ฝุ่นตลบย้ายพรรค-สภาล่ม! สัญญาณการเมืองเปลี่ยน

ฝุ่นตลบย้ายพรรค-สภาล่ม! สัญญาณการเมืองเปลี่ยน

หมายเหตุ มุมมองนักวิชาการที่มีต่อสถานการณ์ ส.ส.แห่ย้ายพรรคและสภาล่มบ่อยครั้ง

วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

กรณี ส.ส.หลายคนลาออกจากพรรคนั้นเริ่มมาจากวาระของรัฐบาลที่ถ้าอยู่ได้เต็มวาระจริงๆ จะมีอายุถึงประมาณช่วงเดือนมีนาคม 2566 การลาออกช่วงนี้เป็นเงื่อนไขของกฎหมายในเรื่องระยะเวลา 90 วัน และจะเริ่มมีการลาออก มีการย้ายพรรค เพื่อวางแผนเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 ระยะเวลาตรงนี้เป็นเงื่อนไขสะท้อนให้เห็นว่า ส.ส.ไม่มีความมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะยุบสภาตอนไหน ในที่นี้เราจะมองการยุบสภาของ พล.อ.ประยุทธ์ อันเนื่องมาจากปัญหาภายใต้การจัดกำลังของเขาในพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังไม่พร้อม ทำให้การยุบสภาต้องยืดออกไปถึงช่วงใกล้ครบวาระ อาจจะยุบสภาก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้ ส.ส.ไม่มีความมั่นใจว่าจะยุบสภาอะไรตอนไหน การเริ่มลาออกและย้ายพรรคตอนนี้คือ การจัดการกับเงื่อนไขข้อกฎหมายภายใต้ช่วงเวลาเหมือนกันแน่นอนว่าในการประชุมสภาจะมีกฎหมายสำคัญที่สังคมจับตามองคือเรื่องกัญชา-กัญชง เราจะเริ่มเห็นปรากฏการณ์ตรงนี้แล้วว่า ส.ส.จะร่วมขบวนอย่างไรในการโหวตกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดีการเริ่มลาออกดังกล่าวก็ไม่กระทบในการออกกฎหมายขนาดนั้น นี่คือปรากฏการณ์ปกติอยู่แล้ว เพราะเป็นช่วงปลายของวาระ ส.ส. ถ้ากฎหมายในไหนช่วง 3 เดือนนี้ไม่สามารถผ่านวาระที่ 1 ได้ก็จะถูกดองไปถึงการมีสภาใหม่หลังการเลือกตั้ง

Advertisement

การที่มี ส.ส.จากหลายพรรคเลือกย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นั้นมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรค ภท.อยู่แล้ว หากถามว่าทำไม ส.ส.จึงเลือกย้ายไปพรรคนี้มากกว่าพรรคการเมืองอื่น เพราะ ภท.มีแต้มต่อในการที่จะสามารถเข้าไปจับมือร่วมรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นขั้วการเมืองไหน สามารถคุยหรือจะแบ่งครึ่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ จะไปเป็นรัฐบาลผสมกับรัฐบาลที่พลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำก็ได้ หรือถ้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้แลนด์สไลด์ การบอกว่าไม่จับมือกับ พท.สุดท้ายก็ยังสามารถเปิดพื้นที่ในการที่จะเข้าไปเจรจาได้อยู่ดี

