร ส.ส.ก็ลำบาก โอกาสได้รับเลือกตั้งน้อยมาก

สังเกตระยะหลัง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วงโควิดระบาดและมีการเลือกตั้งไม่ว่าระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ การลงพื้นที่หาเสียงของพรรคหรือผู้สมัคร ต้องมีหัวคะแนนหรือแกนนำนำชาวบ้านมาฟังปราศรัย ซึ่งมีค่าตอบแทนหัวละ 200-300 บาทเท่านั้น จากเดิมหัวละ 500-1,000 บาท เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบโควิดและเศรษฐกิจถดถอย บางคนตกงานไม่มีรายได้ จำเป็นต้องรับไว้เพื่อความอยู่รอด ดังนั้นการเลือกตั้งทุกระดับ กระสุนถือเป็นตัวชี้วัดผลการเลือกตั้งดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม พรรคขนาดใหญ่ อาทิ พรรคเพื่อไทย (พท.) พลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีฐานเสียงและเครือข่ายทั่วประเทศ มีโอกาสได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์ ตามสัดส่วนผู้สมัครมากที่สุด ที่เหลือเป็นพรรคขนาดกลางหรือพรรคท้องถิ่น อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) พรรคพลังชล (พช.) ที่มักได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 10-20 ที่นั่ง ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นหัวหน้าพรรค ที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขต 4 ต้องดูผลจากการเลือกตั้งครั้งนี้ก่อน เพื่อประเมินสถานการณ์เลือกตั้ง ส.ส.ในปีหน้าด้วย

ต้องไม่ลืมว่า ร.อ.ธรรมนัสเคยเป็นเลขาธิการ พปชร. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค เคยนำทัพ พปชร.ชนะเลือกตั้งซ่อม ส.ส.มาทุกครั้ง เมื่อแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ ต้องดูศักยภาพ ร.อ.ธรรมนัสจะนำทัพชนะเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขต 4 หรือไม่ ถ้าไม่ชนะ อาจส่งผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้าได้ ประกอบกับกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ประชาชนเลือกนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯกทม. คนที่ 17 น่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้าด้วย โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านที่สนับสนุนประชาธิปไตย และต่อต้านอำนาจเผด็จการ

สุดท้ายเชื่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลที่มี พปชร. เป็นแกนนำ มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า เนื่องจากมีศักยภาพเหนือกว่าพรรคอื่นภายใต้การขับเคลื่อนกลไกภาครัฐ หากได้รับเลือกตั้ง ส.ส.เพียง 200 เขต จาก 400 เขต บวกกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ยกมือสนับสนุน อาจได้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ หรือผลักดัน พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ได้

ส่วนตัวไม่เชื่อว่า พท. และ ก.ก. ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายหรือแลนด์สไลด์ เนื่องจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังมีภาวะผู้นำและประสบการณ์ทางการเมืองน้อย และ พท.ยังหาตัวผู้นำประเทศที่เหมาะสมในอนาคตไม่ได้โอกาสที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า จึงน้อยกว่าพรรคร่วมรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image