ด้วยเหตุนี้ทำให้การเข้าไป ภท.เกิดโอกาสในการได้ตำแหน่งในรัฐบาลมากกว่า และเวลาที่มีคนย้ายเข้าไป ภท.นั้น ยุทธศาสตร์คือ ยกจังหวัด 1 รัฐมนตรี แบบนี้การย้ายจึงเป็นลักษณะเป็นแพค และด้วยลักษณะของพรรค ภท.อาจจะมีความได้เปรียบในส่วนของ ส.ส.พื้นที่หรือในส่วน 400 คน ภท.จะได้มากขึ้นแน่นอน แต่ปัญหาของ ภท.คือไม่ใช่พรรคที่เล่นกับกระแส ความเป็นผู้นำของตัวแทนพรรค หรือนโยบายขนาดนั้น ด้วยเหตุเช่นนี้ คะแนนของ ภท.ในบัตรอีกหนึ่งใบคือ 100 คะแนนใน ส.ส.บัญชีรายชื่ออาจจะไม่สูงมากนัก จึงทำให้ ภท.จะเป็นพรรคเบอร์ 3 จะไม่ใช่พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่จะเป็นพรรคตัวแปรจะบอกว่าฝ่ายไหนจะสามารถเป็นรัฐบาลผสมได้

ถ้าในทางรัฐศาสตร์ ภท.คือพรรคในลักษณะที่เรียกว่า ระบบสองพรรคครึ่ง คือตัวแปรพรรคที่ 3 จะเป็นตัวกำหนดทิศทางว่าใครจะเป็นรัฐบาลในการจัดตั้งรัฐบาลผสมรอบหน้า อย่างไรก็ดี แม้ว่า ภท.อาจจะได้คะแนนในส่วนของ ส.ส.พื้นที่มากขึ้นแต่ในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น โจทย์จะเป็นอีกแบบหนึ่งเลย เพราะเราต้องมีเสียงของ ส.ว. 250 คนมาร่วมโหวตอีก เพราะฉะนั้นตัวแปรของ ภท.หลักๆ คือการคุมสภาให้ได้เสียมากที่สุด

Advertisement

ตอนนี้อยากให้จับตาดูพรรคที่เกิดขึ้นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรครวมไทยสร้างชาติว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปอยู่จริงๆ หรือไม่ เพราะปัญหาของรวมไทยสร้างชาติคือถ้ายังไม่สามารถสร้างพรรคที่มีความเข้มแข็งและสามารถสร้างกระแสได้ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนนี้ เราอาจจะเห็นปรากฏการณ์ว่ารวมไทยสร้างชาติไม่ได้ไปต่อ จะต้องจับตามองอย่างชัดเจนเพราะภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและกติกาเลือกตั้งใหม่ ไม่เอื้อต่อพรรคขนาดกลางถึงพรรคขนาดเล็ก

วันชัย จึงวิบูลย์สถิตย์
นักวิชาการอิสระ และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย

ช่วงนี้จะเห็นภาพนักการเมืองเตรียมย้าย จากพรรคการเมืองเดิมไปสู่พรรคการเมืองใหม่จำนวนมาก ต้องยอมรับว่านักการเมืองไทย ส่วนใหญ่จะเห็นประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง โดยจะมองว่าหากไปอยู่พรรคใหม่แล้วสามารถไปต่อได้ ก็จะตัดสินใจย้ายไป มองว่านักการเมืองที่ย้ายไปนั้น เพราะต้องการไปยังชีพ อย่าถามว่านักการเมือง หรือ ส.ส.อยากทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง เพราะทุกวันนี้ในความเป็นจริงมีน้อยมาก นักการเมืองจะทำประโยชน์ให้กับประชาชน จะเห็นบทบาทนักการเมืองส่วนใหญ่ที่ผ่านมา ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก นอกจากนี้จะเห็นว่าสภาล่มบ่อย เพราะมีการเล่นเกมทางการเมือง ถือว่าเป็นความอัปยศในการทำหน้าที่ของนักการเมือง เนื่องจากการแก้ไขปัญหาหรือการออกกฎหมายจะต้องไปว่ากันในสภา เปรียบเสมือนครูกับนักเรียน หากนักเรียนไม่เข้าชั้นเรียนแล้ว กิจกรรมจะดำเนินต่อไปได้อย่างไร

การลาออกจากพรรคการเมืองเดิมเพื่อสู่พรรคการเมืองใหม่ เห็นว่าจะไหลไปพรรคภูมิใจไทยมาก เพราะเห็นว่ามีความเหนียวแน่นมาก และภายในพรรคไม่มีความขัดแย้ง ไม่เหมือนกับพรรคการเมืองอื่นๆ อาทิ พรรคพลังประชารัฐจะเห็นว่าไหลออกมากเหมือนกัน เพราะเป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ที่อ้างเสมอว่าเป็นสถาบันพรรคการเมืองแห่งเดียวในประเทศไทย ยังมีปัญหา ส.ส.ไหลออกเช่นกัน พรรคเพื่อไทยเองก็ยังแกว่ง เพราะ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยมองตัวเองว่ามีผู้สนับสนุนแน่นอน และมีฐานคะแนนเสียงดี มีโอกาสสูงที่จะได้รับการเลือกตั้ง ก็ย้ายไปพรรคใหม่เหมือนกัน หากเปรียบพรรคการเมืองเหมือนกับสาวๆ ถือว่าพรรคภูมิใจไทยเป็นสาวเนื้อหอมมาก หนุ่มๆ มารุมจีบ อยากแต่งงานร่วมหอลงโรงด้วย มองดูแล้วพรรคภูมิใจไทยอาจจะได้ ส.ส.เกิน 100 คนขึ้นไป

ช่วงแรกพรรครวมไทยสร้างชาติของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคคิดว่าจะมาแรง แต่ก็เงียบไป คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน จึงไม่กล้าออกตัวจะไปร่วมทำงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ทั้งที่เหลือเวลาอีกไม่นานก็จะหมดวาระแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำโพลออกมาแล้วเป็นนายกรัฐมนตรีที่สะอาด ไม่มีคอร์รัปชั่น ประเทศชาติยังสามารถพึ่งพาได้

อย่างไรก็ตามหลายคนก็ยังกังวลใจในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 ปี จะสานต่อในเรื่องการทำงานอย่างไร และแปลกที่สุดเหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้ประชาชนกังขาเลือกไปแล้วจะไปทำงานได้หรือไม่ และไม่เป็นจุดขายให้กับพรรคที่จะไปสังกัดด้วย พรรคภูมิใจไทยระยะหลังวางตัวดีมาก มีความเป็นผู้ใหญ่ นิ่ง และไม่โต้ตอบในเรื่องไร้สาระ ประกอบกับมีผลงานกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำได้ดีอีกด้วย จึงทำให้ ส.ส.หลายคนอยากไปร่วมงานด้วย

การที่ ส.ส.ลาออกจำนวนมาก นายวิษณุ เครืองาม ก็กล่าวไว้แล้ว ไม่มีกฎหมายกำหนดในเรื่องของ ส.ส.ในสภาว่าเหลือจำนวนเท่าใดถึงจะยุบสภาได้ แต่ระบุว่าเหลือเท่าไหร่ก็นับองค์ประชุมเท่านั้น เมื่อนับคะแนนเสียงกึ่งหนึ่งก็ลดลงไปตามสัดส่วน ผมว่าบิ๊กตู่ไม่สนใจ และที่น่าจับตามองคือบิ๊กตู่จะเล่นการเมืองหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าองค์ประชุมในสภาคงไม่มีปัญหาอะไร แต่มีข้อที่น่าคิดเหลือ ส.ส.น้อย กฎหมายสำคัญๆ น่าจะผ่านสภาได้ดีกว่าเดิมเสียด้วย

หากมองความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ เกี่ยวกับการย้ายเข้าย้ายออก ก็ต้องมองพรรคการเมืองสำคัญๆ 3 พรรคคือ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจะดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน ส่วนจะดึงคนบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัดมาร่วมงานนั้น มองว่ายากเหมือนกันที่จะประสบความสำเร็จในการสร้างจำนวน ส.ส. เนื่องจากการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว หากเป็นช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา อาจจะมีผล แต่ปัจจุบันคนเปลี่ยนรุ่นไปแล้ว รวมทั้งการย้ายถิ่นฐานของประชากร มีผลต่อความศรัทธาเกี่ยวกับบ้านใหญ่

ส่วนการดำรงอยู่ของรัฐบาลนั้น จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สังกัดพรรคการเมือง จึงไม่แคร์ในเรื่อง ส.ส.ที่จะออกไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น

การที่สภาล่มบ่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความไม่รับผิดชอบของบรรดา ส.ส. โดยมีผลพวงมาจากประชาชนไม่ค่อยสนใจในเรื่องการเมือง ประกอบกับการขาดจิตสำนึกเกี่ยวกับการเมือง จึงทำให้มองเพียงแค่ผลประโยชน์ระยะสั้นว่าเลือกแล้วนักการเมืองจะให้เท่าไหร่ ในการแก้ไขปัญหาในอนาคตอยากให้มีการเลือกฝ่ายบริหารโดยตรง แล้วให้ ส.ส.ทำหน้าที่นิติบัญญัติเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าการซื้อเสียงคงไม่มีแน่นอน แต่ปัจจุบัน ส.ส.สามารถนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ทำให้มองในเรื่องผลประโยชน์ จึงต้องมีการซื้อเสียง ก็เพื่อหวังตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะหากกลุ่มของตนเองได้ 8-9 เสียงก็มีอำนาจต่อรองในเรื่องรัฐมนตรีแล้ว

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตล้านนา

กรณีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเตือน ส.ส. อาจยุบสภา หลัง ส.ส.แห่ลาออก เพื่อลงพื้นที่หาเสียง ทำให้สภาล่มบ่อย เป็นการส่งสัญญาณ อาจยุบสภาก่อนรัฐบาลครบวาระ เพราะเหลือเวลาเพียง 2 เดือนกว่าเท่านั้น ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลคือ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ขัดแย้งการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา ปชป.ไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรีของ ภท. เพราะส่งผลกระทบสังคม ชุมชน และครอบครัวโดยตรง เนื่องจากมองว่าเป็นยาเสพติด ไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์ เพื่อบำบัดรักษา ในทางการเมือง เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือ หรือดิสเครดิต ภท.ชูนโยบายกัญชาเพื่อเรียกคะแนนความนิยม และใช้หาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า

หากมีการยุบสภา ก่อนรัฐบาลครบวาระ เชื่อว่านายชวนต้องพูดคุยหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก่อน เนื่องจากเป็นฝ่ายบริหาร ก่อนทูลเกล้าฯ ยุบสภาตามลำดับ ไม่ใช่ยุบสภาได้เอง อีกทั้งตัดปัญหาเสนอร่างกัญชาเข้าสู่สภาพิจารณาอีก เพื่อลดความขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้า ปชป. ได้รับสัญญาณดังกล่าวแล้ว จึงสั่งลูกพรรคเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้งแบบเต็มตัว สะท้อนมีการยุบสภา ก่อนรัฐบาลครบวาระแน่ อาจเป็นช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าเป็นอย่างช้า หากยุบสภาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 45 วัน ภายในกุมภาพันธ์ปีหน้า

กรณีนายชวน ออกมาส่งสัญญาณการยุบสภาก่อนรัฐบาลครบวาระ เชื่อได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ไม่เช่นนั้นนายชวนคงไม่กล้าออกมาพูดเรื่องดังกล่าว สะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่ย้ายออกจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีสมัยหน้า พร้อมลงเลือกตั้งแบบเต็มร้อยแล้ว ไม่จำเป็นต้องอยู่จนครบวาระ จึงส่งสัญญาณให้ยุบสภาได้

ถ้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์จะมีท่าทีและก้าวเดินอย่างไร หาก รทสช.จับมือ พปชร.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าได้ พล.อ.ประยุทธ์อาจวางมือทางการเมือง ไม่เป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่สนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. เป็นนายกรัฐมนตรีแทน เพื่อตอบแทนบุญคุณ พร้อมรักษาฐานอำนาจ ผลประโยชน์นายทุน และเครือข่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image